คุณแม่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะมือใหม่ อาจไม่ทราบว่าสิ่งที่ลูกน้อยพยายามจะสื่อสารผ่านการส่งเสียงต่างๆ นั้น แปลว่าอะไร จึงมีการตอบสนองอย่างที่ไม่ตรงกับความต้องการของลูกน้อยสิ่งนี้เองจะส่งผลถึงปัจจัยของลูกน้อยได้ มีผลต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
พริสซิล่า ดันแตนผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารภาษาเด็กทารก พบว่า เด็กทารกไทยวัยแรกเกิด – 6 เดือน จะสื่อสารด้วยภาษาสากล (Universal Words)ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดขึ้นและใช้ประจำมีทั้งหมด 4 เสียง ซึ่งวันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจในสิ่งที่ลูกน้อยพยายามสื่อสารกัน หรือที่เรียกว่า “ภาษาทารก” นั่นเอง มาดูซิคะว่า ลูกร้องแบบนี้ เค้าต้องการให้คุณแม่ดูแลเค้าในเรื่องอะไร
Youtube : ลูกบอกอะไร ใน “ภาษาทารก”
เสียง “เฮะ”
เป็นเสียงที่ออกมาจากปอด ลักษณะการออกเสียงคือ อ้าปากกว้างเสียงนี้ทารกน้อยกำลังบอกว่าหนูอึดอัด ไม่สบายตัว ร้อน หรือเปียกชื่น คล้ายเวลาที่ผู้ใหญ่รู้สึกอึดอัดก็จะร้องออกมาว่า “เฮ้อ” แต่ทารกจะออกเสียงได้สั้นกว่า
คุณแม่ดูแลลูกน้อยโดยการ…
ลดอุณหภูมิร่างกายลงด้วยการใส่เสื้อแขนกุด ผ้าเบาสบาย ไม่หนาจนเกินไป หรือถ้าร้อนมากก็สามารถพาไปอาบน้ำได้ค่ะ
บางบ้านอาจทาแป้งเพื่อป้องกันความเปียกชื้น แต่ข้อควรระวังคือ ไม่ควรเทแป้งไปที่ตัวลูกน้อยโดยตรง เพราะปริมาณผงแป้งที่เยอะ เวลาลูกน้อยสูดลมหายใจเข้าไปมากๆ อาจส่งผลทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจได้ ควรเทที่ฝ่ามือก่อน แล้วค่อยๆ ทาที่ตัวลูกจะดีกว่าค่ะ
เสียง “เอะ”
ลูกน้อยกำลังบอกว่า “หนูมีลมอยู่ในท้องครับ/ค่ะ” เป็นเสียงลมที่จะออกมาจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้ส่วนต้น ลักษณะการออกเสียงคือ อ้าปากกว้าง และปล่อยลมออกมาคล้ายจะออกเสียงเหมือน “สระแอ” ในภาษาไทย คล้ายกับเสียงของผู้ใหญ่เวลาเรอ เมื่อมีลมในกระเพาะ ทั้งนี้ ลูกน้อยสามารถร้องแบบนี้ได้ทั้งวันค่ะ ไม่จำเป็นว่าจะต้องหลังทานนมเสมอไป
คุณแม่ดูแลลูกน้อยโดยการ…
จับลูกนั่งตัวตรง ลูบหลังหรือตบหลังเบาๆ
อุ้มลูกพาดบ่า เพื่อให้ลูกน้อยเรอเอิ๊ก…ออกมา
กรณีลูกน้อยเรอยากให้คุณแม่นั่งเก้าอี้แล้วให้ลูกนอนคว่ำพาดโดยบริเวณลิ้นปี่ของลูกอยู่บนหน้าขาคุณแม่ ใช้มือข้างหนึ่งที่ถนัดสอดใต้หน้าอกและเลยไปจับที่หัวไหล่ลูกน้อย ใช้อีกมือลูบเบาๆ ที่หลัง
ข้อควรระวังคุณแม่ควรมีผ้าอ้อมไว้ใกล้มือด้วยนะคะ เผื่อเวลาที่ลูกเรอแล้วอาจจะมีนมบางส่วนแหวะออกมา
เสียง “อาว”
หนูกำลังบอกแม่ว่า “หนูง่วงแล้วครับ/ค่ะ แม่” ลักษณะการออกเสียง ลูกน้อยจะอ้าปากกว้าง ห่อปากและหุบลง จะคล้ายของผู้ใหญ่เวลาที่เราง่วงเราก็จะอ้าปากกว้าง เพื่อสูดเอาออกซิเจนเข้าไป เพื่อให้ร่างกายตื่นตัว
คุณแม่ดูแลลูกน้อยโดยการ…
อุ้มลูกขึ้นแนบกับอก โยกตัวช้า แต่สม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกรู้สึกสบาย คุณแม่จะนั่ง ยืน เดิน ก็ได้ค่ะ แล้วแต่ถนัด
ฮัมเพลงหรือร้องเพลงกล่อมเบาๆ ให้ลูกน้อยรู้อบอุ่นและปลอดภัย ลูกน้อยจะหลับได้เร็วขึ้น
เสียง “อึนเนะ”
เป็นการบอกว่าลูกน้อยหิวน้ำหรือหิวนม แต่เสียงจะออกมาในลักษณะไหนนั้นต้องขึ้นอยู่กับว่าลูกน้อยถนัดใช้โคนลิ้น กลางลิ้น หรือปลายลิ้นในการออกเสียง โดยมากจะมีลมออกมาทางจมูกมากกว่าปากเหมือนเสียงขึ้นจมูกร่วมกับเสียงที่ดูดเพดานปาก เสียงที่ออกมาจึงมีลักษณะเหมือน น หนูซึ่งเป็นเสียงจากโคนลิ้นค่ะ
คุณแม่ดูแลลูกน้อยโดยการ…
หากลูกเข้าเต้า อุ้มลูกไว้แนบอก กอดลูกไว้ขณะให้นมลูก
คุณแม่นอนตะแคง เอาหมอนรองใต้ตัวลูกเพื่อดูดนมแม่ได้ถนัด ท่านี้สบายทั้งแม่ทั้งลูกค่ะ
คุณแม่นั่ง แล้วให้ลูกนอนเข้าเต้าด้านข้างโดยมีหมอนรองตัวลูกน้อยไว้
ขณะให้นมคุณแม่ควรสบสายตามองลูกน้อย เพื่อเป็นการสร้างสายใยรักให้มากขึ้นนะคะ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเสียงทั้ง 4 ที่ทีมงาน Momandbabyนำมาฝากวันนี้ คุณแม่ลองสังเกตลูกน้อยเพิ่มขึ้นนะคะ ว่าเค้ากำลังสื่อสารอะไรกับเรา บางที “ภาษาทารก” จะกลายเป็น “ภาษาของเรา” เพราะคุณแม่เข้าใจเค้ามากขึ้นก็เป็นได้ค่ะ