เด็กทารกหลังคลอด อาหารของเค้าจะมีอยู่อย่างเดียวคือ “นมแม่” กินเรื่อยมาจนอายุได้ 6 เดือน คุณแม่ถึงจะสามารถป้อนอาหารเสริมให้เค้าได้ ซึ่งตอนนั้นที่โน้ตก็เป็นแม่มือใหม่ คิดๆๆ และหาข้อมูลว่าถ้าลูกอายุได้ 6 เดือนแล้วเราจะป้อนอะไรให้เค้าดี อย่างแรกที่คิดได้ และเป็นสิ่งที่ถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเลยก็คือ “กล้วยน้ำว้า” เอาแต่เนื้อด้านนอกไม่เอาแกนกลาง แรกๆ ก็เอามาบดก่อน พอเค้าเริ่มมีฟันก็ค่อยให้เค้าเคี้ยว แต่คำถามคือ…
“จะมีอะไรอีกไหมน้า ที่เราจะสามารถเอามาป้อนให้ลูกได้?”
แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา วันนี้โน้ตได้เอาข้อมูลมารวบรวมไว้ที่นี่แล้วค่ะเพื่อให้คุณแม่ได้ให้อาหารเสริมลูกอย่างถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
สารบัญ
ทำความรู้จักกับเรื่องของทารก
เพราะทารกในแต่ละวัยมีความต้องการสารอาหารที่ต่างกัน ดังนั้น เด็กจึงต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิด-2 ปีแรก ร่างกาย อวัยวะต่างๆ และสมองจะเติบโตและพัฒนาได้เร็วมาก เฉลี่ยแล้วน้ำหนักจะเพิ่มมากขึ้นคิดเป็น 4 เท่าของน้ำหนักตัวช่วงแรกเกิด และมีส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นถึง 70%
“ทำไมทารกหิวบ่อย?”
นั่นเป็นเพราะว่า “กระเพาะของทารกมีขนาดเล็กกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า” ทารกแรกเกิดจะทานนมแม่อย่างเดียวไปจนถึงอายุ 6 เดือน หรือบางรายอาจทานได้นานกว่านั้น ซึ่งคุณแม่เองก็สามารถให้เค้าทานนานเท่าไหร่ก็ได้เท่าที่เค้าต้องการนะคะ (บางราย 2 ขวบยังทานอยู่เลย) โดยทานควบคู่ไปกับนมแม่ได้ตามปกติ
อาหารเสริมของเด็กแต่ละช่วงวัย
เด็กวัย 6 เดือน
อาหารของเด็กวัยนี้จะเป็นอาหารบดละเอียดหรืออาหารปั่นละเอียด
เริ่มจากข้าวสวย หรือข้าวกล้องบดหรือปั่นละเอียด และน้ำซุปผักโดยให้ลูกเริ่มทานเพียงวันละ1 ช้อนโต๊ะ(1 มื้อ) ค่อยๆ เริ่มป้อนลูกทีละนิด หากฝืดคอให้ลูกทานน้ำซุป โดยใช้ช้อนป้อน หรือจะเป็นการฝึกการดูดจากหลอดก็ได้ค่ะหลังจากนั้น ให้ลูกทานนมแม่ต่อจนอิ่ม แล้วค่อยๆ เพิ่มอาหารวันละ 1 ช้อนโต๊ะ
ที่สำคัญ หากลูกยังไม่อยากกินก็ยังไม่ต้องบังคับค่ะ ค่อยเริ่มใหม่ในวันถัดไป และ…
