อาการชักในเด็ก สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เป็นการแสดงออกถึงความผิดปกติของการทำงานของสมอง แต่ที่สำคัญถ้าหากลูกน้อยชัก ให้คุณแม่ตั้งสติก่อน แล้วไปดูวิธีรับมือพร้อมกับรายละเอียดต่าง ๆ ของอาการชัก รวมถึงสาเหตุที่เราจะไล่เรียงกันดังนี้
ลักษณะของอาการชัก
ลักษณะอาการชักเกิดได้หลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะคิดว่า การชักต้องเป็นแบบชักกระตุกเป็นจังหวะทั้งตัว ซึ่งความเป็นจริงแล้ว อาการชักยังมีลักษณะ ดังนี้
- เหม่อลอยชั่วขณะ
- หมดสติทันที ร่วมกับอาการตัวอ่อน
- กระตุกบ้างเป็นบางครั้ง
- เกร็งผวา
- มีพฤติกรรมผิดปกติชั่วครู่ ลูกน้อยไม่สามารถรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
- มีอาการเฉพาะที่ อาทิ มีการกระตุกซ้ำ ๆ ของกล้ามเนื้อเฉพาะที่ ที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน และมักเกิดในช่วงเวลาสั้น ๆ
สาเหตุ อาการชัก
อาการชัก หรือ Seizure เกิดจากความผิดปกติของการนำกระแสประสาทในสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้คือ มีไข้สูงในเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือน – 6 ปี เมื่อมีไข้ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยชักได้ ซึ่งลักษณะที่พบมักจะชักเกร็งทั้งตัว หรือชักกระตุกทั้งตัวก็ได้ มักเกิดได้ในช่วงแรกของการมีไข้ และอาการจะเกิดและหยุดได้เองภายใน 5 นาที
ซึ่งคุณหมอจะมีการซักประวัติจากคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัว มีระดับน้ำตาลและเกลือแร่ที่ผิดปกติ การใช้ยารักษาโรคบางชนิด รวมไปถึงการนอนน้อยหรืออดนอน
บางรายที่มีความผิดปกติทางสมอง พบปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของอาการชัก คือ
- มีโรคทางพันธุกรรมที่เมื่อมีอาการแล้วก็มักจะมีอาการชักร่วมด้วย
- ภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ซึ่งเกิดตั้งแต่ขณะที่ลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์ โดยอาจมีสาเหตุมาจากการได้รับสารเสพติด การติดเชื้อ การขาดอาหาร รวมไปถึงอุบัติเหตุระหว่างการตั้งครรภ์
- มีการติดเชื้อในสมอง เช่น สมองอักเสบ ฝีในสมอง และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
- สมองได้รับความกระทบกระเทือน อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ หรือสมองขาดออกซิเจน
- มีเนื้องอกในสมอง หรือมีเชื้อมะเร็งกระจายมาจากอวัยวะอื่นสู่สมอง
วิธีรับมือเมื่อลูกชัก
- เมื่อลูกชัก คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติให้ดี
- ถ้าลูกน้อยนั่งอยู่ ให้จับลูกนอนราบลงกับพื้น ตะแคงตัวไปด้านข้าง เพื่อป้องกันการสำลัก
- พยายามพาตัวลูกน้อยไปที่โล่ง ห่างไกลจากของมีคมต่าง ๆ อาทิ ขอบเตียง มุมโต๊ะ หรือวัตถุมีคมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ
- คลายเสื้อผ้าลูกน้อยที่รัด ๆ ออก พร้อมกับกันคนออกไม่ให้มุง เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
- หากลูกน้อยมีไข้ ให้คุณพ่อคุณแม่เช็ดตัวเพื่อลดไข้ให้ลูก
- หากลูกน้อยมีอาการตัวแข็งเกร็ง อย่าพยายามนวด ดึง หรือง้าง
- ห้ามเด็ดขาด! ห้ามนำสิ่งของยัดใส่ปากลูกน้อย หรือผู้ที่กำลังชัก เพราะนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังจะส่งผลอันตรายต่อช่องปากของลูกน้อยได้อีกด้วย เช่น ฟันหักอุดหลอดลม สำลัก อาเจียน อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
อาการชักที่เป็นอันตราย
ปกติอาการชักมีเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ในกรณีที่ลูกน้อยมีอาการชักนานกว่า 30 นาที หรือการชักที่มีการสำลักร่วมด้วย และทำให้ลูกน้อยหยุดหายใจ โดยทั้ง 2 กรณีนี้ จะส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งนี้ อาการชักสั้น ๆ แต่ชักซ้ำซาก หลาย ๆ ครั้ง ในวันเดียวกันก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน เนื่องจากจะทำให้อาการชักควบคุมได้ยากมากขึ้น แต่ลักษณะที่กล่าวมานี้ก็ไม่ได้พบบ่อยนัก
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์อื่น ๆ ร่วมด้วยที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อย คืออาการชักที่เกิดขึ้นระหว่างที่ลูกน้อยทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ เช่น ปีนต้นไม้ อยู่ใกล้กับของมีคม หรือทำกิจกรรมทางน้ำ เป็นต้น
เมื่อลูกชักสิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ ตั้งสติ แต่จะบอกว่าอย่าเพิ่งตกใจคงเป็นไปได้ยาก เอาเป็นว่าตกใจได้แต่ก็ควรตั้งสติให้เร็ว ปฏิบัติตามวิธีการรับมือที่กล่าวไว้ข้างต้น แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที
ข้อมูลอ้างอิง bumrungrad.com , sukumvithospital.com