เพราะเรื่องของ “ความรัก” ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ บางคนบอกว่ารักคนนี้ตั้งแต่แรกพบ บางคนมารักกันได้เพราะเริ่มจากความเป็นเพื่อนมาก่อน บางคนเห็นคนโน้นหล่อ คนนี้สวยแล้วถูกใจก็เข้าไปทำความรู้จักกัน
แรกๆ ขณะที่ต่างคนต่างคบกัน ศึกษานิสัยใจคอกันก็จะเห็นทุกอย่างดีไปหมด เห็นตรงกันทุกอย่าง จนวันที่ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน สร้างครอบครัว มีลูก เวลาผ่านไปซักระยะแต่ละคนเริ่มคุ้นเคยกัน เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มุมมองและความคิดก็เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มระหองระแหง เริ่มทะเลาะแต่ก็ง้อ นานๆ ไป ไม่ง้อแล้ว ที่นี้เรื่องยิ่งบานปลาย สุดท้าย…ต้องเลิกกัน แล้วลูกล่ะ!
ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน ลูกจะได้รู้ ได้เห็น ได้ยินทุกอย่าง เป็นช่วงเวลาที่ทรมานมากสำหรับเค้า เค้าจะต้องทนเห็นแบบนี้บ่อยๆ เมื่อนานๆ เข้า ลูกจะโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุให้คุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน กลับกลายเป็นผลเสียตกอยู่ที่ลูก
ซึ่งลูกต้องเผชิญกับเรื่องต่อไปนี้…
สารบัญ
ความตึงเครียดเรื้อรัง
ทุกครั้งเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกัน เด็กจะซึมซับเอาอารมณ์ของทั้งพ่อแม่มาไว้ที่ตัวเอง จนจมอยู่ในใต้จิตสำนึก ซึ่งเด็กจะต้องแบกความตึงเครียดนี้ไปจนโต ไม่มีวันจางหายไปได้ง่ายๆ นำไปสู่ปัญหาทางจิตเวชที่สำคัญคือ ภาวะอิดโรยเรื้อรังและอารมณ์เศร้า
ตัวตนที่ไม่มั่นคง
หากคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกันทุกวันจะส่งผลให้ความมั่นคงทางด้านใจลูกเสียหาย และแตกเป็นเสี่ยงๆ ดำเนินชีวิตกับตัวตนที่แยกเป็นสอง เช่น เมื่อโตขึ้นเค้าจะโหยหาความรักแต่ก็จะทำลายความรักนั้นซะเอง เค้าอยากมีเพื่อนแต่ก็ชอบใช้ชีวิตแบบโดดเดี่ยว ไปไหนมาไหนคนเดียว เค้าอาจจะฉลาด เก่ง ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพจนน่าจะได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง แต่สุดท้ายกลายเป็นทำลายผลงานของตัวเอง หรือเค้าอยากจะใส่เสื้อผ้าโทนสีครีม ซื้อมาแล้วแต่พอจะใส่ก็ยืนจดๆ จ้องๆ อยู่นาน สุดท้าย…ไม่ใส่ และเค้าจะเป็นแบบนี้ไปตลอดชีวิต ซึ่งจะส่งผลให้เค้าไม่สามารถเติบโตในสังคมอย่างที่เค้าควรจะเป็น
กลัวที่จะใกล้ชิด
เด็กๆ จะโหยหาความรัก แต่พอจะได้มีใครที่พอจะคุยด้วยได้ก็จะกลัวไม่กล้าเข้าใกล้ หรือเมื่อมีโอกาสใกล้ชิดก็จะถอยหนีไป โดยเฉพาะหากเค้าได้มีโอกาสอยู่กับคนรัก เวลาทะเลาะกัน “ภาพจำ” ในวัยเด็กจะกลับมา แล้วเค้าจะทำซ้ำเหมือนกับที่พ่อแม่เค้าเคยทำในสมัยที่เค้ายังอยู่ในวัยเด็ก วัยที่พ่อแม่ทะเลาะให้เค้าเห็นทุกครั้ง
เด็กจะมีปัญหาทางอารมณ์
เพราะความที่เด็กได้เจอ ได้เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันทุกวันในวัยเด็ก ส่งให้เด็กตกอยู่ในภาวะอารมณ์เศร้าเรื้อรัง มองโลกในแง่ร้าย ไม่กล้าใกล้ชิดใคร อยากใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ทำให้พัฒนาไปสู่บุคลิกภาพที่ผิดปกติ รู้สึกหมดหวังตลอดเวลา ไม่มีใครรักจริง เด็กจะพัฒนาข้ามช่วงวัยรุ่นไป กลายเป็นจากวัยเด็กแล้วไปสู่วัยผู้ใหญ่เลย เค้าจะไม่รู้จักกับคำว่า “สนุกสนาน” เลย สุดท้าย เพื่อนแท้คือ “ยาเสพติด” ได้อยู่ในโลกของตัวเองสมใจ
“การแต่งงาน” ในความหมายที่แท้จริงมันคือ “การเพิ่งเริ่มต้น” เริ่มต้นที่คนสองคนจะแสดงตัวตนจริงออกมาอีกครั้ง เพราะเราต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน 24 ชม. ดังนั้น การเลือกคู่ครองก็เหมือนเป็นการวัดดวงอย่างหนึ่ง บางคนเลือกถูก บางคนเลือกผิด
“ทางเลือก” คำนี้เจอทั้งชีวิต
ในชีวิตทีอกคนต่างต้องเจอกับคำว่า “ทางเลือก” เมื่อเราตัดสินใจเลือกไปแล้ว แล้วเราเลือกผิด เราเองก็ไม่มีทางรู้เลยว่า ถ้าเลือกอีกคนหนึ่งจะเลือกถูก หรือจะผิดซ้ำ หรือแม้แต่การเลือกที่จะไม่แต่งงานเลย เราก็ไม่อาจรู้ได้อีกว่าคิดผิด หรือคิดถูก การเลือกนี้จึงไม่ได้บ่งชี้ว่าอันนี้ถูก อันนั้นผิด แต่มันอยู่ที่ “การยอมรับการตัดสินใจ” ของตนเองมากกว่า ยอมรับแล้วค่อยหาทางแก้ไขไปทีละปัญหา ทำให้ดีที่สุด
ปัญหาของชีวิตคู่คือ ก่อนที่เราจะเลือกทางใหม่ เราควรคิดกันในหลายๆ มิติก่อน โดยเฉพาะในเรื่องความรับผิดชอบที่เราได้ตัดสินทำร่วมกัน นั่นคือ การมีลูกด้วยกัน และร่วมกันรับผิดชอบต่อลูกที่เกิดมา อย่าลืมว่า “เราสองคนเคยรักกัน”
ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งนะคะ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะส่งเสริมการหย่ากัน เพียงแต่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าก่อนที่พ่อแม่จะทะเลาะกันไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม อยากให้คิดถึงใจลูกให้มากๆ แต่…หากคนสองคนพยายามปรับตัวเข้าหากันแล้ว พยายามแก้ไขทุกอย่างแล้วไปไม่รอด การหย่า…บางทีก็จะรักษาใจเด็กได้ดีมากกว่า เด็กจะได้มีต้องเห็นหรือได้ยินสิ่งที่ทำร้ายใจเค้าในทุกวี่วันค่ะ