ภาวะที่พบบ่อยในเด็ก นั่นก็คือเลือดกำเดาไหลที่มักจะไม่มีอาการรุนแรง แต่ก็มักจะเกิดขึ้นได้บ่อยหลังจากที่มีการแกะ แคะภายในโพรงจมูก หรือแม้แต่การบีบหรือเกาบริเวณจมูก ที่อาจทำให้เกิดการแตกของเส้นเลือดฝอยบริเวณเยื่อบุจมูกได้ นอกจากนี้อาการเลือดกำเดาไหลอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่มีอากาศหนาวจนทำให้โพรงจมูกแห้ง โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุ 2-3 ขวบ อาจพบอาการเลือดกำเดาไหลบ่อย จนทำให้คุณแม่เกิดความกังวลใจได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาเหตุของเลือดกำเดาไหล อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ หรือเป็นอาการแจ้งเตือนของโรคบางอย่าง ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ที่พบว่าลูกน้อยมีอาการเลือดกำเดาไหลบ่อยจนน่ากังวลใจ และเพื่อเป็นแนวทางว่าเมื่อใดควรจะพาลูกไปพบแพทย์ในกรณีที่มีอาการมากจนอาจเกิดอันตราย
สารบัญ
สาเหตุของเลือดกำเดาไหลในวัยเด็ก
อย่างที่บอกในข้างต้นว่าอาการเลือดกำเดาไหลที่พบได้ในเด็ก อาจจะไม่มีอาการรุนแรงมากนัก โดยมักจะหยุดไหลเองได้ภายใน 10-15 นาที ซึ่งนอกจากการแกะและแคะภายในโพรงจมูก หรือ อากาศที่เย็นจัดจนทำให้เกิดอาการโพรงจมูกแห้ง การที่ร่างกายเด็กเกิดวิตามินซี ก็อาจทำให้เกิดภาวะเลือดกำเดาไหลได้เช่นเดียวกัน หรือแม้แต่การเกิดอุบัติเหตุจากการกระทบกระเทือน ที่เกิดจากการเล่นซนโดยไม่ได้อยู่ในสายตาคุณแม่
การเกิดภาวะเลือดกำเดาไหล
ภาวะโรคในจมูก
ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อภายในโพรงจมูก ทำให้มีอาการคัดจมูก ระคายเคือง จนเกิดการจาม ที่มีผลทำให้เส้นเลือดฝอยแตก จนเกิดอาการเลือดกำเดาไหลออกมา นอกจากนี้ ยังบ่งบอกถึงอาการร้ายแรงของก้อนเนื้อภายในจมูก หรือ ก้อนเนื้องอกบริเวณหลังโพรงจมูกได้อีกด้วย
ความผิดปกติของร่างกาย
โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคที่มีความผิดปกติของระบบเลือด ทำให้เลือดออกง่าย หยุดยาก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับเยื่อบุต่างๆ หรือแม้แต่ผู้ที่มีอาการของความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคตับจนต้องได้รับยาที่ออกฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด ซึ่งทำให้เกิดโอกาสเลือดกำเดาไหลมากกว่าคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วเส้นเลือดฝอยภายในจมูกจะเกิดการแตกค่อนข้างยาก ซึ่งหากเกิดขึ้น นั่นแสดงถึงอาการปลายเหตุที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หากคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการเลือดกำเดาไหลบ่อยจนผิดปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็ก และต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
เลือดกำเดาไหลแบบไหน ต้องรีบพบแพทย์
หากคุณแม่พบอาการเลือดกำเดาไหลร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ให้อย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาอาการอย่างทันท่วงที
- ผิวหนังของเด็กมีเลือดออก ซึ่งจะแสดงอาการโดย มีรอยจ้ำเขียว พรายย้ำ หรือ มีจุดเลือดออกตามตัวชนิดจุดแดง
- มีเลือดออกภายในช่องปาก เช่น เลือดออกตามไรฟัน หรือ ลิ้น
- มีสีของปัสสาวะคล้ายกับสีน้ำล้างเนื้อ หรือมีสีของอุจจาระคล้ายกับยางมะตอย หรือ อุจจาระปนกับเลือด
- เด็กมีภาวะไข้สูงร่วมด้วย
- มีอาการอ่อนเพลีย ซึมลงผิดปกติ ไม่กระฉับกระเฉง
- มีอาการเวียนหัว และ สีผิวมีลักษณะซีดลง
สัญญาณของโรคที่เกิดขึ้นจากภาวะเลือดกำเดาไหลของเด็ก
โรคที่อาจเกิดขึ้นได้ หากพบว่าลูกน้อยมีอาการเลือดกำเดาไหลบ่อยจนผิดปกติ จนทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- โรคไขกระดูกฝ่อ
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านทานตนเอง
- ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก
วิธีดูแลเด็กเบื้องต้น หากลูกน้อยเกิดภาวะเลือดกำเดาไหล
- ให้หยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ทุกอย่างทันที โดยไม่ให้เด็กเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างเช่น หน้ามืด หมดสติ และเป็นลมได้ ในกรณีที่มีเลือดออกค่อนข้างเยอะ
- จับเด็กให้นั่งเอียงตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย
- ให้เด็กก้มศีรษะลงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงคอ ซึ่งหากเกิดขึ้นอาจทำให้เด็กอาเจียนออกมาปนเลือดได้
- หากพบว่ามีเลือดกำเดาไหลออกทางจมูกเป็นจำนวนมาก ให้ใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกเบา ๆ พยายามให้เด็กหายใจทางปาก และรีบพาส่งโรงพยาบาลโดยทันที
- หากพบว่ามีเลือดกำเดาไหลค่อนข้างน้อย อาจใช้วิธีการห้ามเลือดด้วยการประคบเย็น
วิธีป้องกันการเกิดเลือดกำเดาไหล
- พยายามดูแลบรรยากาศภายในห้องนอนของลูกน้อย ไม่ให้มีอากาศที่แห้งจนเกินไป
- ดูแลลูกน้อยไม่ให้เกิดเยื่อบุที่จมูกแห้ง โดยการใช้น้ำเกลือหยอดจมูก เพื่อลดการเกิดอาการคัน ที่เป็นสาเหตุทำให้เด็กมีการแคะหรือแกะจมูกจนเกินเลือดกำเดาไหลได้
- การรับประทานอาหารที่มีวิตามินซี อย่างเช่น ผัก ผลไม้ เพื่อช่วยให้หลอดเลือดฝอยภายในจมูกมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะโรคเลือดกำเดาไหลได้น้อยลง
เพราะในปัจจุบันอาการเลือดกำเดาไหล กลายเป็นภาวะที่พบได้บ่อยไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จึงเป็นเหตุทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกถึงอันตรายหรือสัญญาณเตือนภัยของโรคร้ายได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ภาวะเหล่านี้ไม่ควรนิ่งนอนใจ ยิ่งถ้าคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีเลือดกำเดาไหลมากจนผิดปกติ ไม่ควรชะล่าใจ แต่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อปรึกษาและหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น จะปลอดภัยที่สุด