“แสงสีฟ้า” เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงได้ยินคำนี้กันมาบ้างแล้วนะคะจากการที่มีหลาย ๆ ภาคส่วนออกมารณรงค์กันในเรื่องของการลดการใช้แสงสีฟ้าที่มองผ่านหน้าจอต่าง ๆ โดยเฉพาะมือถือ หรือแท็บเล็ต ซึ่งความจริงแล้วแสงสีฟ้ามีอยู่ในทุกที่ค่ะ อ้าว…ถ้าเป็นอย่างนั้นสายตาเราไม่เสียกันทุกคนหรอกหรือ? เรื่องของแสงสีฟ้ายังมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจกันก่อนจะให้ลูกเล่นหน้าจอ ดังนี้ค่ะ
สารบัญ
แสงสีฟ้า คืออะไร?
แท้จริงแล้ว แสงสีฟ้าก็คือ แสงที่เรามองเห็นกันอยู่ทุกวันนี่เอง ซึ่งเป็นหนึ่งในแสงขาว UV โดยแสงขาวมีทั้งหมด 7 สี ด้วยกัน ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง โดยแสงน้ำเงิน หรือแสงสีฟ้านั้นจะมีความยาวคลื่น และมีพลังงานที่ต่างกัน
แสงสีฟ้ามักมาจากหลอดไฟ LED, นาฬิกา Smart Watch, จอ TV, จอคอมพิวเตอร์, โน้ตบุค, จอโทรศัพท์ และจอแท็บเล็ต
แสงสีฟ้า ส่งผลเสียอย่างไร?
แสงสีฟ้าที่ให้โทษจะมีความยาวคลื่นอยู่ที่ 415-455 mm ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประสาทตาของเราได้ หากมีการได้รับแสงนี้ในระยะเวลานาน ซึ่งแสงสีฟ้ายังส่งผลเสียในด้านอื่น ๆ อีก ดังนี้
อาการตาล้า
เนื่องจากเรามีการจ้องมองหน้าจอนาน แสงสว่างก็จะเข้ามาที่ดวงตามาก ส่งผลให้ดวงตาทำงานหนัก และล้าได้
อาการตาแห้ง
ส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์ที่เรามองนั้น มีขนาดเล็กจึงทำให้เราต้องจ้องนานกว่าปกติ
จอประสาทตาเสื่อม
เพราะแสงสีฟ้าสามารถทะลุเข้าไปทำลายเซลล์รับแสงในจอประสาทตาได้ และอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นได้อีกด้วย
วิธีการป้องกันแสงสีฟ้า?
ด้วยความที่ยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล และคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารอบตัวเราก็มักจะเห็นเด็ก ๆ เล่นจอกันมากมาย คุณพ่อคุณแม่อาจทำได้แค่ชะลอให้ลูกเจอกับหน้าจอได้ช้าลง ดังนั้น ในเมื่อวันหนึ่งลูกก็ต้องรู้จักกับหน้าจอ วันนี้ เราจึงมีข้อมูลในการป้องกันความเสียหายอันจะเกิดกับดวงตาของลูกน้อยมาฝากค่ะ
กำหนดเวลาการเล่นที่ชัดเจน
ก่อนที่จะให้ลูกเล่นหน้าจอ ให้คุณพ่อคุณแม่แจ้งและทำความเข้าใจกับลูกเสียก่อนว่าให้เล่นได้กี่นาที ซึ่งเวลาที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน
ติดฟิล์มกรองแสง
ติดฟิล์มกรองแสงบนอุปกรณ์ดิจิทัลทุกชนิด ก็จะช่วยลดปริมาณของแสงสีฟ้าได้
ใส่แว่นตาสำหรับตัดแสงสีฟ้า
การใส่แว่นตาตัดแสงสีฟ้าก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ แต่วิธีนี้จะเหมาะกับเด็กที่อายุ 4-12 ปี
มา ณ วันนี้เวลาที่เราไปไหนมาไหน เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะเห็นเด็กเล็ก ๆ ที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากขึ้น วันหนึ่งหากเรื่องราวของหน้าจอ และแสงสีฟ้ามาถึงตัวของลูกน้อยบ้าง เราคงเลี่ยงได้แต่ไม่ตลอดไป ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ การยืดหยุ่น และการป้องกันผลกระทบด้านสายตาในระยะยาวให้ลูกน้อย จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดค่ะ