เมื่อวันลาคลอดใกล้หมดลง คุณแม่ต้องเตรียมตัวกลับไปทำงาน แต่ลูกน้อยยังต้องกินนมแม่อยู่ วิธีเดียวที่ทำได้ก็คือ การปั๊มนมแล้วสต๊อกแช่แข็งไว้ในตู้เย็น เอาล่ะสิ! งานนี้ต้องสต๊อกยังไง เก็บยังไง ตู้เย็นก็มีพื้นจำกัด และอีกหลาย ๆ คำถามมากมาย คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ วันนี้แม่โน้ตมีเทคนิคการสต๊อกนมที่ดีและถูกวิธีจากสมาชิกจาก คุณแม่น้องภภึม หนึ่งในสมาชิกพันทิปมาฝากค่ะ
สารบัญ
การทำสต๊อกให้เป็นระเบียบ
เริ่มแรกคุณแม่จะสต็อกนม 40 ถุงแรก โดยจะเก็บถุงละ 4 Oz. แต่เมื่อคุณแม่มาคิดอีกทีว่ากว่าจะได้ใช้นมสต็อกระหว่างวันลูกน่าจะกินประมาณ 12 Oz. จึงเปลี่ยนมาเป็นเริ่มเก็บถุงละ 6 Oz. เท่ากันทุกถุงแทน และที่สำคัญ เป็นการประหยัดถุงเก็บนมแม่ด้วยค่ะ
ข้อดีของการเก็บนมในปริมาณที่เท่ากันคือ
สต๊อกที่จัดจะเป็นระเบียบเพราะมีฐานที่เท่ากัน ซึ่งสต๊อกนมในตู้แช่ช่วงแรกที่เก็บ หากเลือกใช้ถุงนมหลากหลายยี่ห้อ จะทำให้ความสูงของถุงนมแต่ละแพ็คไม่เท่ากัน เวลาเอานมถุงเล็กมาแช่ก็จะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมาก ๆ และทำให้แถวถุงแพ็คใหญ่ล้มง่าย ดังนั้น การเลือกใช้ถุงนมเพียงยี่ห้อเดียวจะทำให้การจัดเก็บนั้นง่าย และเป็นระเบียบ ไม่ล้มได้มากกว่า
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการสต๊อกนมแม่
- ถุงเก็บน้ำนม ซึ่งมีให้คุณแม่ได้เลือกหลายยี่ห้อ เช่น Boots Natur ทานตะวัน ฯลฯ ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันไปทั้งในเรื่องของราคาและคุณภาพ
- ขวดเก็บน้ำนมที่มีขีดบอกปริมาตร
- ปากกาสำหรับเขียนบนถุงนม (ใช้ปากกาที่เขียนซีดีก็ได้ค่ะ)
- ตะกร้าสำหรับวางถุงเก็บนมก่อนจะบรรจุลงถุงใหญ่
วิธีจัดเก็บสต๊อกน้ำนม
- คุณแม่สามารถเก็บนมที่ปั๊มหลาย ๆ ครั้งรวมกันได้ แต่ไม่ควรเกิน 24 ชม.
สมมติ…
คุณแม่ปั๊มครั้งที่ 1 ได้ 8 Oz. ก็ให้เก็บใส่ถุง 6 Oz. นำไปแช่แข็ง ส่วนที่เหลืออีก 2 Oz. เก็บใส่ขวดนมแล้วแช่เย็นไว้ - ครั้งที่ 2 ปั๊มได้ 7 Oz. เอา 2 Oz. นั้นมารวมด้วย ก็เป็น 9 Oz. โดยให้นำ 2 Oz. (ครั้งที่แล้ว) + 4 Oz. (ครั้งนี้) เก็บใส่ตู้แช่แข็ง ส่วนอีก 3 Oz. ที่เหลือให้เก็บใส่ขวดแก้วแช่เย็น
ให้ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นนมในขวดแก้วจะอยู่ในตู้เย็นช่องธรรมดาไม่ถึง 24 ชม.
