อาการป่วยของลูกที่ต้องพาไปหมอ ในช่วงโควิด
ในช่วงที่สถานการณ์โควิดกำลังระบาดหนักจะเคลื่อนไหวจะทำอะไรก็ลำบาก โดยเฉพาะหากใครในครอบครัวมีอาการเจ็บไข้ ได้ป่วย ลำพังผู้ใหญ่คงไม่ค่อยเท่าไหร่ ยังพอรู้จักอาการ และมียากิน (ในกรณีที่ไม่หนัก) แต่ถ้าเป็นลูกล่ะ? จะทำอย่างไร เพราะโรงพยาบาลนับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้เช่นกัน
วันนี้เรามีข้อมูลจาก พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ และเวชบำบัดวิกฤติ หรือคุณหมอแพมจากเพจหมอแพมชวนอ่าน ท่านได้ทำข้อมูลสรุปมาให้คุณพ่อคุณแม่ในการพิจารณาพาลูกไปโรงพยาบาลว่ามีกรณีหรือต้องมีอาการอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
อาการป่วยของลูกที่ต้องพาไปหมอ ในช่วงโควิด
สำหรับอาการป่วยของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่สามารถพาไปโรงพยาบาลได้ โดยแยกตามอาการ มีดังนี้ค่ะ
โรคระบบทางเดินหายใจ
โรคระบบทางเดินหายใจของเด็กเล็ก 90% พบว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เริ่มจากอาการหวัดก่อน โดยจะมีไข้ แต่ไม่สูงมาก มีน้ำมูก และไอเล็กน้อย แต่อาจจะไอมากขึ้นเมื่อเวลานอน เนื่องจากน้ำมูกย้อยไปรบกวนระบบทางเดินหายใจ กลางวันกินได้ เล่นได้ ไข้ต่ำ แต่พอตกกลางคืนจะเริ่มซม ไข้เริ่มสูงขึ้น อาการดังกล่าวนี้จะหนักในช่วง 2 – 4 วันแรก จากนั้นอาการเหล่านี้จะเบาลง แต่หากลูกน้อยยังมีอาการดังจะกล่าวต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์นะคะ
- มีไข้สูงตลอดเวลา กลางวันที่เคยกินได้ เล่นได้ แต่กลับนอนซมเหมือนกลางคืน
- กินนม กินอาหาร และกินน้ำน้อยลง คือ กินได้น้อยกว่า 50% ของ baseline
- หายใจแรง โดยเฉพาะขณะหลับ พบว่าอกกระเพื่อมแรง อกบุ๋ม แบบนี้ควรระวังการติดเชื้อที่ลามไปในทางเดินหายใจส่วนล่าง
- เป็นหวัด โดยมีอาการที่ไม่ดีขึ้นเลยเกิน 7 วัน (เรียกว่ามีแต่เฉพาะทรง กับทรุดเท่านั้น) หรือมีภาวะแทรกซ้อนของหวัด ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย
- หายใจติดขัด หายใจลำบาก
มีไข้สูงอย่างเดียว ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 เดือน ที่คุณแม่วัดไข้มาได้คือ มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 ครั้ง และปราศจากการห่อตัวมาก่อน หรือไม่ได้อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิสูง อาการนี้ควรพบกุมารแพทย์ค่ะ
- เด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส แม้จะกินยา เช็ดตัวแล้วแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น
- ลูกมีไข้ร่วมกับ มีอาการซึมมาก ไม่เล่น ไม่กิน
- เด็กทุกช่วงวัย มีไข้สูงอย่างเดียว นานเกิน 72 ชั่วโมง สันนิษฐานว่าอาจเป็นไข้เลือดออก
โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
- หากลูกถ่ายเหลว หรืออาเจียน โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถป้อนน้ำเกลือแร่ให้ลูกได้ทันกับที่ลูกถ่ายเหลวหรืออาเจียน อาจทำให้มีภาวะขาดน้ำปานกลาง ถึงขั้นรุนแรงได้ ได้แก่ อาการซึม ตาโหล ปากแห้ง ฉี่เข้ม น้ำลายเหนียว แบบนี้ต้องพาลูกมาให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดค่ะ
- เด็กที่มีอาการปวดท้องด้านขวาล่าง และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ มีไข้ อาเจียน ท้องอืด และกินอาหารได้น้อยลงร่วมด้วย ควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการยืนยันว่ามีภาวะฉุกเฉินที่ควรได้รับการผ่าตัดหรือไม่ อาทิ ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
- สำหรับเด็กที่ปวดท้อง และอาเจียน กินอะไรไม่ได้เลย อาเจียนหมด บางครั้งอาจมีน้ำดีออกมา คือ เป็นน้ำสีเหลือง ๆ พร้อมกับมีอาการท้องอืดมากขึ้น ควรพาไปตรวจประเมินเกี่ยวกับภาวะลำไส้อุดตัน
โรคเกี่ยวกับระบบประสาท
- เด็กที่มีภาวะชักครั้งแรก ไม่ว่าจะมีไข้หรือไม่ ทั้งนี้ หากเด็กชัก และมีภาวะไข้สูง และคุณพ่อคุณแม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการดูแลแล้ว ไม่จำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ก็ได้ ให้กินยาลดไข้ และรักษาตามอาการ
- เด็กที่เคยชักนานเกินกว่า 15 นาที หรือชักในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ชักซ้ำหลาย ๆ ครั้งใน 1 วัน
- ระดับของสติสัมปชัญญะมีการเปลี่ยนแปลง ที่คุณแม่รู้สึกได้ว่าไม่ได้มาจากอาการไข้อย่างเดียว
อาการป่วยอื่น ๆ
- ได้แก่ เด็กที่มีโรคประจำตัว โดยส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะมีความชำนาญในการดูแลเด็กกลุ่มนี้อยู่แล้ว แต่ถ้ารู้สึกว่า…
- มีอาการแย่ลง และแย่มาก สามารถไปพบแพทย์ที่แผนกฉุกเฉินได้ตลอดเวลา
- อาการที่รอได้ ให้โทรปรึกษาคลินิกที่ทำการรักษาประจำก่อน พยาบาลจะปรึกษาและถามข้อมูลจากแพทย์ให้ว่าควรทำอย่างไร
การเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเจ็บไข้ธรรมดาหรือจากโรคระบาดต่าง ๆ ดังนั้น ทางที่ดี ไม่ควรออกจากบ้านบ่อย ๆ หรือถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เพื่อการฆ่าเชื้อนะคะ
- แม่ควรรู้ วิธีเลือกนมโคสดแท้ 100% ให้ลูก พร้อมวิธีทดสอบ
- สิ่งที่ต้องระวังในการเล่นโซเชียลมีเดีย จากสร้างสุขอาจกลายเป็นสร้างทุกข์ให้ตัวเองและลูกได้