เป็นธรรมดาของคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่จะเฝ้าดูการเจริญเติบโตของลูกน้อยในทุกๆ วัน โดยหวังว่าลูกน้อยจะมีพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งก้าวแรกที่คุณแม่เฝ้ามองคือ พัฒนาการที่ลูกน้อยสามารถพลิกคว่ำตัวได้เองเชื่อว่าคุณแม่หลายท่านคงได้รับข้อมูลเกี่ยวกับช่วงระยะเวลาที่ลูกน้อยควรคว่ำได้แล้ว ซึ่งบางครอบครัวพอระยะเวลาไม่สอดคล้องกับที่อ่านมา ก็จะเกิดความกังวลอยู่ไม่น้อยทีเดียว วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กันค่ะ ว่าทารกควรต้องคว่ำตัวตอนอายุกี่เดือน? แล้วกี่เดือนถึงเรียกว่าช้าไป?รวมไปถึงสาเหตุว่าทำไมทารกยังไม่คว่ำซักที? ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจลูกน้อยมากขึ้น และคุณแม่จะได้มีส่วนช่วยในการกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยอีกด้วยค่ะ
Youtube : สาเหตุใหญ่ ที่ลูกไม่คว่ำตัว?
สารบัญ
ช้าไปมั้ยสำหรับทารกที่คว่ำตอน 6,7 หรือ 8 เดือน?
ปกติ 3-4 เดือนหลังคลอดทารกเริ่มคอแข็งแล้ว ชันคอได้นานขึ้นบางคนพัฒนาการเร็วหน่อยก็จะสามารถพลิกตัวนอนคว่ำนอนหงายได้เองแล้วก็มี แต่โดยทั่วไปทารกจะสามารถพลิกกลับไปกลับมาได้ประมาณ 5-6 เดือนหลังคลอดซึ่งส่วนใหญ่ 90%จะสามารถพลิกกลับไปมาได้ก็ประมาณ 7 เดือนหลังคลอดค่ะ แต่หากทารกน้อยอายุ 8 เดือนแล้วยังไม่สามารถคว่ำตัวหรือพลิกตัวไปมาได้ แบบนี้อาจจะช้าไป คุณแม่ต้องไปปรึกษาแพทย์นะคะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ทารกที่จะสามารถคว่ำได้ คอต้องแข็งก่อนค่ะ และการนอนคว่ำควรทำเฉพาะเวลาที่ลูกน้อยตื่นเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาการเสียชีวิตเฉียบพลันขณะนอนหลับ (SIDS = Sudden Infant Dead Syndrome)คุณพ่อแม่สามารถช่วยกระตุ้นให้คอลูกน้อยแข็งเร็วได้ด้วยการให้คุณพ่อคุณแม่นอนคว่ำกับลูก หันหน้าประจัญกัน เอาของเล่นกรุ๊งกริ๊งสีสันสดใสมาหลอกล่อให้ลูกเลยหน้ามาดู แบบนี้เป็นต้นค่
สาเหตุที่ทารกไม่คว่ำตัว
เพื่อให้คุณแม่เข้าใจลูกน้อยมากขึ้น และอาจมีบางอย่างที่คุณแม่ต้องปรับเปลี่ยน มีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ
ไม่ชอบการคว่ำตัว
ทารกบางคนพอได้ลองนอนคว่ำจากที่คุณแม่เคยทำแล้ว อาจไม่ชอบท่านี้ เพราะทารกอาจรู้สึกอึดอัดและไม่สบายตัว ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นอาการที่ทารกไม่ชินค่ะ
พลิกกลับไป-มายาก
เพราะคุณแม่อาจใช้ฟูกที่นุ่มเกินไป ทำให้ทารกพลิกตัวลำบาก โดยเฉพาะทารกที่คอยังไม่แข็ง ไม่สามารถที่จะยกหัวขึ้นมาได้เอง ที่สำคัญ ไม่ควรมีผ้าห่มฟูๆ หมอน หมอนข้าง หรือตุ๊กตาอยู่ข้างๆ นะคะ เพราะอาจจะอุดทางเดินหายใจทำให้ลูกหายใจไม่ได้ค่ะ
น้ำหนักตัวที่มากไป
หากทารกบางคนเจ้าเนื้อหน่อยก็จะส่งผลให้การฝึกคว่ำนั้นยากขึ้นไปอีก แต่ก็คงใช้เวลาเพิ่มอีกซักพักในการหัดคว่ำนะคะ หรือหากลูกน้อยเริ่มพลิกตะแคงได้บ้างแล้ว คุณแม่อาจเอามือดันหลังของลูกน้อยเบาๆ เพื่อช่วยเขาได้นะคะ
ถ้าลูกยังไม่พลิกตัวซักที จำเป็นต้องบังคับฝึกให้ลูกเองหรือเปล่า?