เคล็ดลับการเทนมใส่ถุง
- ขณะที่เก็บนม ให้เทน้ำนมลงไปในถุงแล้ววางถุงราบกับพื้นโต๊ะ โดยยกปากถุงขึ้น ค่อย ๆ ใช้นิ้วไล่อากาศออก จากนั้นปิดปากถุงให้สนิท และนำไปใส่ตู้แช่โดยวางนอนราบเหมือนกัน
- เพื่อให้น้ำนมกระจายลงไปถึงก้นถุง ให้ใช้นิ้วค่อย ๆ รีดที่ก้นถุงค่ะ
วิธีจัดเรียงสต๊อกน้ำนม
- หาตะกร้ามา 1 ใบ สำหรับใส่นมถุงเล็กที่ปั๊มไว้ เมื่อเก็บครบ 10 ถุงเล็กก็ค่อยเก็บใส่ถุงใหญ่ 1 ถุง
- เขียนวันที่ปั๊ม วันที่บรรจุใส่ถุง พร้อมกับจำนวนถุง เพื่อจะได้ทราบว่าน้ำนมในถุงนั้น ๆ ถูกปั๊มเก็บไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เหมือนระบบ Fi-Fo นั่นเองค่ะ (First In – First Out)
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแพ็คสต๊อกนม
- ถุงเย็นขนาด 12 x 18 นิ้ว เพื่อนำมาใช้ในการห่อถุงน้ำนม (หากซื้อในปริมาณมากเช่นนี้ แนะนำที่ Makro ค่ะ มีจำหน่ายเป็นแพ็ค แพ็คละ 1 กิโลกรัม)
- สก๊อตเทป
- กระดาษสำหรับเขียนเลขที่บนถุง
- ปากกาสำหรับเขียนเลขที่บนถุง
ขั้นตอนและวิธีการแพ็คสต๊อกนม
มีขั้นตอนและภาพประกอบ ดังนี้
- นำถุงใหญ่ที่เตรียมไว้ มาพับก้นให้เป็นสัน โดยพับก้นถุงให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
- พับปลายทั้งสองข้างขึ้น โดยใช้การกะเอาหรือไม่ก็สามารถนำถุงเก็บน้ำนมเล็กมาวัดดูก็ได้ค่ะ
- เมื่อพับเสร็จแล้วก็ยกขึ้นดู ก็จะเห็นรอยพับที่ก้นถุง พอดีกับขนาดของถุงเก็บน้ำนมถุงเล็กแล้ว
- จัดเรียงถุงนมเล็กลงไป 10 ถุง จริง ๆ เก็บได้มากกว่า 10 ถุงค่ะ แต่อาจจะดูแน่นไปซักนิด
- พับปากถุงลงไปที่ด้านใดด้านหนึ่ง
- ติดสก๊อตเทปตามด้านกว้าง
- และติดสก๊อตเทปด้านล่าง
- ตั้งถุงขึ้น จับปลายถุงที่เหลือให้เป็นรูปสามเหลี่ยม
- พับปลายสามเหลี่ยมลง ติดสก๊อตเทป เท่านี้ก็เรียบร้อยค่ะ
*ถุงใหญ่จะสามารถตั้งได้เอง โดยที่ไม่ต้องใส่ลงในตะกร้าหรือในกล่องซ้ำอีก - จัดเก็บในตู้แช่ได้เลย
ข้อควรรู้ก่อนการจัดสต๊อกน้ำนม
- หากครอบครัวไหนมีตู้เย็นที่เป็นแบบประตูเดี่ยว ควรเก็บน้ำนมไว้ไม่เกิน 1 เดือน และตู้เย็นที่เป็นแบบ 2 ประตู จะสามารถเก็บน้ำนมได้ไม่เกิน 2 – 3 เดือน
- ไม่ควรเปิดตู้เย็นในช่องที่เก็บสต๊อกน้ำนมบ่อย ๆ เพราะจะส่งผลให้ความเย็นในช่องแช่เย็นนั้นไม่คงที่ น้ำนมจะเสียเร็วขึ้น
- เพื่อให้น้ำนมมีคุณภาพดี เก็บได้นาน ไม่เสียง่าย ไม่ควรนำน้ำนมสต๊อกไปแช่รวมกับอาหารแช่แข็งอื่น ๆ เพื่อเป็นการป้องกันกลิ่นอาหารไปรบกวนน้ำนม
การสต๊อกนมไม่ใช่เรื่องยากค่ะ หากคุณแม่ได้ทำทุก ๆ วัน วันละหลาย ๆ ครั้ง ก็จะเริ่มคุ้นชินไปเองอัตโนมัติค่ะ คุณแม่มือใหม่สู้ ๆ ค่ะ
ขอบคุณ ข้อมูล และ รูปภาพ : คุณแม่น้องภภึม