ตั้งแต่ลูกน้อยลืมตาดูโลก ก็ต้องอาศัยน้ำนมแม่มาโดยตลอดจนครบ 6 เดือน จนกระทั่งอายุ 7 เดือนแล้ว ลูกควรเริ่มกินอาหารเสริมอย่างอื่นนอกจากน้ำนมแม่ แต่ดูเหมือนจะยากกว่าที่คิด เมื่อลูกน้อยไม่ยอมรับอาหารเสริม แถมจะกินแต่นมแม่ตลอด เจอแบบนี้ก็พาเครียดกันทั้งคุณพ่อคุณแม่กับการรับมือลูกน้อยวัยกินยาก
การทำงานของระบบย่อยอาหารในเด็กจะสมบรูณ์ดี เมื่ออายุ 6-7 เดือน เด็กทุกคนที่ผ่านการกินนมแม่เป็นหลัก จะคุ้นชินกับรสสัมผัส รสชาติของนม พอถึงช่วงวัยที่เริ่มทานอาหารอ่อนๆ นอกเหนือจากนมแม่ได้ ช่วงเวลานี้คุณแม่สามารถฝึกให้ลูกกินอาหารเสริมที่มาจากผักผลไม้ แต่ลูกน้อยจะรู้สึกว่าอาหารแปลกตามีรสชาติที่ไม่คุ้น หรือมีกลิ่นที่เปลี่ยนไป ถ้าเช่นนั้นคุณแม่ก็ลองเปลี่ยนการทำอาหารให้ลูกน้อยใหม่ น้ำนมที่ปั้มไว้ คือ…
รสชาติที่ลูกน้อยคุ้นเคย
หากเอาน้ำนมมาผสมเพิ่มรสในอาหารลูกน้อยก็จะกินง่ายขึ้น เช่น
- ข้าวโอ๊ต + นมแม่
- ฟักทอง + นมแม่
- กล้วยน้ำว้า + ข้าวกล้อง + นมแม่
- แครอท + นมแม่
- แอปเปิล + นมแม่
- มันฝรั่ง + แครอท + ไข่แดง + นมแม่
- ตับบด + นมแม่
- เนื้อปลา + ฟักทอง + นมแม่
- แครอท + ข้าว + นมแม่
เมื่อลองวางแผนการปรุงอาหารก็จะเห็นได้ว่า ในส่วนผสมของอาหารนอกจากจะมีน้ำนมแม่ ยังมีทั้ง ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์เล็กน้อยด้วย ทีนี้ลูกน้อยก็จะกินอาหารได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญอาหารควรเน้นปรุงให้สุก เพราะหากไม่สุกเต็มที่ เชื้อโรคจะไม่ถูกทำลาย ลูกอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดได้ และคุณแม่ควรล้างมื้อบ่อยๆ ขณะปรุงอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคมาสู่ลูก
เปลี่ยนการปรุงอาหารแล้ว ก็ใช่ลูกจะยอมกินง่ายๆ คุณแม่ลองดูว่าระหว่างที่หายไปทำอาหารลูกน้อยทำกิจกรรมอะไรบ้าง หรือคุณแม่เผลอทำอะไรไปบ้างที่อาจทำให้ลูกกินยาก
วิธีให้ลูกน้อยกินอาหารเสริม
- ให้แน่ใจว่าลูกรู้สึกหิวในช่วงมื้ออาหาร โดยไม่ควรให้ลูกกินของว่าง ขนมหวาน หรือน้ำผลไม้ 3-4 ชม. ก่อนมื้ออาหาร
- จำกัดปริมาณการดื่มนมของลูก วันละไม่เกิน 3 แก้ว (750ml)
- ลูกน้อยจะใช้นิ้วหยิบของได้คล่องขึ้น อนุญาตให้ลูกเล่นกับอาหารเพื่อลดความตึงเครียดที่มีต่ออาหาร หรืออยากหยิบช้อนเข้าปากเอง แต่อาจไม่ตรงปากมากนัก
- ลูกจะสนใจของเล่นมากขึ้น เมื่อถึงเวลามื้ออาหาร งดของเล่น งดการเปิดโทรทัศน์ หรือสิ่งล่อใจลูกน้อย เพราะการกินอาหารหน้าจอทีวี จะดึงความสนใจในมื้ออาหาร และจะกินได้น้อยลงกว่าเดิม
- คุณแม่ตักอาหารให้ลูกมากเกินไป ลูกเห็นก็ไม่อยากกิน ลองลดปริมาณให้น้อยลงจะทำให้อาหารดูน่ากิน
- ห้ามดุ ถ้าลูกกินข้าวไม่หมด จะทำให้เกิดความกดดันกับลูกได้
- อย่าบังคับลูกกินข้าว แต่ให้ค่อยๆ ชักชวนให้กินทีละนิด ไม่ฝืนให้ลูกกิน
- ชมลูกทุกครั้งเมื่อลูกกินข้าวจนหมดจาน
- ไม่หลอกล่อให้ลูกน้อยกิน โดยมีสิ่งอื่นเข้ามาแลก แบบนั้นจะทำให้ลูกติดเป็นนิสัยได้
- ให้ลูกมานั่งร่วมมื้ออาหารพร้อมๆ กับคุณพ่อคุณแม่ เพราะเด็กในวัยนี้จะมีพฤติกรรมการเลียนแบบผู้ใหญ่ จึงเป็นวิธีกระตุ้นอย่างหนึ่งที่ทำให้ลูกอยากกินไปในตัว หรือคุณพ่อคุณแม่แสดงการกินให้ลูกดูว่าอร่อย เนื่องจากลูกจะมองคุณเป็นตัวอย่าง
- สร้างบรรยากาศที่ดีบนโต๊ะอาหาร ให้สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย เพื่อทำให้เกิดความสุข เกิดความสนุกสนาน
ขณะคุณแม่ป้อนอาหารหากลูกไม่กินอย่าบังคับ ให้หยุดป้อนและเริ่มใหม่ใน มื้อถัดไป หรือวันถัดไป การเริ่มเมนูเดิม เมนูละ 1 สัปดาห์ จะเป็นการทดสอบการแพ้อาหารไปในตัว แต่ถ้าลูกเกิดเบื่ออาหารขึ้นมา ให้เปลี่ยนเมนูใหม่ ลูกวัย 7 เดือน ยังคงให้อาหารเพียง 1 มื้อ แต่เพิ่มปริมาณขึ้นและเพิ่มมื้ออาหารว่าง อาจเป็นน้ำผลไม้ หรือผลไม้บดละเอียด อีก 1 มื้อ
คุณแม่หมั่นสังเกตอาการของลูก ว่าเกิดอาการแพ้อาหารหรือไม่ อาการแพ้อาหารได้แก่ มีผื่นขึ้นตามร่างกาย ปากบวม ตาบวม อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด หากพบว่าลูกแพ้อาหาร ควรพาลูกไปพบแพทย์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้แก่ลูก