ในทุก ๆ วันที่คุณพ่อคุณแม่เฝ้าดูลูกเติบโตอย่างมีความสุข คุณพ่อคุณแม่ก็มีความสุขไปด้วย แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นได้ว่าลูกมีอาการซึมลง ไม่ร่าเริงเหมือนเคย แน่นอนคุณพ่อคุณแม่ก็ย่อมเป็นกังวลตามไปด้วย ครั้นถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้นกับหนู มีเรื่องไม่สบายใจอะไรเล่าให้ฟังได้นะ แต่…ลูกไม่ยอมเปิดปากซะอย่างนั้น ก็ยิ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลมากขึ้น วันนี้โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจลูกกันค่ะ ว่าเพราะอะไรนะลูกถึงไม่อยากเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง
สารบัญ
เหตุที่ลูกไม่เล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง
คุณพ่อคุณแม่ไม่ตั้งใจฟังลูกอย่างจริงใจ
สืบเนื่องมาจากตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ เวลาที่ลูกไปเจอเรื่องอะไรมา ลูกก็มักจะชอบมาเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แต่…ลูกกลับพบว่า ขณะที่เล่าให้ฟังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ตั้งใจฟังลูกอย่างจริงจังและจริงใจ ฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง เมื่อโตขึ้นลูกก็จะไม่อยากเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง แต่จะไปเล่าให้เพื่อนฟังแทน
คุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาให้ลูก
พ่อวันนี้หนูจะได้เรียนเรื่องแมลงด้วยนะ คุณครูบอกว่า…
เดี๋ยวพ่อต้องรีบไปทำงานนะลูก
แม่…วันนี้หนูได้เรียนเรื่องผีเสื้อด้วยนะ มันมี…
เรารีบกลับบ้านก่อนดีกว่าลูก แม่มีงานรออยู่
….พอนึกภาพออกไหมคะ เมื่อลูกเจอแบบนี้บ่อย ๆ เข้า ก็เป็นธรรมดาที่ลูกจะไม่เล่าให้ฟัง ครั้นต่อมาอยากฟังลูก อยากให้ลูกเล่าอะไรให้ฟัง ถึงเวลานั้นก็ไม่ทันแล้วค่ะ
ไม่อยากถูกคุณพ่อคุณแม่ตำหนิหรือซ้ำเติม
สำหรับข้อนี้กว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้ (ขั้นที่ลูกคิดออกว่าถ้าเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังแล้วถูกตำหนิ) แสดงว่าลูกเคยมีประสบการณ์มาก่อน เพราะฉะนั้นเขาจะจินตนาการได้เลยว่า ถ้าเล่าไป ต้องถูกตำหนิแน่นอน ดังนั้น เขาจึงเลือกที่จะไม่เล่าดีกว่า
ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจ
เรื่องบางเรื่องเด็กก็สามารถรับรู้ได้ค่ะว่าเรื่องไหนที่เล่าไปแล้วจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวล ไม่สบายใจ เขาก็เลือกที่จะไม่เล่า ถ้าเป็นแบบนี้ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตท่าทีของลูก แล้วเข้าไปถามลูกท่าทางสบาย ๆ เพื่อให้ลูกสบายใจที่จะเล่าให้ฟังค่ะ
ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ผิดหวังในตัวเขา
ด้วยพื้นฐานของลูก เขาต้องการทำให้คุณพ่อคุณแม่รักเขา ชมเขา ไม่อยากให้ผิดหวังในตัวเขา ในบางครั้งลูกทำอะไรผิดพลาดมา เขาจึงไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ผิดหวังในตัวเขานั่นเอง
คิดว่าปัญหาเป็นเรื่องส่วนตัว อยากแก้ไขเอง
อย่าคิดว่าลูกเล็กขนาดนี้จะไม่มีโลกส่วนตัวนะคะ ในบางเรื่องลูกคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ต้องมาแก้ปัญหาหรือมาตัดสินใจแทน เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็อาจทำได้เพียงคอยถามเขาว่า “มีอะไรให้แม่ช่วยบ้างไหม?” เรียกว่าอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ นะคะ
ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่นำไปเล่าต่อ
บางครอบครัวคุณพ่อคุณแม่มักจะนำเรื่องของลูกไปเล่าต่อกับเพื่อนฝูงของคุณพ่อคุณแม่เอง นำเรื่องของเขาไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ทำให้เขาต้องอับอายต่อหน้าคนอื่น เขาจะรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวและไม่เคารพปัญหาของเขา
การเลี้ยงลูกต้องอาศัยการเรียนรู้และการปรับตัวกันทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายคุณพ่อคุณแม่เอง และฝ่ายลูก โน้ตมักพูดอยู่เสมอว่า “แม้เราจะเป็นผู้ใหญ่ก็ใช่ว่าเราจะทำถูกไปซะทุกอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องการเลี้ยงลูก” ดังนั้น การที่คุณพ่อคุณแม่หันกลับมาประเมินตัวเอง และปรับตัวเพื่อคนที่เรารักไม่ว่าจะเป็นกับครอบครัวหรือลูก ย่อมเป็นเรื่องที่ควรทำ และคุ้มค่าที่จะทำค่ะ การกอดลูกเป็นความสุข แต่การที่ลูกกอดเรากลับนั้น…สุขยิ่งกว่า