ลูกกินยาก ปัญหาสำหรับคุณแม่ที่ลูกน้อยเริ่มเลือกกิน จะกินชิ้นนี้ ไม่กินชิ้นนั้น ใช้วิธีหลอกล่อให้ลูกน้อยกินสารพัดวิธี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ผล อย่างนั้นคุณแม่ลองดูว่าตอนนี้ลูกน้อยอายุเท่าไร แล้วลองเปลี่ยนมาสร้างสรรค์เมนูอาหารให้น่าดึงดูดสายตา และเมนูเดิมๆ อาจเป็นสาเหตุให้ลูกน้อยเกิดความเบื่อหรือไม่อยากกินก็ได้
เคล็ดลับเมนูอาหารสำหรับลูกน้อย คือ ทำอาหารที่มีสีสันหลากหลาย เช่น สีส้มจากแครอท สีแดงจากมะเขือเทศ สีเขียวจากบรอกโคลี สีเหลืองจากข้าวโพด หั่นชิ้นพอดีคำ ตัดแต่งให้เป็นรูปดาว หัวใจ ดอกไม้ หรือหาแม่พิมพ์รูปตัวการ์ตูนที่ลูกน้อยชอบ เพื่อตกแต่งบนจานอาหารให้น่าสนใจ แต่ก็ไม่ควรลืมปรับเปลี่ยนวิธีปรุงอาหารทั้ง ผัด ต้ม นึ่ง ตุ๋น ไม่ให้ซ้ำกันในแต่ละมื้อ
หากคิดถึงวัตถุดิบอาหาร เมนูง่ายๆ คือ
- ไข่ไก่ ไข่ 1 ฟอง ทำได้หลากหลายเมนู เช่น ไข่ตุ๋น ที่ดัดแปลงได้ทั้ง เต้าหู้ไข่ตุ๋น ไข่ตุ๋นกุ้งสับ ไข่พะโล้ ไข่ดาว ไข่เจียว เป็นต้น
- เมนูปลา เช่น ปลานิลชุบแป้งทอด ปลาแซลมอนนึ่งซีอิ๊ว ปลานึ่งมะนาว
- เมนูประเภทผัด เช่น ปูอัดผัดซอสมะเขือเทศ ผัดผักรวมมิตร ผัดข้าว ที่เลือกส่วนผสมได้มากมาย
- เมนูอื่นๆ ที่น่าสนใจอย่าง ไก่นึ่งน้ำปลา ข้าวตุ๋นตับหมู ราดหน้า ข้าวโอ๊ตรวมมิตร สปาเกตตี้ เป็นต้น
- ของว่าง ขนมหวานถ้วยเล็ก เช่น กล้วยคอร์นเฟล็ก เค้กมะพร้าว ไอศกรีมแท่งผลไม้โฮมเมด ท้องม้วน เป็นต้น
เมนูที่น่าสนใจที่ดูน่าสนใจ มีสีสัน กินง่ายอย่างเกี๊ยวน้ำ เผื่อมื้อนี้ลูกที่แสนจะกินข้าวยาก เกิดดื้อขึ้นมาเสียก่อน คุณแม่ลองทำเกี๊ยวน้ำให้ลูกน้อยอย่างง่ายๆ และยังคงครบสารอาหารหลักด้วย เพียงแค่เลือกหาแผ่นเกี๊ยวที่บางสีเหลืองอ่อน เนื้อหมูบดละเอียดและต้องนุ่ม ผัดที่ใส่เพิ่มสีสันต้องต้มให้เปื่อย
วิธีทำ
- ผสมหมูสับกับเกลือ รากผักชี และกระเทียมเข้าด้วยกัน (หรือกุ้งสับผสมในหมู)
- ใส่หมูลงกลางแผ่นเกี๊ยว ห่อแผ่นเกี๊ยวทแยงเป็นสามเหลี่ยม ทาขอบแผ่นเกี๊ยวด้วยน้ำ บีบให้ติดกัน
- ตั้งน้ำให้เดือด ใส่ตัวเกี๊ยวลวกให้สุกโดยทั่ว
- เตรียมน้ำซุป โดยใส่น้ำซุปไก่ลงในหม้อ ปรุงรสด้วยซอสปรุงรส ใส่แครอท หรือผักอื่นๆ
- ตักเกี๊ยวที่ลวกใส่ชาม ตักน้ำซุป และจัดวางผักให้สวยงาม
ผัก เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของทุกวัยในครอบครัว เพราะให้สารอาหารครบถ้วนทั้งวิตามินและแร่ธาตุ ช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง มีคุณสมบัติป้องกันโรค แต่คุณแม่หลายครอบครัวก็ประสบปัญหาลูกน้อย ไม่ชอบกินผัก ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและระบบขับถ่ายของลูก ลองทำวิธีนี้ลูกน้อยก็จะทานผักได้ง่ายขึ้น