**การเริ่มป้อนอาหารลูก หรือจะเริ่มเมนูใหม่ให้ลูก คุณแม่ควรเริ่มป้อนมื้อเช้าหรือไม่ก็มื้อกลางวัน เพราะคุณแม่จะยังไม่รู้ว่าลูกแพ้อาหารอะไรบ้าง หากลูกมีอาการแพ้จริง พาไปพบคุณหมอตอนกลางวันยังได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นช่วงเย็นหรือกลางคืนจะลำบากกันหน่อย
แต่ถ้าหากคุณแม่รู้แล้วว่าอะไรที่ลูกไม่แพ้ สามารถเริ่มให้อาหารเสริมในมื้อเย็นได้ค่ะ ซึ่งจะเป็นการดีซะอีกนะ เพราะลูกจะได้อิ่มยาว และจะช่วยให้หลับนานขึ้นด้วยค่ะ
เด็กวัย 7 เดือน
ยังเป็นอาหารที่บดหรือปั่นอยู่ แต่เพิ่มเนื้อสัตว์
คุณแม่เริ่มเพิ่มเมนูเนื้อสัตว์ลงในอาหารเสริมลูกน้อยได้แล้วค่ะ แต่ควรเพิ่มทีละอย่าง โดยให้ลูกทานซ้ำๆ กันอย่างนี้ ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อความคุ้นชินและเพื่อรอดูด้วยค่ะว่าลูกมีอาการแพ้หรือเปล่า
เนื้อสัตว์ที่แนะนำ คือ ปลาน้ำจืด เช่น ปลาเนื้ออ่อน ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลากราย หรือจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ ตับหมู ตับไก่ และไข่แดงต้มสุ๊กกก สุก เพราะถ้ายังเป็นยางมะตูม เชื้อโรคอาจยังไม่ถูกทำลาย จะส่งผลให้ลูกท้องเสีย ถ่ายแบบมีมูกเลือดได้
ส่วนไข่ขาวและอาหารทะเล ควรเริ่มหลังจากอายุได้ 1 ขวบค่ะ
ผลไม้…คุณแม่อาจเริ่มให้เพิ่มได้ แต่ควรเป็นผลไม้ที่ไม่มีรสหวานหรือไม่หวานมาก ในปริมาณซัก 2-3 ช้อนโต๊ะ หรือซัก 1-2 ชิ้นก็พอ ผลไม้ที่ให้ลูกทานได้ เช่น แอปเปิ้ล แคนตาลูป ชมพู่ แตงไทย กล้วยน้ำว้า หรือมะม่วงสุก เป็นต้นค่ะ
เด็กวัย 8-9 เดือน
อาหารจะมีลักษณะที่หยาบขึ้น (การตุ๋น)
คุณแม่สามารถเพิ่มปริมาณอาหารและลูกก็สามารถทานอาหารที่หยาบขึ้นได้บ้างแล้ว ซึ่งใช้การตุ๋นให้นิ่ม ให้เปื่อย ให้คุณแม่สังเกตว่าลูกสามารถเคี้ยวและกลืนได้หรือไม่ หรือถ้าลูกไม่คายก็โอเค แต่ยังลูกคายออกมาหรืออมไว้ในปาก ให้คุณแม่กลับบดหรือปั่นละเอียดเหมือนเดิมก่อน แล้วอีกซัก 2 สัปดาห์ – 1 เดือน ถัดไปค่อยมาเริ่มกันใหม่
เด็กวัย 10-12 เดือน
อาหารจะหยาบขึ้นอีก (จากตุ๋นเป็นต้ม)
เหมือนเดิมค่ะ…คุณแม่ต้องสังเกตลูกด้วยว่าเค้าท้องผูกหรือไม่ หากท้องผูก คุณแม่ต้องทำอาหารให้ละเอียดขึ้นก่อนค่ะ แล้วค่อยเริ่มอาหารหยาบขึ้นในเดือนถัดไป ส่วนข้าวสวยหรือข้าวเหนียว ควรให้ทานเมื่ออายุ 1 ขวบขึ้นไป
การเริ่มให้อาหารเสริมลูก คุณแม่ต้องใจเย็นๆ นะคะ ถ้าเค้ายังไม่กินก็ไม่เป็นไร รอให้เค้าพร้อม เพราะการบังคับให้เค้ากินในวันที่เค้ายังไม่พร้อม เค้าจะเกิดความรู้สึกต่อต้านกับการกินข้าวได้ค่ะ คุณแม่จะเหนื่อยกว่าเดิม เป็นกำลังใจให้ค่ะมนุษย์แม่ทุกคน^^