การจะมีลูกสักคนที่แข็งแรงสมบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มตั้งแต่สุขภาพของทั้งว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ รวมถึงเมื่อตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่ก็ควรที่จะมีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด แพทย์จะช่วยดูแลและประเมินสุขภาพทั้งคุณแม่และลูกในระหว่างการตั้งครรภ์เป็นอย่างดี ตลอดจนถึงเรื่องของการคลอด โดยที่หากเกิดปัญหาขึ้นในระยะตั้งครรภ์ แพทย์จะได้ให้การรักษาได้อย่างทันท่วงทีและถูกต้อง ซึ่งเรื่องของการท้องนอกมดลูกก็เช่นกัน
สารบัญ
ท้องนอกมดลูก คืออะไร?
การท้องนอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ตัวอ่อนไม่ได้มีการฝังตัวอยู่ภายในโพรงมดลูกแต่กลับไปฝังตัวอยู่นอกโพรงมดลูกแทน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผิดปกติ และเมื่อตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตมากขึ้น อวัยวะในส่วนที่ตัวอ่อนไปฝังตัวนั้นไม่สามารถขยายตัวได้มาก จึงไม่สามารถรองรับกับขนาดของทารกได้ ส่วนมากจะพบในท่อนำไข่ อาการผิดปกตินี้มักเกิดขึ้นหลังจากการตั้งครรภ์แล้วประมาณ 7 สัปดาห์
ปกติแล้วรังไข่จะผลิตไข่ และปล่อยให้ไข่เดินทางผ่านท่อนำไข่ แล้วจึงค่อยไปปฏิสนธิกับอสุจิ จากนั้นก็จะเคลื่อนตัวมาสู่มดลูก แต่ในกรณีท้องนอกมดลูก คือ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิไม่เดินทางมาที่มดลูก
อาการท้องนอกมดลูก
มีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- ปวดท้องเฉียบพลัน
- มีเลือดออกที่อวัยวะเพศ
- เวียนศีรษะ
- ความดันโลหิตต่ำ
ท้องนอกมดลูก สัญญาณเตือน
- ปวดท้องมาก
- ประจำเดือนขาด
- เลือดออกทางช่องคลอด
ทั้งนี้ ภาวะท้องนอกมดลูกในระยะแรก อาจจะยังตรวจไม่พบอาการใด ๆ การตั้งครรภ์ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือ อาการเจ็บที่ท้องน้อย ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง โดยมีลักษณะการปวดที่บีบรัดเป็นช่วง ๆ อาจเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง บางรายอาจปวดแล้วหายไป บางรายอาจปวดตลอดเวลา
ในกรณีที่มีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลให้กระบังลมเกิดการระคายเคือง ส่งผลให้มีการปวดร้าวไปถึงหัวไหล่ คุณแม่ที่ท้องนอกมดลูกส่วนใหญ่ไปพบแพทย์ด้วยอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ซึ่งหมายถึงระยะที่ท่อนำไข่แตกแล้ว
ท้องนอกมดลูกพบบ่อยแค่ไหน?
การท้องนอกมดลูกพบได้ไม่บ่อย โดยคิดเป็นร้อยละ 1 โดยสาเหตุหลัก ๆ ของการท้องนอกมดลูกก็คือ ท่อรังไข่เกิดการติดเชื้อ ดังนั้น ครอบครัวไหนที่วางแผนว่าอยากจะมีลูก แต่กำลังเป็นโรคติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะหรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ ควรรักษาตัวให้หายดีก่อนนะคะ
วิธีการรักษาท้องนอกมดลูก
การรักษามีอยู่ 2 แบบด้วยกัน
- ใช้ยาเคมีบำบัด
- ใช้การผ่าตัด
หากอาการท้องนอกมดลูกไม่รุนแรงและอายุครรภ์ยังไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัด เพราะฉะนั้นให้คุณแม่ที่เพิ่งรู้ว่าตั้งครรภ์ควรหมั่นสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และถ้าหากมีอาการอะไรที่ผิดปกติหรือกำลังสงสัยว่าจะท้องนอกมดลูก ควรปรึกษาแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยให้อวัยวะภายในมีการฉีกขาด เพราะอาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
การดูแลตัวเองหลังการรักษาอาการท้องนอกมดลูก
หลังจากที่คุณแม่ได้เข้ารับการรักษาอาการท้องนอกมดลูกแล้ว ควรนอนพักรักษาตัว เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจสักระยะหนึ่งก่อน เนื่องจากเพิ่งเผชิญกับความผิดหวัง และการต้องสูญเสียลูกในเวลาเดียวกัน เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ คุณแม่ไม่ควรโทษตัวเองหรือตอกย้ำให้ตัวเองต้องเจ็บปวดกับเรื่องนี้ คุณแม่ยังสามารถมีลูกได้ตามปกติเหมือนคนอื่นทั่วไปค่ะ เพียงแต่ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำโดยเฉพาะในเรื่องการเตรียมตัว เตรียมร่างกายในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป คุณแม่ควรทิ้งช่วงห่างสักระยะหนึ่งก่อนที่จะพยายามมีลูกน้อยอีกครั้ง โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำว่าควรรอสัก 3-6 เดือน
หากเคยท้องนอกมดลูกแล้ว จะมีลูกตามปกติได้ไหม?
หากคุณแม่เคยมีประสบการณ์ในการท้องนอกมดลูกมาก่อน ก็ยังสามารถมีลูกที่แข็งแรงเหมือนปกติ และเหมือนคนอื่นทั่วไปได้ค่ะ แม้ว่าจะเหลือท่อนำไข่ข้างเดียวก็ตาม หากสาเหตุที่ทำให้ท้องนอกมดลูกนั้นเกิดจากความเจ็บป่วย หรือการติดเชื้อ แพทย์ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ค่ะ
การท้องนอกมดลูกเป็นเคสที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรหมั่นสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอนะคะ รู้เร็ว รักษาได้ไว อันตรายต่อชีวิตก็น้อยลงค่ะ แต่ไม่ต้องถึงขั้นเครียดนะคะ เดี๋ยวจะส่งผลต่อลูกน้อยในท้องได้
ข้อมูลอ้างอิง paolohospital.com , phyathai.com