“ถ้าจะทำธุรกิจ ควรเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะอายุน้อยจะยังมีความกล้าลงทุน มีความบ้าบิ่น ล้มได้ก็จะลุกได้เร็ว” เคยได้ยินประโยคเหล่านี้บ้างไหมคะ? คำถามคือ “แล้วทำไมเราถึงกลัวความผิดพลาด?” เราเริ่มเป็นผู้ใหญ่ เราเริ่มไม่อยากผิดพลาด ซึ่งความจริงแล้ว “ความผิดพลาดคือ โอกาสให้เราได้เรียนรู้” โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ
สาเหตุที่ทำให้เรากลัวความผิดพลาด
ความผิดพลาดในวัยผู้ใหญ่เป็นความน่ากลัวจนทำให้ใครหลาย ๆ คนต้อปกปิดความผิดพลาดของตัวเองไว้ บางรายอาจถึงขั้นปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงกันก็มี ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร?
สังคมให้ค่ากับความสำเร็จและเงิน
ลองคิดย้อนไปในวัยเด็กจนกระทั่งตอนนี้ คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตไหมคะว่าข้อมูลต่าง ๆ รอบตัวที่เราได้รับมาเหมือนเราถูกโปรแกรมเอาไว้ว่าเราจะต้องขวนขวายหาความสำเร็จ ปั้นให้เงินเป็นตัวอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับชีวิต เพราะฉะนั้น…
“ความล้มเหลว หรือความผิดพลาดจะกลายเป็นเครื่องหมายของการไม่ประสบความสำเร็จ”
ซึ่งแนวความคิดนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังถูกถ่ายทอดหรือถูกปลูกฝังมายังเด็กด้วยการที่พยายามทำทุกวิถีทางในการผลักดันตัวเองเพื่อให้ประสบความสำเร็จและร่ำรวย ยิ่งอายุน้อยเท่าไหร่…ยิ่งดี
เกิดจากการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ และครู
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า “เมื่อเด็กยิ่งโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะยิ่งมีความคาดหวังหรือสามารถยอมรับในความผิดพลาดของลูกได้น้อยลง”
เมื่อลูกทำผิดพลาด คุณพ่อคุณแม่หรือครูก็มักจะแสดงออกด้วยการต่อว่า ลงโทษ ดุด่า หรือแม้แต่การตี ทำให้หลาย ๆ ครั้ง ลูกไม่กล้าที่จะเปิดเผยในสิ่งที่ตัวเองได้ทำผิดพลาดไปกับคุณพ่อคุณแม่หรือครู ทั้ง ๆ ที่บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก
ย้อนกลับไปในวัยที่ลูกยังหัดเดินเตาะแตะ เดินล้ม ๆ คุณพ่อคุณแม่มักจะพูดว่า
“ไม่เป็นไรลูก เอาใหม่ ๆ”
ซึง ณ วันนั้นคงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่โมโหและต่อว่าลูก เมื่อลูกเดินล้ม ๆ ว่า
“ไม่ได้ลูก หนูต้องเดินให้ได้เดี๋ยวนี้”
คำถามคือ “เมื่อลูกยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่ยังใหกำลังใจลูกได้เมื่อลูกทำผิดพลาด แต่ทำไมเมื่อลูกโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่กลับซ้ำเติมในความผิดพลาดของลูกด้วยคำพูด การต่อว่าที่รุนแรง?”
ความคาดหวัง ความกดดันของคุณพ่อคุณแม่
ต้องบอกว่ามีหลายครอบครัวที่คาดหวังให้ลูกมีชีวิตตามที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เป็น หลายครั้งที่ความโมโหของคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดขึ้นมาจากความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่เอง อาทิ คาดหวังว่าอยากให้ลูกสอบได้ที่หนึ่ง คาดหวังว่าอยากให้ลูกสอบได้ในโรงเรียนที่คุณพ่อคุณแม่เลือกให้ หรือแม้แต่ในเรื่องความคาดหวังในเรื่องของอาชีพการงาน อาทิ คาดหวังอยากให้ลูกสอบติดคณะนี้ มหาวิทยาลัยนี้ เพื่อที่จะจบมาแล้วจะได้ทำในอาชีพที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเป็น
หลายครั้งจากหลายครอบครัวที่ “ความคาดหวัง” สร้างแรงกดดันให้กับลูกเป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์นี้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จะส่งผลให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่มีค่า มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง (Low Self – Esteem) ปมในใจลูกเกิดขึ้นจากคุณพ่อคุณแม่ที่สร้างทับถมไว้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังนะคะ เพราะปมในใจลูกที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่เหตุการณ์ของการฆ่าตัวตายได้
มองความผิดพลาดคือโอกาสแห่งการเรียนรู้
ทุกอย่างสามารถปรับเปลี่ยนได้ค่ะ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ปรับในเรื่องวิธีการคิดก่อน เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติ ด้วยการมองเรื่อง “ความผิดพลาดเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้” พร้อมกับตอบสนองต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในเชิงบวก ดังนี้ค่ะ
แสดงความเห็นอกเห็นใจและเมตตา
เมื่อลูกทำผิดพลาดมาทั้งจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ให้คุณพ่อคุณแม่แสดงความเห็นอกเห็นใจและเมตตา พูดจากับลูกด้วยท่าทีที่อ่อนโยน ส่วนการลงโทษ การดุด่า อารมณ์โมโห (แบบขอตำหนิก่อน แล้วปลอบทีหลัง) หรือแม้แต่การตีลูก เหล่านี้โยนทิ้งไปเลยค่ะ
ตั้งคำถามปลายเปิดให้ลูกคิด วิเคราะห์
หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น และพิจารณาแล้วว่าลูกพร้อมที่จะคุย ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ เข้าไปพูดคุยกับลูกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งคำถามปลายเปิดกับลูกเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้ลูกได้ฝึกคิด วิเคราะห์ค่ะ
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความผิดพลาดกันภายในครอบครัว
อาจหาเวลาคุณภาพสักช่วงนั่งคุยแลกเปลี่ยนกันถึงข้อผิดพลาดที่ที่แต่ละคนเคยทำมา และได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นั้น
ให้คำแนะนำกับลูกถึงวิธีการแก้ไขปัญหา
ในบางปัญหาลูกอาจคิดหาทางแก้ไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำเขาได้ค่ะ
เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทำผิดพลาดไป ให้ยืดอกและเอ่ยปากยอมรับในความผิดพลาดนั้น เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องปกติวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมกับอธิบายให้ลูกฟังว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่คนทำผิดไม่ยอมรับผิดเขาจะไม่สามารถเติบโตทางความคิดได้เลย เพราะฉะนั้นอยากเห็นลูกมีความสุขกับการใช้ชีวิต ควรปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้จากความผิดพลาดด้วยนะคะ
อ้างอิง
Patch.com
Positivediscipline.com