เรื่องความเสียใจ ความผิดหวัง ความพ่ายแพ้ ตลอดจนเรื่องของการเสียน้ำตา แน่นอน…คุณพ่อคุณแม่คงไม่อยากให้ลูกต้องเจอ แต่คงเป็นได้แค่ความใฝ่ฝันเท่านั้น เพราะชีวิตจริงทุกคนต้องเจอ ฉะนั้นการสอนลูกให้รู้จักยอมรับกับความพ่ายแพ้ และสามารถจัดการกับปัญหานั้น ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ถ้าต้องการเห็นลูกเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
สอนให้ลูกยอมรับความพ่ายแพ้
ให้โอกาสลูกได้รู้จักกับความพ่ายแพ้
ก่อนที่ลูกจะต้องออกไปเผชิญกับโลกภายนอก ให้คุณพ่อคุณแม่ลองชวนลูกมาเล่นเกมกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นวิดีโอเกมนะคะ อาจเป็นกิจกรรมที่เล่นด้วยกันอย่างโดมิโน หรือจังก้า ฯลฯ โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องแกล้งแพ้เพื่อให้ลูกได้ชนะ ได้ดีใจทุกครั้งนะคะ เพราะการแพ้จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่า เมื่อมีแพ้ได้ก็มีชนะได้เช่นกัน เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตค่ะ
สอนให้ลูกรู้จักกับอารมณ์ของตัวเอง และยอมรับอารมณ์นั้น
เมื่อลูกต้องเจอเรื่องที่ทำให้เขาเหนื่อย ท้อ หรือเสียใจมา ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการลูกนะคะว่าเขาพร้อมที่จะคุยหรือเปล่า ถ้าหากลูกพร้อมอยู่ ลองสอบถามลูกและอธิบายให้ลูกรู้ว่าที่ลูกรู้สึกอยู่ตอนนี้คือ อารมณ์ไหน เพื่อการจัดการกับอารมณ์นั้น ๆ ได้อย่างถูกต้องค่ะ
สอนวิธีจัดการกับอารมณ์ด้านลบอย่างสร้างสรรค์
เมื่อลูกรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองแล้ว เช่น อาจโมโหอยู่ก็แนะนำให้ลูกนับเลบ 1 – 10 หรือจะนับยาว ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็ได้ค่ะ จนกว่าจะรู้สึกว่าอารมณ์นั้น ๆ เริ่มหายไป สูดหายใจเข้า-ออกลึก ๆ ดู
สอนให้ลูกแสดงออกอย่างเหมาะสม
เพราะเด็กยังมีอารมณ์ที่ไม่ซับซ้อน รู้สึกอย่างไรก็แสดงออกมาอย่างนั้น จนบางครั้งอาจเป็นพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ถูกใจซักเท่าไหร่ ซึ่งจุดนี้แหละค่ะที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำหน้าที่ปลูกฝังสิ่งที่เหมาะสมให้กับลูก ให้แสดงอารมณ์ที่เหมาะสมในที่สาธารณะ เช่น เมื่อลูกเป็นผู้ชนะ ลูกดีใจก็จริงแต่ก็ควรไปแสดงน้ำใจนักกีฬาด้วยการเข้าไปขอบคุณคู่แข่งด้วย หรือแม้แต่ลูกเสียใจผิดหวัง ก็ควรเข้าไปแสดงความยินดีกับผู้ชนะเช่นกัน
สอนให้ลูกมองปัญหาและผลกระทบรอบด้าน
เมื่อลูกรู้สึกผิดหวัง เสียใจ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสำรวจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกโดยไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่แรก เพื่อให้ลูกได้คิดตามว่าจุดไหนที่เราพลาดไป พลาดจากตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมภายนอก ประสบการณ์นี้สอนอะไรลูกบ้าง ลูกได้รับผลกระทบอะไรจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง เรียกว่าสอนให้ลูกมองปัญหาและผลกระทบให้จบกระบวนความกันเลยทีเดียวค่ะ เมื่อลูกมองออกแล้วค่อยมาหาวิธีแก้ปัญหา และป้องกันปัญหากันต่อไป
ให้เวลาลูกได้อยู่กับตัวเองซักพัก ในบรรยากาศที่สงบ
หลังจากที่ได้คุยกับลูกแล้ว ลูกได้รู้ถึงผลกระทบ พร้อมทางแก้แล้ว คราวนี้ลองให้ลูกได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองในที่ที่สงบซักพัก เพราะเมื่อไม่มีสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นลูกก็จะมองเห็นภาพรวมต่าง ๆ ได้มากขึ้น
เป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการกับปัญหา
ต้นแบบที่ดีก็คือ คุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกเห็นว่าแม้คุณพ่อคุณแม่จะเจอกับปัญหาอะไรมา หรือผิดหวังจากอะไรมา คุณพ่อคุณแม่ก็ยังสามารถรับกับปัญหานั้นได้ แสดงออกได้ และจัดการมันได้อย่างเหมาะสม
เหตุผลที่ต้องปล่อยให้ลูกได้พ่ายแพ้บ้าง
เพื่อพัฒนาทักษะการเผชิญกับความเครียด
เพราะพื้นฐานที่ดีควรเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน เช่น การชักชวนกันเล่นเกมโดมิโน เกมจังก้า หรือเกมอื่น ๆ ที่มีแพ้มีชนะ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ และจัดการกับความเครียด (อารมณ์ของตัวเอง)
ลูกจะมีความสุขมากขึ้น
ถ้าหากเด็กคนไหนสามารถจัดการกับความพ่ายแพ้ได้ นั่นหมายความว่า เขาสามารถจัดการกับความเสียใจ ความเครียดได้ เพราะฉะนั้นเขาจะแข่งขันหรือจะเล่นได้อย่างมีความสุข มีความสนุกมากขึ้น
ลูกจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้ดี
ก่อนที่ลูกจะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ดีนั้น เขาจะต้องเคยสัมผัสกับความรู้สึกดังกล่าวนั้นมาก่อน
ลูกจะมีความมั่นใจมากขึ้นและควบคุมตัวเองได้มากขึ้น
เพราะเขาได้รู้แล้วว่าความเสียใจเป็นอย่างไร และต้องจัดการมันอย่างไร ลูกจะเรียนรู้ว่าความล้มเหลวคือส่วนหนึ่งของชีวิต และเขาจะเรียนรู้ได้อีกว่า การประสบความสำเร็จได้นั้นมันขึ้นอยู่กับตัวของเขาเอง ไม่ใช่รอใครมาหยิบยื่นให้
บอกเลยค่ะว่าการสอนลูกให้เข้าใจ หรือจะปลูกฝังอะไรลูกสักเรื่อง ต้องใช้เวลา ไม่ใช่พูดครั้งเดียวลูกจะเข้าใจและทำได้ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกด้วยนะคะ
อ้างอิง
phyathai.com
Thepotential.org