เป็นที่รู้กันสำหรับคุณพ่อคุณแม่ว่าเมื่อลูกน้อยอายุได้ 6 เดือน เราควรป้อนอาหารเสริมให้กับลูก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกายให้แข็งแรงเติบโตสมวัย ว่าแต่…จะต้องเริ่มอะไร? อย่างไรบ้าง? ไม่ต้องกังวลใจเลยค่ะ วันนี้ผู้เขียนมีคำตอบค่ะ
Youtube : อาหารมื้อแรกของลูก ป้อนอะไรดีนะ?
สารบัญ
การป้อนอาหารที่ถูกต้องให้ลูกน้อยวัย 6 เดือน
การให้อาหารเสริมลูกน้อยควรเริ่มเมื่อเค้าอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป เพราะหากเริ่มให้อาหารเสริมเค้าเร็วเกินไป ระบบย่อยอาหารเค้ายังทำงานได้ไม่เต็มที เค้ายังไม่สามารถย่อยแป้งหรือน้ำตาลได้ในปริมาณที่เยอะๆ และจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยอีกด้วยค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากให้ลูกน้อยได้ทานผักก่อนผลไม้ เพราะผลไม้จะมีรสหวานกว่าผัก ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยติดรสหวานจากผลไม้ และไม่ยอมทานผักได้ ผักที่สามารถนำมาใช้ได้ ได้แก่ แครอท มันเทศ มันฝรั่ง มันม่วง ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ลูกเดือย ผักกาดขาว ผักกาดหอม ตำลึง กวางตุ้ง ผักหวาน ข้าวโพดอ่อน บรอกโคลี กะหล่ำดอก แตงกวา แตงร้าน ฟักทอง ฟักเขียว และอะโวคาโด ผักที่จะเลือกใช้ควรเริ่มจากผักที่ไม่มีกลิ่นฉุนหรือกลิ่นเหม็นเขียว เพราะหากลูกสัมผัสได้ถึงกลิ่นนั้นแล้ว อาจทำให้เกิดประสบการณ์ไม่ดีกับการทานผัก สุดท้ายก็จะไม่ยอมทาน และถ้าเป็นผักออร์แกนิคได้จะดีมากค่ะ
อาหารตามช่วงวัยลูกอายุ 6-7 เดือน
ควรเป็นอาหารที่บดละเอียด เริ่มจากข้าวสวย (หรือข้าวกล้องก็ได้ค่ะ แต่ควรแช่น้ำให้ได้ 24 ชม. ค่อยหุง) และน้ำซุปผักที่อุ่นแล้ว นำข้าวมาขูดผ่านกระชอนหรือปั่นก็ได้ค่ะ เวลาลูกทานข้าวแล้วฝืดคอ ก็ป้อนน้ำซุปให้ทาน โดยเริ่มแรกลูกจะทานเพียงวันละ 1 ช้อนโต๊ะเท่านั้น หลังจากนั้นก็ทานนมแม่เติมต่อให้อิ่ม
การเริ่มป้อนอาหารอะไรใหม่ๆ ควรป้อนมื้อเช้าหรือไม่ก็มื้อกลางวันนะคะ เพื่อสังเกตว่าลูกจะแพ้อาหารหรือไม่ และที่สำคัญ ควรให้ลูกคุ้นเคยกับอาหารเดิมซัก 4-5 วันก่อนที่จะเพิ่มเมนูใหม่ลงไปนะคะ เพื่อป้องกันการปฏิเสธอาหารค่ะ
หากลูกทานได้ คุณแม่ค่อยๆ เพิ่มปริมาณครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ อาจจะ 2-3 วันเพิ่มทีก็ได้ค่ะ ไม่ต้องรีบเดี๋ยวลูกท้องอืด แต่ถ้าลูกไม่ทานก็ไม่ต้องบังคับค่ะ แล้วค่อยเริ่มใหม่ในวันถัดไป
อาหารตามช่วงวัยลูกอายุ 7 เดือน
วัยนี้เริ่มใส่เนื้อสัตว์ลงได้แล้วค่ะ โดยเริ่มที่ปลาน้ำจืดก่อน เพราะเนื้อปลาย่อยง่าย เนื้อสัตว์ที่ลูกทานได้ อาทิ เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาทับทิม ปลานิล ตับไก่ ตับหมู ไข่แดง (สุกทั้งหมด) โดยปริมาณที่ใส่คือ 1 ช้อนโต๊ะ ต่ออาหาร 1 มื้อ ไม่มากว่านี้นะคะ เพราะตลูกจะทำงานหนักเกินไป
อาหารตามช่วงวัยลูกอายุ 8-10 เดือน
ช่วงนี้เริ่มเพิ่มปริมาณได้มากขึ้น ทานหยาบได้มากขึ้น แต่ต้องตุ๋นให้เปื่อยเลยนะคะ เพิ่มมื้ออาหารเป็น 2 มื้อ วัยนี้ไม่ต้องถึงกับบดละเอียดแล้วค่ะ แค่ใช้หลังช้อนบี้ คุณแม่ลองสังเกตลูกดูนะคะ ว่าเค้าทานได้หรือเปล่า ไม่ติดคอ ไม่เอาลิ้นดุนอาหารออกมาแบบนี้แสดงว่าทานได้ แต่ถ้าเค้าอมข้าวในปากไม่ยอมกลืน คุณแม่ต้องกลับไปบดละเอียดใหม่ แล้วค่อยเริ่มป้อนใหม่อาทิตย์หน้า
อาหารตามช่วงวัยลูกอายุ 11-12 เดือน
วัยนี้เริ่มให้มื้อที่ 3 ได้แล้วค่ะ อาหารอาจไม่ต้องถึงขั้นตุ๋น แค่ต้มก็พอ แล้วสังเกตลูกนะคะว่าเค้าทานได้หรือไม่ สำหรับในวัยนี้บางคนอาจทานข้าวเหนียวได้ ทานข้าวสวยได้ เริ่มมีการปรุงรสอ่อนๆ ทั้งนี้คุณแม่ต้องสังเกตการขับถ่ายลูกด้วยนะคะ ว่าถ่ายเป็นปกติหรือเปล่า เพราะบางครั้งลูกยังเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียดพอก็อาจทำให้ท้องผูกได้
ทั้งหมดที่กล่าวมา เมนูต่างๆ สำหรับลูกน้อยนี้ ไม่ปรุงรสนะคะ เน้นให้ลูกได้ทานอาหารรสชาติอ่อนไปก่อน ไม่อย่างนั้นระบบย่อย ตับ และไตเค้าจะทำงานหนักเกินไป ที่สำคัญ หากลูกไม่ทานเพราะไม่ชอบ คุณแม่อย่าเพิ่งท้อนะคะ ยังมีอีกหลายเมนูให้คุณแม่ได้ลองกัน สู้ๆ ค่ะ