ในสังคมที่ความเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันกันสูงมากกว่าแต่ก่อน (เมื่อก่อนก็ว่าสูงแล้วนะ) เด็กรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงเช่นกัน เริ่มตั้งแต่การติวหนังสือเพื่อสอบเข้าโรงเรียนอนุบาลที่มีชื่อเสียง ต้องเรียนให้ได้เกรดดี ๆ เพื่อที่จะได้มีงานทำดี ๆ เงินเดือนดี ๆ สังคมดี ๆ และคอนเนคชันดี ๆ ความคิดและสภาพแวดล้อมเหล่านี้จึงเป็นการหล่อหลอมให้เด็กที่เกิดในยุคนี้กลายเป็นเด็กที่ “แพ้ไม่เป็น” ไปโดยปริยาย และเมื่อเกิดความผิดหวังจึงรับไม่ได้ บางรายถึงกับฆ่าตัวตายเลยก็มี
สารบัญ
สอนลูกให้รู้จักคำว่าแพ้อย่างสร้างสรรค์
ประการสำคัญในการที่จะทำให้ลูกห่างไกลจากคำว่า “แพ้ไม่เป็น” นั้นอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก ลูก ๆ มักเลียนแบบพฤติกรรมและซึมซับความคิดของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่แสดงให้ลูกรู้ว่าการพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ของชีวิตแล้ว คำพูดคำสอนก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ไม่กดดันลูก ไม่คาดหวังมากเกินไป
“เพราะอะไรคุณพ่อคุณแม่ถึงอยากให้ลูกสำเร็จ?” ส่วนหนึ่งลึก ๆ มาจากความที่ว่าถ้าลูกสำเร็จนั่นก็จะเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จของคุณพ่อคุณแม่ในการเลี้ยงลูกด้วย สิ่งนี้จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่เผลอคาดหวังในตัวลูกมาก จนส่งออร่าและคำพูดแห่งความกดดันให้ลูก จนลูกเกิดความเครียดในที่สุด
ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน
เมื่อลูกต้องเผชิญกับความผิดหวัง คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่หลุดสีหน้าหรืออาการผิดหวังเด็ดขาด ขณะเดียวกันก็ไม่ควรแสดงอาการดีใจมากจนออกนอกหน้าเมื่อลูกชนะ เพียงแต่พูดชื่นชมลูกว่า “แม่/พ่อ ภูมิใจในตัวหนูนะลูก” ก็พอ
เข้าใจและยอมรับความรู้สึกของลูก
ใจเขาใจเรา ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความรู้สึกลูกว่าลูกกำลังผิดหวัง และเสียใจอยู่ แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ ให้กำลังใจลูก โดยบอกลูกว่า “ไม่เป็นไร เราเริ่มใหม่ได้” กลับกันหากคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจลูก แถมดุด่าลูก อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ขี้หงุดหงิด เอาแต่ใจ และโวยวาย สุดท้ายก็กลับมาสู่โรคแพ้ไม่เป็นเช่นเดิม
บอกลูกว่าจะแพ้หรือชนะ พ่อแม่ก็รักลูกเหมือนเดิม
เพราะพื้นฐานของความเป็นลูกต้องการให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ เป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น เมื่อลูกต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้มา ให้คุณพ่อคุณแม่บอกลูกอย่างนี้ค่ะว่า “ถึงวันนี้หนูจะแพ้ก็ไม่เป็นไรนะคะ ยังไงแม่ก็ยังรักหนูเหมือนเดิม” แบบนี้ลูกจะสบายใจขึ้นและรู้สึกว่ายังไงคุณพ่อคุณแม่ก็ยังรักเขาอยู่
สอนลูกให้รู้จักอารมณ์ของตัวเอง
เมื่อลูกพ่ายแพ้มา แล้วโวยวาย ร้องไห้ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ เข้าไปพูดคุยกับลูกด้วยท่าทางและน้ำเสียงที่อ่อนโยน โดยบอกกับลูกว่าตอนนี้หนูกำลังรู้สึกเสียใจที่แพ้ หนูผิดหวัง ถ้าร้องไห้แล้วทำให้รู้สึกดีขึ้นก็ร้องออกมาให้หมด หลังจากนั้นเรามาเริ่มกันใหม่ อย่างน้อยลูกก็จะได้รู้จักอารมณ์ของตัวเอง (เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ในอนาคตค่ะ)
สอนลูกให้เรียนรู้จากความพ่ายแพ้
“ความพ่ายแพ้สอนอะไรเราได้หลายอย่าง” คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้มองในมุมบวกว่า คราวนี้ลูกอาจแพ้ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าจุดไหนที่เราพลาดไป เราต่างจากผู้ชนะตรงไหน วิธีคิดหรือวิธปฏิบัติ แล้วพัฒนาจุดนั้นขึ้นมา
สอนให้ลูกชื่นชมคนอื่น
“น้ำใจนักกีฬา” การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้ภัย เป็นสิ่งที่ลูกควรเรียนรู้ การสอนให้ลูกชื่นชมคนอื่นที่ชนะ เป็นการบ่งบอกว่าลูกยอมรับในความสามารถของผู้อื่น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นผ่านการมองเห็นความดีของผู้อื่นนั่นเอง
อ่านหนังสือนิทานที่เปรียบเทียบให้ลูกฟัง
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ผ่านตัวการ์ตูนในหนังสือนิทาน เพราะนิทานเป็นอะไรที่เข้าถึงจิตใจเด็กได้ง่าย
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นสูง แต่มีความต้านทานต่อความพ่ายแพ้ต่ำ อาจจะอยู่ยากในโลกที่ (เกือบ) ทุกอย่างจะอยู่ในระบบดิจิทัล คนที่มีความเข้มแข็งของจิตใจสูงเท่านั้นที่จะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข