ทารกกินข้าวได้ตอนอายุเท่าไร เป็นสิ่งที่คุณแม่มือใหม่มักจะสงสัย เพราะการให้สารอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัย จะทำให้เด็กมีพัฒนาการและการเติบโตที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยผลที่เกิดจากการที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาจส่งผลทำให้เด็กมีความไม่แข็งแรงตั้งแต่อายุยังน้อย จนอาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร น้ำหนักที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และมีผลต่อพัฒนาการทางสมองด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น อาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กทุกช่วงวัย เป็นสิ่งที่คุณแม่จะต้องให้ความใส่ใจด้วยเช่นเดียวกัน
สารบัญ
อาหารสำหรับเด็กทารก ช่วงวัย 0 – 12 เดือน
เด็กทารกช่วงอายุ 0 – 6 เดือน
สารอาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กทารกในช่วงวัยนี้มากที่สุด นั่นก็คือ นมจากคุณแม่ เป็นสิ่งเดียวที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กให้ดียิ่งขึ้นได้ มีสารอาหารที่จำเป็นต่อสมองของเด็กในช่วงวัยนี้
- โดยมีข้อห้ามคือ อย่าพยายามที่จะป้อนของเหลวชนิดอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนมแม่ ซึ่งอาจทำให้ทารกมีความผิดปกติของลำไส้ มีอาการท้องเสีย มีความเสี่ยงต่อโรคภัยต่าง ๆ จนอาจทำให้เด็กทารกมีอาการอ่อนแอ และเสียชีวิตได้ในที่สุด
เด็กทารกช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป
ลูกน้อยของคุณแม่ในช่วงวัยนี้ จะมีการพัฒนาของร่างกาย สมอง และเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นช่วงที่เด็กพยายามที่จะฝึกและหัดคลานหรือเดิน ทำให้ร่างกายจำเป็นต้องใช้พลังงานและสารอาหารจำนวนมากในการพัฒนา ดังนั้น คุณแม่จำเป็นจะต้องให้สารอาหารชนิดอื่นๆเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเด็กที่นอกเหนือจากนมแม่ด้วยเช่นเดียวกัน
การเริ่มป้อนอาหารสำหรับเด็ก หรือเริ่มให้ทารกกินข้าวในช่วงอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ควรให้เริ่มจากอาหารที่มีรสชาติอ่อน โดยอาหาร 1 มื้อนั้น จะต้องประกอบไปด้วย
- ข้าว 3 – 4 ช้อนโต๊ะ
- ไข่แดงครึ่งฟอง
- เนื้อสัตว์สลับหมู ไก่ ตับบด ปลาบด 2 ช้อนโต๊ะ
- ผักสุกบดครึ่งช้อนโต๊ะ
- ผลไม้สุกเนื้อนิ่ม 1 – 2 ชิ้น
ซึ่งอาหารเหล่านี้ จะให้ลูกทานควบคู่ไปกับการให้นมแม่แก่ลูก โดยนมแม่นั้น สามารถให้ลูกทานบ่อยได้ตามปริมาณที่เคยกำหนดไว้
เด็กทารกที่เสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ ควรเริ่มทานอาหาร เมื่อมีช่วงอายุ 4 เดือนขึ้นไป
สำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาของภูมิคุ้มกัน ให้เริ่มทานอาหารแข็งได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป โดยอาหารสำหรับเด็กทารกที่มีความเสี่ยง สามารถใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับเด็กที่มีช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไปได้ โดยให้เริ่มจากการทานทีละน้อย หรือลดปริมาณอาหารลงจากหลักเกณฑ์เดิม และเพิ่มปริมาณอาหารให้มากขึ้นเมื่อเด็กมีอายุครบ 6 เดือน
ทำไมห้ามป้อนอาหารอื่น แก่ทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน?
เนื่องจากเด็กทารกในช่วงวัยนี้ ยังมีระบบย่อยอาหารที่ไม่ค่อยสมบูรณ์และแข็งแรงมาก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอาหารท้องเสีย ลำไส้อุดตัน รวมถึงอาจทำให้เด็กมีการอาเจียนอาหารที่ทานเข้าไปได้ นี่จึงกลายเป็นข้อสงสัยสำหรับคุณแม่ทั้งหลายว่า แล้วระยะเวลาที่เหมาะสมของทารกกี่เดือนกินข้าวได้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถที่จะขอคำแนะนำจากแพทย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารเสริมต่าง ๆ ที่ต้องการให้ลูกน้อยทานในช่วงนั้นได้ เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำในการเลี้ยงดูเด็กทารกอย่างถูกวิธีได้
อายุมากกว่า 6 เดือนแล้ว ไม่เคยป้อนอาหารแข็ง จะเป็นไรไหม?
อย่างที่ได้แนะนำไปแล้วตามข้างต้น เมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน คุณแม่ควรเลือกคัดสรรอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อให้ลูกน้อยได้รับอาหารอย่างครบถ้วน ทำให้ร่างกายมีสารอาหารไปเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เด็กแข็งแรงและมีพัฒนาการทางสมองที่ก้าวกระโดด หากคุณแม่ทิ้งเวลานานโดยที่ยังไม่ป้อนอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่ให้แก่เด็ก อาจทำให้ลูกมีน้ำหนักที่น้อยกว่าเกณฑ์ อ่อนแอ ผอมแห้ง และอาจมีร่างกายที่แคระแกร็น
ทารกที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยนมแม่ ควรป้อนอาหารแข็งเมื่อใด?
ในกรณีที่คุณแม่ไม่มีน้ำนมสำหรับใช้ในการเลี้ยงลูกน้อย ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในด้านพัฒนาการทางร่างกายและสมองของเด็กว่าจะมีผลเสียหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับเด็กทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ได้ โดยให้ทารกกินข้าวได้ในช่วงอายุ 6 เดือนเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายและระบบย่อยอาหารของเด็ก แข็งแรงพอที่จะสามารถรับสารอาหารชนิดอื่น ๆ เข้าไปแทนที่ได้แล้ว
ลูกถ่ายยาก เมื่อเริ่มทานอาหารแข็ง ปกติหรือไม่?
เป็นปกติ เมื่อทารกกินข้าวจะได้รับสารอาหารชนิดอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนมแม่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากลูกของคุณแม่จะมีพฤติกรรมการขับถ่ายที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่เหมือนกับตอนที่ทานแค่นมแม่เพียงอย่างเดียว แต่หากมีความกังวลใจ คุณแม่สามารถที่จะเพิ่มสัดส่วนสารอาหารในส่วนของไฟเบอร์ ที่สามารถหาได้จากอาหารประเภทผัก หรือ ผลไม้ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกผลไม้ที่มีเนื้อนิ่ม หากเป็นส่วนของผักควรต้มให้มีความนิ่มเสียก่อน เมื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในการรับประทานของลูกน้อย เพียงเท่านี้ ก็สามารถทำให้ลูกมีระบบขับถ่ายที่ดีขึ้นได้กว่าเดิม
หลังจากได้รู้แล้วว่าอาหารสำหรับเด็กทารกทุกช่วงวัยนั้น ควรให้ทารกกินข้าวแบบไหน และข้อควรระวังต่าง ๆ ที่คุณแม่ต้องใส่ใจ คุณแม่อย่าลืมที่จะเลือกปรุงอาหารเหล่านั้นด้วยตนเอง จะทำให้ลูกได้ทานอาหารที่สะอาด สดใหม่ และดีต่อสุขภาพ และสิ่งที่สำคัญที่สุด ควรให้ลูกมีส่วนร่วมในการทานอาหารด้วยตนเอง เช่นการหยิบจับอาหาร หรือใช้ช้อนด้วยตนเอง ก็จะเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กที่ดีอีกด้านหนึ่ง