เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจเคยได้ยินคำว่า “ส่าไข้” กันมาบ้างแล้ว อาการของส่าไข้จะคล้ายกับหัดมาก แต่หากคุณพ่อคุณแม่ได้ทราบถึงรายละเอียดของโรคแล้วจะรู้ได้เลยค่ะว่ามันต่างกัน
วันนี้ผู้เขียนจึงอยากหยิบยกเรื่องราวของ “ส่าไข้” กับ “หัด” มาแชร์ให้คุณแม่ได้รู้เท่าทันโรค มีทั้งสาเหตุของโรค อาการ ภาวะแทรกซ้อน ความต่างระหว่างส่าไข้กับหัด วิธีรักษา และอีกมากมายเกี่ยวกับส่าไข้ จัดไปชุดใหญ่ไฟกระพริบค่ะ
สารบัญ
ทำความรู้จักกับส่าไข้
ส่าไข้, หัดกุหลาบ, หัดดอกกุหลาบ หรือ ไข้ผื่นกุหลาบในทารก (Roseola, Roseola infantum, Exanthem subittum หรือ Sixth disease) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กช่วงอายุ 3 เดือนถึง 3 ปี แต่พบได้บ่อยสุดในเด็กอายุ 6-12 เดือน และพบได้น้อยมากเมื่อเด็กมีอายุ 3 ปีขึ้นไป ไม่พบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ร้อยละ 95 พบมากในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
สาเหตุของโรค
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Herpesvirus type 6 (HHV-6) และ Human Herpesvirus Type 7 (HHV-7) จัดอยู่ในตระกูล Roseolovirus Genus จำพวกเดียวกันกับที่ทำให้เกิดเริม (Herpesvirus) เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นไวรัส HHV-6 แต่เด็กที่มีอายุ 2-3 ปี มักจะติดเชื้อจากไวรัส HHV-7
รับเชื้อได้ทางใดบ้าง?
เชื้อชนิดนี้จะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไอหรือจามรด แล้วเราสูดละอองน้ำลายเข้าไป หรือจากการสัมผัสผู้ป่วย รวมไปถึงเชื้ออาจจะติดอยู่กับข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย หรือสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากคนปกติได้สัมผัสถูกมือผู้ป่วย ข้าวของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วใช้มือขยี้ตาหรือแคะจมูก เราก็รับเชื้อแล้วค่ะ
ระยะฟักตัว
ตั้งแต่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการภายใน 5-15 วัน
ระยะติดต่อ
ตั้งแต่ 2 วันก่อนมีไข้ จนกระทั่งถึง 2 วัน หลังไข้ลด
อาการของโรค
- ในระยะก่อนผื่นขึ้น เด็กจะมีไข้สูงประมาณ 39.5 – 40.5 องศาเซลเซียส อย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เด็กจะยังร่าเริง ดื่มน้ำ ดื่มนม ทานอาหารได้ดีเป็นปกติ แต่เด็กบางคนอาจงอแง หงุดหงิดทานได้น้อย คุณแม่ใจเย็นๆ นะคะ ในบางรายอาจพบอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกใส หรือท้องเดินเล็กน้อย
อาการไข้ปกติจะอยู่ที่ 1-3 วัน (อย่างมากไม่เกิน 5 วัน) - อาจตรวจพบน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู ท้ายทอย หนังตาบวมเล็กน้อย และเยื่อบุตาแดง
- ระยะที่ไข้ลดแล้ว จะมีผื่นแดงราบสีแดงขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ที่ลำตัวและแขน ผื่นบางจุดอาจนูนเล็กน้อย หรืออาจมีวงสีแดงจางๆ อยู่รอบๆ ผื่นแดง โดยผื่นจะมีอยู่ไม่กี่ชั่วโมงถึง 3 วันแล้วจะจางหายไป เด็กก็จะหายเป็นปกติค่ะ
ภาวะแทรกซ้อน
