“รักวัวให้ผู้รักลูกให้ตี” นี่น่าจะเป็นสำนวนไทยที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างและเป็นแนวทางการเลี้ยงลูกที่คนไทยอย่างพวกเราเชื่อกันมานานแต่เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันแล้วคุณพ่อคุณแม่ยังลงโทษลูกเมื่อเขาทำผิดด้วยการตีเพียงอย่างเดียวก็อาจจะทำให้เด็กๆ ที่เดี๋ยวนี้เข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้มากขึ้นแล้วนั้นเกิดความไม่เข้าใจและกลายเป็นปมในใจของเขาไปเสียเปล่าๆ
ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วลองใช้เทคโนโลยีเข้าไปค้นหาข้อมูลกันเพิ่มเติมดีหรือไม่ว่าถ้าตอนนี้เด็กๆ เขาเกิดทำผิดหรือซนเกินเหตุขึ้นมาคุณพ่อคุณแม่ควรจะใช้วิธีใดในการจัดการกับเขาให้เขารู้สำนึกและไม่ทำอีกพร้อมทั้งยังไม่ทำร้ายจิตใจของเขาอีกด้วยและในวันนี้เราได้รวบรวมการลงโทษที่สร้างสรรค์มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันข้างล่างนี้เรียบร้อยแล้ว
สารบัญ
ลงโทษอย่างไรให้ลูกเข้าใจ
1.Time Out
ชื่อก็ดูอินเตอร์กันแล้วทำให้พอเข้าใจได้ว่านี่คือวิธีที่ใช้เพื่อสั่งสอนเด็กๆ กันในทางสากลอย่างแน่นอน วิธีนี้ถือว่าเป็นผลดีกับทั้งฝ่ายคุณพ่อคุณแม่และฝ่ายลูกเพราะจะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ใช้เวลาเงียบคิดพิจารณาและอยู่กับตัวเองมากขึ้น ส่วนของคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องใช้แต่อารมณ์ลงโทษลูกตัวลูกเองก็จะค่อยๆ คิดตามว่าเขาทำอะไรผิดพลาดไปทำไมถึงโดนลงโทษ
วิธีการก็คือให้ทั้งฝ่ายคุณพ่อคุณแม่และลูกแยกทางกันไปอยู่มุมใครมุมมันเงียบๆ ประมาณ 5 นาทีหรือจนกว่าจะดูสงบเมื่อครบกำหนดแล้วก็ให้เรียกลูกมาหาเริ่มจากการสอบถามด้วยเหตุผล…ห้าม! ให้อารมณ์มานำคุณพ่อคุณแม่เด็ดขาดเพราะนี่คือตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูกนั่นเอง เมื่อสอบถามแล้วอาจจะยังพบว่าลูกอาจจะยังไม่สงบพอก็ให้เวลาเขาเพิ่มและอาจเปลี่ยนวิธีการเป็นการให้เขาเขียนอธิบายหรือระบายออกมาแทนเมื่อเราได้คำตอบมาแล้วว่าเขาทำแบบนั้นเพราะอะไรและรู้สึกอย่างไรก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มสั่งสอนเขาด้วยคำพูดที่ดีและมีเหตุผลเพื่อให้เขาคิดตามและรู้ผิดถูกมากยิ่งขึ้น
วิธีนี้จะทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะเข้าใจความผิดและกล้ายอมรับความผิดมากยิ่งขึ้นเพราะเมื่อเขาทำผิดแล้วมีคนที่คอยฟังคำอธิบายจากเขาเสมอเพราะในบางครั้งเขาก็อาจจะทำไปเพราะไม่รู้หรือไม่ได้ตั้งใจทำเลยด้วยซ้ำแต่หากเขาตั้งใจทำเขาก็จะได้เรียนรู้เพิ่มว่านี่คือสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกพร้อมทั้งยังได้รับคำแนะนำให้แก้ไขตัวเองให้ถูกต้องขึ้นอีกด้วย
2.งดสิ่งที่ลูกชอบ
ใครๆ ก็รักและหวงกิจกรรมที่ตัวเองชอบกันทั้งนั้นแม้แต่เด็กๆ ที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ชีวิตมากเท่าไรก็ตามเขาก็ยังมีความรู้สึกในส่วนนี้ และถ้าเป็นแบบนั้นแล้วล่ะก็ลองใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์ถือว่าเป็นวิธีการลงโทษที่สันติที่สุดและเหมือนจะได้ผลที่สุดด้วย
