การที่เด็กแต่ละคนเติบโตมามีอุปนิสัยที่แตกต่างกัน นั่นเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ที่ปลูกฝังเค้ามาตั้งแต่เค้ายังแบเบาะ การที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูคอยตามใจบ่อยๆ เด็กก็จะเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรก็ต้องได้ บางบ้านถึงกับลงไปนอนดิ้นที่พื้นเลยก็มี หรือบางบ้านต้องการสอนให้ลูกเป็นเด็กมีน้ำใจ รู้จักเสียสละ และแบ่งปัน ก็จะสอนให้ลูกรู้จักการให้ และโดยการที่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่างบ่อยๆ เรียกได้ว่าตัวอย่างที่บ้านเป็นอย่างไร เด็กก็จะซึมซับพฤติกรรมนั้นมา
สารบัญ
การเลี้ยงลูกโดยทั่วไปมีด้วยกัน 4 แบบ
1.เลี้ยงลูกแบบเผด็จการ
คำว่า “เผด็จการ” ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้องเข้มงวดกับลูกทุกอย่าง เป๊ะทุกอย่าง คุณพ่อคุณแม่ขีดเส้นให้เดินไว้หมดแล้ว ถ้าลูกเดินตามทางนี้จะไม่มีทางผิดพลาดแน่นอน ไม่ให้ลูกได้มีโอกาสตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง และที่สำคัญ มีความคาดหวังในตัวลูกสูงมาก เมื่อลูกต้องเจอกับการเลี้ยงดูแบบนี้ทุกวันๆ ลูกจะกลายเป็นเด็กเก็บกด ไม่ค่อยพูด เพราะคิดว่าพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ นี่แหละค่ะ จะส่งผลกระทบต่อจิตใจลูกอย่างมากทีเดียว
อลีสัน แชฟเฟอร์ นักบำบัดท่านหนึ่ง ได้เปิดเผยเรื่องราวบนหนังสือว่า “แผลเป็นในใจของเด็ก ส่วนมากแล้วมาจากการบังคับของคุณพ่อคุณแม่ สิ่งนี้เองจะส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กในอนาคต”
“วางของเล่นเดี๋ยวนี้”
“พ่อ/แม่ สั่งได้ยินมั้ย?”
“พ่อ/แม่ สั่งต้องทำตามสิ!”
ประโยคเหล่านี้ได้ฟังแล้วเป็นงัยค่ะ เผด็จการใช่มั้ย คุณพ่อคุณแม่คะ อย่างที่บอกว่าถ้าเด็กได้เจอกับประโยคเหล่านี้หรือกับการเลี้ยงดูแบบนี้บ่อย เค้าจะซึมซับทั้งคำพูดและพฤติกรรมนะคะเค้าจะเป็นเด็กพูดน้อย ดูเหมือนเชื่อฟัง เมื่ออยู่ที่บ้าน แต่เค้าจะนำพฤติกรรมและคำพูดแบบนี้ไปใช้กับเพื่อนที่โรงเรียน หากเพื่อนคนไหนไม่ยอมทำตามที่เค้าบอกเช่นเดียวกับที่คุณพ่อคุณแม่ทำกับเค้า สุดท้ายเด็กจะไม่มีเพื่อน ส่งผลต่อการเข้าสังคมในอนาคตค่ะ
2.เลี้ยงลูกแบบผู้บริหาร
อลีสันได้อธิบายการเลี้ยงลูกแบบผู้บริหารไว้ว่า การเลี้ยงแบบนี้เป็นการแสดงออกถึงความเป็นกลางระหว่างเผด็จการและแบบให้อิสระ คล้ายๆ กับผู้บริหารระดับสูงที่มีทั้งพระเดชพระคุณนั่นเองค่ะ
การเลี้ยงลูกแบบนี้คุณพ่อคุณแม่จะให้อิสระลูกในการตัดสินใจ หากผิดพลาดก็ให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาดนี้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังไม่ได้ให้อิสระไปซะทุกเรื่องนะคะ คุณพ่อคุณแม่ยังคงเฝ้ามองอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ พร้อมที่จะให้คำแนะนำควบคู่กันไป ถ้าหากทำผิดกฎขึ้นมา ก็จะมีการลงโทษคล้ายๆ กับเวลาที่เราทำงาน เวลาเราทำผิดกฎบริษัท เราก็ต้องถูกลงโทษเช่นกัน
จากผลการศึกษาเด็กกลุ่มนี้พบว่า คุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวิธีนี้จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เด็กมีความมั่นใจและเป็นเด็กที่ประสบความสำเร็จได้เมื่อพวกเค้าเติบโตขึ้น ที่สำคัญ เด็กจะมีความสุข เพราะเค้าจะรู้สึกว่าไม่ถูกกดดันหรือบีบบังคับจากครอบครัว แถมยังได้สนุกกับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองอีกด้วยค่ะ
3.เลี้ยงลูกแบบเพื่อน
อลีสันแนวความคิดไว้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกแบบนี้ว่า “การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนนั้น ถือเป็นการเลี้ยงแบบที่คุณพ่อคุณแม่มีความหละหลวมมากที่สุด” เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเล่าให้ฟังทุกเรื่อง เป็นเพื่อนคุยได้ทุกเรื่อง ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ซึ่งอันที่จริงแล้วบางทีอาจมองข้ามเรื่อง “ความเหมาะสม” ไป
การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนก็มีข้อดีค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมมองความเป็นจริงนะคะ เพราะความเป็นเพื่อนจะส่งผลให้เด็กไม่รู้จักกาลเทศะ ชอบการแข่งขัน ชอบเอาชนะ เมื่อโตขึ้นเค้ายังคงชินกับทำแบบนี้ อาจไปตั้งกลุ่ม ตั้งแก๊ง หรือเป็นนักเลงได้
4.เลี้ยงแบบให้โตไปวันๆ
อีลีเนอร์ แมคโคบีย์ ศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า การเลี้ยงดูลูกแบบไม่สนใจนี้ นับเป็นการเลี้ยงลูกที่ผิดที่สุด และยังอันตรายถึงชีวิตลูกอีกด้วย เช่น เวลาที่ลูกไห้แล้วปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ลูกถามอะไร ต้องการอะไร เล่นอะไรก็ไม่สนใจฟัง ไม่พูด ไม่ตอบ หรือแม้จะเอ่ยปากถามอะไรลูกซักคำก็ไม่มี สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ รู้สึกเศร้า เหงา เหมือนไม่มีที่พึ่ง และจะเป็นเด็กเก็บตัวในที่สุด พอเค้าเติบโตขึ้น เค้าก็จะทำทุกอย่างที่อยากทำคิดเอง ตัดสินใจเองโดยที่ไม่สนใจหรือไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน
เป็นงัยกันบ้างคะ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีการเลี้ยงลูกแบบไหนกันบ้างคะ อย่าลืมนะคะ เราเลี้ยงลูกแบบไหนก็จะได้ลูกแบบนั้น