“การเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนให้ความสำคัญ และพยายามที่จะปลูกฝังนิสัยดังกล่าวให้ลูก แต่…ทุกอย่างหากเราทำได้ถูกต้องถูกเวลา หรือเมื่อลูกพร้อม มันก็จะเห็นผลได้ดี แล้วที่ว่าถูกต้องถูกเวลานั้นต้องเริ่มสอนตั้งแต่เมื่อไหร่ และเริ่มสอนอย่างไร ชวนคุณพ่อคุณแม่ไปดูเทคนิคที่นำมาฝากกันในวันนี้ค่ะ
พื้นฐานพัฒนาการด้านสังคมของเด็ก
ก่อนที่เราจะเข้าเรื่องเทคนิคการปลูกฝังให้ลูกเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เรามาทำความเข้าใจพัฒนาการด้านสังคมของแต่ละช่วงวัยกันซักหน่อยก่อนนะคะ ว่าวัยไหนเป็นวัยที่เขาจะรับคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ได้
วัย 3 ขวบ
ลูกเริ่มแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาได้มากขึ้น เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้มากขึ้น รู้ว่าแบบไหนคือ เศร้า สุข หรือกลัว ช่วงนี้แหละค่ะที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง
วัย 4 ขวบ
วัยนี้เริ่มเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้มากขึ้น เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มมีการต่อรอง การแก้ปัญหาได้ด้วยคำพูด บางรายสามารถควบคุมความประพฤติของผู้อื่นได้
วัย 5 ขวบ
สามารถเล่นร่วมกับผู้อื่นได้ รู้จักการแบ่งปัน การรอคอย และปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคมได้ดี
เทคนิคการปลูกฝังลูกให้เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือ Empathy นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ลูก ๆ ควรมี เพราะไม่อย่างนั้นอาจใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างลำบากเลยทีเดียว ลองจินตนาการหากลูกของเราไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแล้ว ก็คงไม่มีใครอยากคบด้วยจริงไหมคะ
ผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบที่ดี ด้วยการเข้าใจอารมณ์ของตนเองก่อน
เมื่อใดก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองแล้ว ต้องพูดให้ลูกฟังด้วยนะคะ เช่น “วันนี้แม่เหนื่อยจัง ทำงานบ้านทั้งวันเลย” หรือ “พ่อดีใจนะลูก ที่หนูเชื่อฟังพ่อแม่ ไม่ดื้อเลย” เป็นต้น
เมื่อลูกได้ยิน ได้ฟังบ่อย ๆ ก็จะเกิดการเรียนรู้ได้ว่า ณ เวลานั้นลูกมีความรู้สึกหรืออยู่ในอารมณ์ไหน
ผู้ใหญ่ควรยอมรับความรู้สึกของเด็ก
เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะมีหลายอารมณ์ในหนึ่งวัน อาจดีใจ เศร้า เสียใจ ท้อ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ลูกกำลังท้อ หากคุณพ่อคุณแม่ให้กำลังใจ เขาจะรู้สึกว่ามีคนเข้าใจเขา รับอารมณ์ของเขาได้ เขาก็จะเรียนรู้ที่จะรับอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่นได้เช่นกัน
เด็กต้องมีพื้นฐานจิตใจที่มั่นคงและปลอดภัยมากพอ
คุณพ่อคุณแม่อาจเคยได้ยินมาว่า “เราต้องรักตัวเองมากพอ เราถึงจะรักคนอื่นได้” เรื่องความเห็นอกเห็นใจก็เช่นกันค่ะ หากลูกได้รับความรัก ความเข้าใจจากครอบครัวมากเพียงพอก็จะทำให้ลูกมีความมั่นคงทางจิตใจ มองโลกในแง่ดี และพร้อมที่จะให้สิ่งดี ๆ กับคนอื่น
ฝึกให้คิดในมุมของคนอื่น
เพื่อนเอากระติกน้ำของเพื่อนอีกคนหนึ่งไปซ่อน แล้วหาไม่เจอ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองตั้งคำถามกับลูกว่า “หากเพื่อนเอากระติกน้ำของหนูไปซ่อน หนูจะรู้สึกอย่างไร?” เป็นต้น
ให้เด็กรู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ
แต่ต้องบอกก่อนนะคะว่า เมื่อลูกทำผิดพลาดไปทั้งด้วยความที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งดุลูกเด็ดขาด เพราะจะกลายเป็นว่าคราวหน้าหากลูกทำผิดอีก ลูกจะไม่กล้ายอมรับในสิ่งที่ทำ แต่…ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็น และสอบถามถึงเหตุผลที่ลูกกระทำลงไปก่อนด้วยทีท่าที่อ่อนโยน ถ้าลูกทำผิดจริง อาจเป็นการทำโทษที่ให้ทำความดีชดเชย เช่น ให้ทำงานบ้านบางอย่างที่เขาสามารถทำได้ เป็นต้น
การปลูกฝังลูกไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ต้องอาศัยระยะเวลาค่ะ เพราะเด็กบางคนอาจเรียนรู้ได้ช้า บางคนก็เรียนรู้ได้เร็ว หากคุณพ่อคุณแม่พยายามปลูกฝังลูกก่อนวัยที่เขาจะรับได้ อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร และคุณพ่อคุณแม่จะเป็นกังวลว่าทำไมลูกเราไม่เชื่อฟังเราเลย ทำให้เครียดและเสียสุขภาพจิตเปล่า ๆ ค่ะ
อ้างอิง
เข็นครกขึ้นภูเขา
Minorsmartkids.com