ร้อยทั้งร้อยคุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็ต้องการให้ลูกเป็นเด็กดี มีเพื่อนรัก ไปไหนมาไหนก็มีแต่ผู้ใหญ่เอ็นดู แต่ด้วยความที่เป็นเด็ก บางครั้งก็อาจมีบ้างที่เผลอไปแกล้งเพื่อน พูดจาไม่ดีกับคนอื่น หรือตีคนอื่น ซึ่งบางครอบครัวก็ยอมรับและแก้ไขพฤติกรรมลูก แต่ก็มีบางครอบครัวที่พยายามมองข้าม เข้าข้าง ปกป้อง หรือมองว่าก็เป็นแค่เด็ก ๆ เขาเล่นกันเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข อาจส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาตามมาได้ในอนาคตนะคะ
สารบัญ
สิ่งที่ควรทำ เมื่อลูกทำผิด
ทันทีที่คุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกของตัวเองทำผิด ให้เริ่มทำตามนี้ค่ะ
ขั้นที่ 1 : หายใจลึก ๆ ตั้งสติ
ขั้นแรกให้คุณพ่อคุณตั้งสติก่อน อย่าเพิ่งตัดสินอะไรทันที แต่คุณพ่อคุณแม่ควรรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากลูก และคนอื่น ๆ ในเหตุการณ์ เพื่อนำมาวิเคราะห์และพิจารณาอย่างยุติธรรม และที่สำคัญ เพื่อให้ลูกรับรู้ว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณพ่อคุณแม่ยังรับฟังเขาอย่างใจเย็นได้เสมอ และไตร่ตรองมาดีแล้ว จึงพิจารณาทำโทษหรือสอนเขา เพื่อให้เขาได้รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
ขั้นที่ 2 : ไม่ใช้อารมณ์ในการทำโทษเด็ก
การทำโทษหรือจะลงโทษลูก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้อารมณ์หรือการกระทำที่รุนแรง อาทิ การทุบตี หรือการต่อว่าอย่างรุนแรงด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย จริงอยู่การลงโทษลูกจะทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมนั้นทันที หรือหยุดทำพฤติกรรมไม่นั้นเมื่ออยู่ต่อหน้าเรา แต่จะทำทันทีเช่นกันเมื่ออยู่ลับหลังเรา (แอบทำเมื่อสบโอกาส) ที่สำคัญ ลูก ๆ จะเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงของคุณพ่อคุณแม่ไปทำกับคนอื่นที่มีอำนาจน้อยกว่าได้
สิ่งที่ควรทำ คือ
- ถ้าไม่อยากให้ลูกทำพฤติกรรมที่ไม่ดี เราก็ควรสอนลูกว่าพฤติกรรมที่ดีควรทำเช่นไร
- ถ้าอยากให้ลูกทำอะไรให้บอกลูกตรง ๆ ไม่ใช่การประชดประชัน เพราะลูกจะรู้แค่ว่า “ไม่ให้สิ่งนั้น” แต่ลูกจะไม่รู้ว่า “ควรต้องทำอย่างไร”
ขั้นที่ 3 : คุณพ่อคุณแม่ควรทบทวนสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ทำมาแล้ว 2 ขั้น มาในขั้นนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ทำดังนี้ค่ะ
มีเวลาคุณภาพให้ลูกอย่างเพียงพอหรือไม่
ไม่ใช่ว่าอยู่กับลูกตลอดเวลา แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อยู่กับหน้าจอตลอดเวลาเหมือนกัน ไม่มีเวลาทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์กับลูกเลย
ครอบครัวได้ตั้งกติกา หรือจัดตารางเวลาไว้อย่างชัดเจนหรือเปล่า
หากครอบครัวไม่มีกติกา หรือกฎเกณฑ์ให้ลูกได้ปฏิบัติ เมื่อโตขึ้นมาเขาจะรับกับกติกาของสังคมไม่ได้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งจะกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจได้
มีใครให้ท้ายเด็กที่บ้านหรือเปล่า
ข้อนี้จะทำให้เด็กย่ามใจว่า “ไม่ว่าฉันจะทำผิดอะไร ก็มีคนคอยช่วยแน่นอน” เพราะฉะนั้นเด็กก็จะยังคงทำพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อไป
คุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบที่ดีแล้วหรือยัง
เพราะลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ เลียนแบบแม้กระทั่งความคิด
ขั้นที่ 4 : เมื่อลูกทำผิด ไม่ได้แปลว่าลูกเป็นเด็กไม่ดี
เพียงแต่สิ่งไม่ดีที่เขาแสดงออกมานั้นคือ “พฤติกรรม” ต่างหากค่ะ ไม่ใช่ “ตัวตน” ของลูก คุณพ่อคุณแม่บางคนรักลูกมากซะจนต้องออกมาปกป้องลูกทันทีเมื่อลูกทำผิด ไม่เชื่อว่าลูกตัวเองทำผิด “ไม่จริง ลูกฉันไม่ได้ทำอย่างนั้นแน่นอน ลูกฉันเป็นเด็กดี” ซึ่งความจริงแล้ว แทนที่จะช่วยแก้ไขพฤติกรรมลูก ให้ลูกได้เรียนรู้ว่าทำผิดตรงไหน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้น แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำจะทำให้ลูกคิดว่า…
“ฉันเป็นคนดี ฉันทำอะไรก็ไม่ผิดหรอก เพราะฉะนั้นฉันจึงไม่มีอะไรที่จะต้องปรับปรุงตัว เด็กคนอื่นต่างหากที่ต้องปรับปรุงตัว”
…และท้ายสุดลูกก็จะเป็นเด็กที่ตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทำอะไรก็ถูกไปหมด ไม่มีอะไรที่ผิดพลาด
ในวันนี้ วันที่ลูกยังเล็ก ในวันที่เรายังสอนเขาได้ ความผิดแม้จะดูเบาบาง และเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาคุณพ่อคุณแม่ แต่มันคือ โอกาสที่จะสอนให้ลูกได้เรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ในสิ่งที่สังคมยอมรับ เพราะถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ขัดเกลาลูกเสียตั้งแต่วันนี้ เมื่อเขาโตขึ้น “สังคมจะขัดเกลาเขาเอง” ซึ่งอาจมีความรุนแรงมากกว่านี้ก็ได้ค่ะ