ความกังวลของแม่ลูกอ่อนที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คนคงหนีไม่พ้นเรื่อง “กลัวปริมาณน้ำนมไม่พอให้ลูกทาน” แม่บางคนบอกว่าให้ลูกเข้าเต้าตลอดก็พออยู่นะ จริงอยู่ค่ะ พออยู่แต่จะไม่เหลือสต๊อกสำหรับคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน
อ่ะ…วันนี้โน้ตอยากชวนคุณแม่มามุงดูกันในเรื่องของการเพิ่มปริมาณน้ำนมที่ถูกต้องกันค่ะ แถมยังมีเหลือให้สต๊อกอีกด้วย
สารบัญ
หลักการการผลิตน้ำนม
สิ่งสำคัญในเรื่องการผลิตของน้ำนมที่คุณแม่ควรรู้คือ
ปริมาณน้ำนมที่ร่างกายผลิต = ปริมาณน้ำนมที่ลูกดูด (รวมปั๊มและบีบ) ออก
ยกตัวอย่างเพื่อให้คุณแม่เห็นภาพมากขึ้น
สมมุติว่าลูกต้องการน้ำนมแม่วันละ 20 ออนซ์/วัน
กรณีที่ 1
คุณแม่ให้ลูกเข้าเต้าทั้งวันโดยไม่ใช้ผสมเลย ร่างกายแม่ก็จะสามารถผลิตได้ 20 ออนซ์ต่อวัน เท่าที่ลูกดูดออกไป กรณีนี้จะเพียงพอสำหรับลูก แต่ไม่เพียงพอสำหรับทำสต๊อก
กรณีที่ 2
คุณแม่ให้ลูกเข้าเต้าทั้งวัน + ให้นมผสม 1 มื้อ จำนวน 2 ออนซ์ ถ้าเป็นเช่นนี้ ร่างกายของคุณแม่จะผลิตน้ำนมได้วันละ 18 ออนซ์ ซึ่งไม่พอต่อความต้องการของลูก และถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ร่างกายของคุณแม่จะผลิตน้ำนมน้อยลงเรื่อยๆ
กรณีที่ 3
คุณแม่ให้ลูกเข้าเต้าทั้งวันและปั๊มออกมาได้อีกวันละครั้ง ครั้งละ 2 ออนซ์ ถ้ากรณีนี้ร่างกายของคุณแม่จะสามารถผลิตน้ำนมออกมาได้วันละ 22 ออนซ์ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของลูกและยังเหลือพอทำสต๊อก
แนะนำเทคนิคการเพิ่มปริมาณน้ำนมที่ถูกต้อง
อย่างที่โน้ตเกริ่นไว้ตอนต้นค่ะ ว่าวันนี้จะชวนคุณแม่มามุงดูวิธีการเพิ่มปริมาณน้ำนมอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งยกตัวอย่าง เพื่อให้คุณแม่เข้าใจง่ายๆ ไปค่ะ ไปดูกันเลย
ต้องบอกว่ายิ่งคุณแม่เริ่มให้ลูกเข้าเต้าเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี โดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอด แต่ถ้าไม่ทันก็ให้เริ่มเลยตั้งแต่วันนี้ค่ะ
“ช่วงเวลาที่ร่างกายแม่จะผลิตน้ำนมได้ดีที่สุด คือ ช่วง ตี 5 – 6 โมง”
ยกตัวอย่าง
ถ้าตื่นก่อนลูก
ให้คุณแม่ปั๊มนมออกก่อน 1 ข้าง (สมมุติว่าเป็นข้างขวา) ประมาณ 15 นาที จะได้เท่าไหร่ไม่เป็นไรค่ะ เพราะช่วงแรกอาจได้น้อยอยู่ ไม่ต้องกังวลค่ะ ทำไปทุกๆ วัน น้ำนมก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปั๊มออกแล้ว เก็บไว้ เมื่อลูกตื่นก็ให้เข้าเต้าด้านซ้าย นานจนกว่าลูกจะพอใจ และถอนปากจากเต้าแม่เอง แต่ถ้าไม่หลับก็ให้ลูกมาเข้าเต้าต่อที่ด้านขวา เมื่อลูกดูดเสร็จให้กลับมาปั๊มข้างซ้ายต่ออีก 2-3 นาที เพื่อเป็นการกระตุ้น
ถ้าลูกตื่นก่อน
ให้ลูกดูดข้างหนึ่งก่อน (สมมติว่าเป็นข้างซ้าย) ให้ลูกดูดนานเท่าที่ต้องการและให้ลูกถอนปากจากเต้าเอง ให้ปั๊มนมอีกข้างหนึ่งออก (คือข้างขวา) ประมาณ 15 นาที แล้วไปปั๊มข้างซ้าย (ที่ลูกดูดตอนแรก) ต่ออีก 2-3 นาที ทั้งสองข้างจะได้น้ำนมมากเท่าไหร่ เก็บไว้ ถ้าลูกไม่หลับให้ลูกมาดูดต่อข้างขวา (ที่เราปั๊มออกตอนแรก) ซ้ำได้อีกค่ะ
คำถามคือ
“ข้างที่ปั๊มนมออกแล้วจะมีน้ำนมพอให้ลูกทานหรือ?”
แม่โน้ตเคยเขียนบทความไว้เรื่อง “น้ำนมเกลี้ยงเต้า…ไม่มีอยู่จริง” เพราะความจริงคือ ร่างกายจะมีการผลิตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในขณะเดียวกันเมื่อลูกดูดนมมาแล้วหนึ่งข้าง ความแรงของการดูดจากลูกก็จะเบาลง เพราะความหิวลดลง
วิธีอื่นๆ ในการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนม
นอกจากการให้ลูกเข้าเต้าบ่อยๆ เท่าที่ต้องการและการปั๊มออกแล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ อีก เช่น
ดื่มน้ำเปล่าสะอาดเยอะๆ
โดยเฉพาะน้ำอุ่น จะเป็นการช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
ไม่ควรใช้จุกนม หรือ ให้ลูกกินนมจากขวด
เพราะการดูดนมจากขวดจะใช้แรงน้อยกว่าการดูดจากเต้าแม่ ซึ่งจะทำให้ลูกปฏิเสธเต้า ร่างกายคุณแม่ก็จะผลิตน้ำนมได้น้อยลง และจะน้อยลงเรื่อยๆ
ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
อาจจะเน้นอาหารที่ช่วยเพิ่มน้ำนมอีกซักหน่อย เช่น ขิง หัวปลี ใบกระเพรา หรืออินทผลัม เป็นต้น
พักผ่อนให้เพียงพอ
รวมถึงต้องไม่เครียดหรือกังวลมากเกินไปนะคะ เพราะร่างกายจะผลิตน้ำนมได้น้อยลง
การเพิ่มปริมาณน้ำนมในแบบที่พอจะสต๊อกได้นั้น คุณแม่ต้องมีวินัย ทำเป็นประจำทุกๆ วัน น้ำนมคุณแม่ก็จะเพียงพอให้ลูกน้อย และเหลือพอที่จะสต๊อกอีกด้วยค่ะ