ฝึกโดยการทำอาหารอ่อนๆ
ช่วงวัยที่เริ่มกินอาหารอ่อนๆ นอกจากนมแม่ แม่สามารถฝึกให้ลูกทานผัก เพราะหากเด็กได้ลองทานผักเป็นอาหารแรกเริ่มนอกจากนมแม่แล้ว เด็กก็จะไม่รู้สึกว่าผักมีรสประหลาด หรือมีกลิ่นเหม็น แต่กลับรู้สึกเอร็ดอร่อยและเพลิดเพลินกับการกินผัก ซึ่งผักที่เหมาะนำมาทำซุปผักให้ลูก ต้องเป็นผักที่มีรสหวาน มีสีสัน มีเสี้ยนผักน้อย และไม่มีกลิ่นฉุน เช่น บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ แครอท ฟักทอง แตงกวา ฟักทอง ผักบุ้ง ผักกาดขาว ใบตำลึง เป็นต้น
ยกตัวอย่าง เมนูผักบด
มันฝรั่ง + ฟักทอง (แครอท) + ไข่แดง + นมแม่
นำผักมาปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นนำไปต้มจนสุกและใช้ช้อนบดให้ละเอียด นำไปใส่หม้อตั้งไฟอ่อนๆ เติมน้ำต้มสุกเล็กน้อย พร้อมใส่ไข่แดง และนมแม่ คนให้เป็นเนื้อละเอียด สุกแล้วยกออกรอจนหายร้อนก็พร้อมให้ลูกน้อยได้กิน
ปรุงอาหารรสชาติใหม่
รสชาติก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ลูกชอบกินผักได้ โดยเฉพาะลูกน้อยที่เริ่มเคี้ยวอาหารได้เก่งขึ้น แต่ลูกกลับดื้อผักขึ้นมา คุณแม่ลองทำเมนูอาหารให้ดูแปลกตา เช่น หั่นผักชิ้นเล็กๆ ผสมกับข้าวผัด ใส่ไข่เจียว ผักชุบแป้งทอด หรือถ้าคุ้นชินกับผักแล้วลองเปลี่ยนเป็น สลัดผักสด ผักต้ม ที่สำคัญควรคำนึงถึงเรื่องคุณค่าทางสารอาหารที่มีในผักนั้นด้วย
ยกตัวอย่าง เมนูผักชุบแป้งทอด
- นำผักที่ต้องการ เช่น แครอท ข้าวโพดอ่อน ถั่วฝักยาว หอมใหญ่ เห็ดชนิดต่างๆ ปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด หั่นให้พอดีคำ
- ผสมแป้งชุบทอด (แป้งโกกิ) น้ำเปล่า ไข่ไก่เข้าด้วยกัน คนส่วนผสมทั้งหมด
- ตั้งกระทะใส่น้ำมันทอด ใส่น้ำมันสำหรับทอดลงไป นำผักที่ต้องการทอดคลุกกับแป้ง พอน้ำมันร้อน ใส่ผักที่ชุบแป้งลงไปทอด จนเหลืองกรอบ นำขึ้นสะเด็ดน้ำมัน
- จัดใส่จาน พร้อมน้ำจิ้ม ซอสมะเขือเทศ หรือผงชีส
สุดท้าย ลูกน้อยจะกินหรือไม่กินนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องใช่เวลาและพยายาม ไม่คิดว่าลูกไม่กินก็ถอดใจจนละเลยที่จะฝึกลูกน้อย จนกระทั่งมารู้ที่หลังว่าลูกไม่กินจนขาดสารอาหารนั้นไปเสียแล้ว การดึงดูดความสนใจที่จะให้ลูกน้อยคล้อยตามและกินอาหารมีหลายทาง และคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลความกินยากของลูกน้อยอีกต่อไป