ลองเปลี่ยนฟูก
หากคุณแม่ต้องการช่วยลูกน้อยให้พลิกคว่ำตัวได้ อันดันแรก ลองพิจารณาปัจจัยรอบตัวของลูกน้อยดูซิคะ ว่ามีอะไรที่ทำให้ลูกน้อยคว่ำตัวยาก เช่น ฟูกที่นิ่มเกินไป ลองเปลี่ยนให้แข็งขึ้นมาอีกซักนิด เพื่อเวลาที่ลูกหัดพลิกคว่ำตัว ฟูกจะได้ไม่ไปอุดทางเดินหายใจ เสี่ยงต่อภาวะ SIDS(Sudden Infant Dead Syndrome) หรือ โรคเสียชีวิตฉับพลันในเด็กทารกค่ะ
ไม่จำเป็น…ให้เป็นไปตามธรรมชาติ
คุณแม่ไม่ต้องกดดันตัวเองนะคะ อย่าไปคิดว่าลูกคนอื่นอายุเท่ากันแต่เขาพลิกตัวได้แล้ว อย่าคิดเปรียบเทียบลูกน้อยของเรากับคนอื่น เพราะคุณแม่ก็จะเครียด ลูกน้อยรับรู้ได้นะคะเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่เร็ว-ช้าต่างกัน เพียงแต่คุณแม่คอยเป็นผู้ช่วยกระตุ้นให้เขาเท่านั้น
ห้ามบังคับลูกน้อย…เด็ดขาด!
การบังคับลูกน้อยทำให้ลูกเครียด ยิ่งลูกทำไม่ได้อย่างที่คุณแม่หวัง ก็ยิ่งเครียดกันไปใหญ่ ใจเย็นๆแต่หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการฝึกลูก อาจเริ่มฝึกวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที บางคนอาจเริ่มวันละครั้ง ถ้าลูกไม่ร้องก็ให้อยู่ในท่านั้นไปนานๆ เท่าที่ลูกยอม ซึ่งบางคนอาจได้ 15 วินาที แต่ขณะที่บางคนได้ 15 นาทีเลยก็มี
เด็กแต่ละคนมีพัฒนาทั้งทางร่างกายเร็ว-ช้าต่างกัน คุณแม่อย่าลืมว่า เด็กในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า ดังนั้น เมื่อเขาเติบโตขึ้นแม้เพียงเขาอายุแค่ 2-3 ขวบ เขาก็จะมีความคิดความอ่านเป็นของตนเองเลือกทำโน่น เลือกไม่ทำนี่แล้ว ดังนั้น คุณแม่ควรเคารพในการกระทำและความคิดของลูกด้วยนะคะ เพราะการเปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้ลองคิดเอง ทำเองจะสอนให้ลูกได้รับประสบการณ์ตรง เติบโตทั้งร่างกายและความคิดค่ะ
ดังนั้น หากลูกของคุณแม่ยังอยู่ในช่วง 3-7เดือน เรียกได้ว่ายังปกติ เพียงแต่คุณแม่อาจหาวิธีมากระตุ้นลูกน้อย โดยอันดับแรกต้องให้ลูกคอแข็งก่อน แล้วค่อยฝึกให้ลูกให้คว่ำนะคะเพราะการที่ลูกน้อยคอแข็งแล้วจะนำไปสู่พัฒนาการในเรื่องของการนั่งต่อไปค่ะ