ถ้าลูกชอบเล่นเกม อ่านการ์ตูน ดูโทรทัศน์ ท่องอินเทอร์เนต หรืออะไรก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่รู้แน่แล้วว่านี่แหละสิ่งที่ลูกชอบ เมื่อเขาทำผิดสั่งงดกิจกรรมเหล่านั้นแล้วกำหนดเวลาการกลับมาทำกิจกรรมนั้นได้ซะ และนี่คือวิธีการลงโทษที่ทำให้ผลที่ได้คือลูกจะรู้จักคิดพิจารณามากขึ้นก่อนที่เขาจะทำอะไรว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ถ้าเขารู้ว่ามันผิดถ้าทำแล้วเขาต้องอดกิจกรรมโปรดแน่ๆ เขาก็จะไม่ทำมัน
3.เขียน! ลงโทษให้เขาเขียน
มาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสกันดีกว่าถ้าลูกทำผิดเราก็เอาการเขียนมาเป็นการลงโทษเขาเสียเลยถือว่าได้เป็นการพัฒนาทักษะการเขียนและภาษาให้กับเขาไปในตัวอีกด้วย โดยเมื่อเขารู้ว่าเขาผิดก็ให้เขานั่งเขียนคำขอโทษหรืออธิบายเหตุผลต่างๆ ที่ทำให้เขาทำแบบนั้นลงไปในกระดาษ
แต่อย่าลืมว่าคุณต้องใช้วิธีนี้อย่างมีเหตุผลเพราะถ้าเกิดว่าใช้ไปเรื่อยแล้วล่ะก็อาจจะทำให้ลูกฝังใจว่าการเขียนคือการลงโทษและไม่ยอมรับรู้ด้านที่ดีของการเขียนอีกต่อไป นี่อาจจะกลายเป็นผลเสียกับเขาเสียมากกว่าประโยชน์ที่เราตั้งใจเอาไว้
4.Dead Line
ฝึกเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ยังเด็กให้เขาเรียนรู้ว่าทุกอย่างควรมีกำหนดเวลาที่แน่นอนเพื่อการเตรียมตัววางแผนในชีวิตที่ดี เริ่มจากการลงโทษนี่แหละเพราะสุดท้ายในอนาคตเมื่อเขาโตขึ้นหากเขาทำอะไรไม่ทันตามกำหนดมันก็ย่อมจะมีเรื่องราวต่างๆ มาลงโทษหรือส่งผลเสียกับเขาอยู่ดีให้เขาเรียนรู้อย่างมีแนวทางที่ถูกต้องนำพาไปก่อนจะดีกว่า
กติกาก็คือหากเขาทำสิ่งใดผิดแล้วมีกำหนดเวลาตั้งขึ้นมาว่าจะต้องแก้ไขภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้หากถึงเวลาแล้วยังทำไม่ได้ก็จะต้องถูกปรับและลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ วิธีนี้นอกจากจะทำให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะวางแผนชีวิตแล้ว เมื่อเขาทำกิจกรรมที่ตกลงกับคุณไว้ได้สำเร็จแล้วนั้นเขาก็จะรู้จักกับความภูมิใจในความสำเร็จของตัวเองส่งเสริมให้เขาเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มมากขึ้นได้
5.ทำงานบ้านเสียเลย
นี่คือการลงโทษที่ได้ประโยชน์ เบาแรงคุณพ่อคุณแม่ และยังช่วยฝึกทักษะการช่วยเหลือตัวเองให้กับลูกไปในตัว แต่คุณจำเป็นที่จะต้องให้เขาเรียนรู้งานบ้านต่างๆ เป็นหน้าทีของเขาอยู่แล้วเพียงแต่ว่าหากเกิดเขาทำอะไรผิดขึ้นมาก็ให้เพิ่มหน้าที่ในการทำงานบ้านให้กับเขา อย่างเช่น ปกติลูกแค่เช็ดโต๊ะหลังทานข้าวเสร็จ ก็เพิ่มให้เขาล้างจาน เช็ดและเก็บจานเข้าตู้เพิ่มไปเป็นการลงโทษนั่นเอง
การลงโทษลูกไม่จำเป็นที่จะต้องปล่อยให้เขาไปเผชิญกับความกลัวเพื่อให้ต่อไปเขาไม่กล้าทำสิ่งเหล่านั้นอีกเพราะมันอาจจะกลายเป็นปมของเขาไปได้โดยที่พวกคุณไม่สามารถรู้ได้เลย ให้คุณเข้าใจเสมอว่าคนเราสามารถเรียนรู้และปรับปรุงไดตลอดเวลา การให้โอกาสเด็กๆ ได้เรียนรู้และหัดใช้เหตุผลให้เขามีสิทธิ์เข้าใจว่าทำไมถึงถูกลงโทษแบบนั้นแบบนี้เพื่อที่ต่อไปการจะทำอะไรเขาจะคำนึงถึงเหตุผลเป็นหลักเพราะเขาได้รู้จักกับวิธีการแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งแน่นอนว่ามันแตกต่างจากการที่ทำอะไรผิดก็โดนตีโดยที่ยังสับสนอยู่เลยว่าเพราะอะไรและต่อไปเขาการอาจจะใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาก็เป็นได้