- เด็กอาจเกิดอาการชักจากไข้ประมาณ 2-3 นาที พบประมาณร้อยละ 6-15 ของผู้ป่วยส่าไข้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุ 12-15 เดือน
- อาจมีสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับอักเสบ หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งพบได้น้อยมาก
- สำหรับเด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ไขกระดูกไม่ทำงาน เป็นต้น
ความต่างระหว่าง “ส่าไข้” กับ “หัด”
หัด | ส่าไข้ | |
---|---|---|
อายุที่พบ | พบในเด็กอายุ 2-14 ปี | พบในเด็กอายุต่ำกว่า 8 เดือน |
อาการ | มีไข้สูง ซึม หน้าตาแดง มีอาการหวัด ไอ และน้ำมูกไหล | ไม่มีอาการหวัด ไอ หรือน้ำมูกไหล |
วันที่ 4 ของไข้ มีผื่นขึ้นตามตัว ขณะที่ผื่นขึ้น จะมีไข้สูงไปอีก 3-4 วัน | ผื่นจะขึ้นหลังไข้ลดดีแล้ว | |
ผื่นจะค่อยๆ จาง เป็นรอยแต้มสีน้ำตาล | ผื่นจางหายทันที |
วิธีการรักษา
- ดูแลลูกน้อยระวังอย่าให้ไข้ขึ้นสูงมาก เพราะลูกอาจชักได้ คุณสามารถ…
- ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดตัว โดยเช็ดย้อนรอยรูขุมขน ไม่ใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าหนา
- ถ้ามีไข้ ให้รับประทานยาพาราเซตามอล ร่วมกับการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว
- หากพบว่าเด็กเคยมีประวัติชักหรือมีพี่น้องเคยชักมาก่อน คุณหมอจะให้ยากันชักร่วมกับยาลดไข้ เช่น ฟีโนบาร์บีทาล (Phenobarbital), โซเดียมวาลโพรเอต (Sodium Valproate) เป็นต้น
- ดื่มน้ำให้มากๆ ทีละน้อยๆ จะเป็นนม น้ำ หรือน้ำหวานก็ได้ จะลดลดความร้อนในร่างกายค่ะ
- ถ้าลูกน้อยงอแง คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ อุ้มเค้า และตบหลังเบาๆ เพื่อปลอบโยน
- หากมีอาการชัก ควรรีบไปหาคุณหมอนะคะ ซึ่งคุณหมอบางท่านอาจขอเจาะหลัง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ชักเพราะโรคอื่น เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่อาการชักจะชักไม่กี่นาที และครั้งเดียวในชีวิต (อาจมี 2 ครั้งในบางราย) แต่เมื่ออายุเกิน 5 ปีไปแล้ว มักจะไม่มีอาการชักอีก ซึ่งวิธีดูแลลูกเบื้องต้นมีดังนี้ค่ะ
- ให้ลูกนอนบนพื้นโล่งและปลอดภัย จับลูกนอนตะแคง เชยคางขึ้นเล็กน้อย
- ปลดเสื้อผ้าให้หลวม แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็คตัวเพื่อลดไข้
- อย่ามัดตัวลูกหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของลูก
- อย่าใช้ปากกา ดินสอ ด้ามช้อน สอดเข้าปากลูกเพราะอาจทำให้ฟันหักหรือปากเจ็บได้
- ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส
การป้องกัน
โรคนี้ยังไม่มัวัคซีนป้องกัน แต่หากมีคนในบ้านเป็นโรคนี้ คุณแม่ควรจะ…
- แยกผู้ป่วยออกจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ (2 วันก่อนมีไข้ ถึง 2 วันหลังไข้ลด)
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ จัดชุดใหญ่ไฟกระพริบเลยกับส่าไข้และหัด เพราะผู้เขียนอยากให้คุณแม่ได้ดูแลลูกน้อยได้ถูกวิธี อย่าลืมนะคะ หากลูกชักไม่ว่าจะกี่นาทีก็ตาม ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที และให้คุณแม่จับเวลาที่ลูกชักเพื่อจะได้แจ้งให้แพทย์ทราบต่อไป ท่องไว้นะคะคุณแม่…สติ สติ สติ