ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเรื่องของการสื่อสาร “ภาษาอังกฤษ” นับว่าเป็นภาษาที่สองที่คนทั่วโลกใช้กัน ดังนั้นจึงไม่แปลกหากคุณพ่อคุณแม่จะมีความต้องการที่จะให้ลูกของตัวเองพูดภาษาอังกฤษได้ ก็พยายามฝึก พยายามค้นหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยลูก แต่เอ๊ะ…ฝึกเท่าไหร่ ลูกก็ไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษสักที วันนี้เรามาดูกันค่ะว่าผู้ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้นั้นมีข้อดีอย่างไร และที่สำคัญ โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจและหาสาเหตุกันค่ะ เพื่อที่เราจะได้ปรับวิธีการของเราได้อย่างถูกต้อง
ข้อดีของผู้ที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้
ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ
เพราะผู้ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้นั้น ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนทั่วโลก ก็สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ความมั่นใจจึงมาเต็ม
ช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์
เพราะการเรียนภาษานั้นต้องอาศัยการลองใช้ศัพท์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา บางคำมีความหมายเดียวกันแต่คนละคำศัพท์กัน ทำให้เด็ก ๆ ได้ลองใช้คำโน้น คำนี้มาเติมดู ก็เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้ค่ะ
เป็นคนฉลาด
ในแต่ละภาษาย่อมมีการเรียนเรื่องคำศัพท์ และยิ่งถ้าเราได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ มากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการฝึกความจำอยู่ตลอดเวลา มีงานวิจัยพบว่าการเรียนภาษาอังกฤษนั้นจะสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย และที่สำคัญเด็กคนนั้นจะมีไอคิวที่สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนค่ะ
จะเรียนรู้ภาษาอื่นก็ง่าย
เพราะเมื่อเราได้เรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องมีเรื่องของคำศัพท์ ไวยากรณ์ และ Tense แล้ว เวลาที่เราต้องการศึกษาภาษาอื่นเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องง่ายแล้วค่ะ
ท่องเที่ยวได้สนุกมากกว่า
เพราะเหมือนเราไม่มีกำแพงใด ๆ จะมากั้นได้แล้ว เนื่องจากเราสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ไม่ต้องเสียเงินจ้างไกด์หรือจ้างล่ามไปด้วย
ได้รู้จักผู้คนใหม่ ๆ
เด็ก ๆ จะได้รู้จักกับคนใหม่ ๆ ที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น เป็นเหมือนการเปิดประสบการณ์ชีวิตในแง่มุมใหม่ ๆ ได้มากทีเดียว
สร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ข้อนี้เป็นความได้เปรียบด้านการงานอย่างเห็นได้ชัด เด็ก ๆ จะได้รับโอกาสดี ๆ ในการทำงาน เรียกได้ว่าสามารถเลือกบริษัทที่เด็กต้องการทำงานได้เลยทีเดียว (แต่…คุณสมบัติต้องตรงกับที่ทางบริษัทฯ ต้องการด้วยนะคะ) เงินเดือนก็จะสูงกว่าด้วยค่ะ
สาเหตุที่ลูกไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ
อ่ะ…ทีนี้คุณพ่อคุณแม่คะ เรากลับมามองในครอบครัวกันบ้างดีกว่า ว่าเอ…คุณพ่อคุณแม่เองก็สรรหาของเล่นต่าง ๆ พยายามชวนลูกพูดภาษาอังกฤษแล้ว แต่ทำไมลูกไม่พูดภาษาอังกฤษสักที หรือถ้าพูดก็พูดน้อยมาก
เป็นช่วง Silent Period
ย้อนกลับไปเรื่องของพื้นฐานพัฒนาการของเด็กกันก่อน เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ช้า-เร็วต่างกัน ซึ่งช่วง Silent Period ก็คือ ช่วงที่เด็กยังนิ่งเงียบ เพื่อเก็บข้อมูลอยู่ เด็กบางคนไปคนที่กล้าพูด ลุย ๆ กล้าคิด กล้าทำ กล้าถาม แบบนี้ก็จะพูดได้เร็วกว่าเด็กที่ขี้อาย เพราะเดิมทีเด็กที่ขี้อายก็จะไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว ยิ่งเจอคำถามภาษาอังกฤษเข้าไปนี่ก็ยิ่งเงียบเลย ไม่เข้าใจหรือบางทีเข้าใจนะ แต่ไม่รู้จะตอบยังไง
พ่อแม่ไม่พูดภาษาอังกฤษอย่างสม่ำเสมอ
จะจำกันได้ไหมนะ โน้ตเคยเขียนบทความไว้เกี่ยวกับการสอนลูกพูดสองภาษา หนึ่งในนั้นก็คือ ให้คุณพ่อคุณแม่พูดภาษาอังกฤษกับลูกโดยที่ไม่ต้องแปลให้ลูกฟัง ไม่ต้องพูดไทยคำ อังกฤษคำ เน้นให้ลูกรู้ไปเลยค่ะว่า ไอเจ้าตากลม ๆ หูสามเหลี่ยม ลักษณะเหมือนเสือแต่ตัวเล็กกว่านี้ เรียกว่า CAT
เพื่อนพูดแต่ภาษาไทย
เพื่อนไม่เล่นด้วย ในที่นี้ค่ะ ไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษด้วย ลูกพูดภาษาอังกฤษ แต่เพื่อนพูดภาษาไทย ลูกอาจจะสนุก แต่เพื่อนจะเบื่อเพราะไม่เข้าใจ ก็เลยทำให้ลูกเราไม่สนุกไปด้วย
รู้สึกถูกกดดันว่าต้องพูดให้ได้
“นั่นแหละคือ ความกดดันที่ฉันต้องทนต้องเจอ” 555 พี่แอม เสาวลักษณ์มาเอง กลับมาเรื่องเด็กดีกว่า คือ ถ้าเด็กรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่กดดันเขา แม้น้ำเสียงที่พูดของคุณพ่อคุณแม่จะนุ่มนวลดุจปุยเมฆ แต่ลูกก็ยังสัมผัสได้ถึงความกดดันภายใต้เมฆนั้นอยู่ดี ระวังนะคะ จะบิ้วท์ลูกก็บิ้วท์ให้ถูกทางเน้อ ยกตัวอย่าง เช่น มีเด็กคนหนึ่งอายุพอ ๆ กับลูกในทีวีพูดภาษาอังกฤษได้ปร๋อเลย คุณพู่อคุณแม่ต้องการจะบิ้วท์ลูก แต่ดันไปพูดว่า “เห็นมั้ย…เค้าอายุพอ ๆ กับลูกเลย พูดภาษาอังกฤษเก่งจัง” ถ้าลูกคิดดีก็ดีไป แต่ถ้าลูกคิดไปอีกทางก็กลายเป็นยิ่งบั่นทอนจิตใจลูกไปอีก
ถูกแก้คำผิดอยู่เสมอ
ข้อนี้เข้าข่าย “พ่อแม่ Perfectionist” ทุกอย่างต้องถูกหมด ลูกพูดอะไรออกมาแต่ละครั้งจมีผิดบ้างเล็กน้อยคุณพ่อคุณแม่มักจะแก้ให้ลูกอยู่เสมอ ทำให้ลูกขาดความมั่นใจที่จะพูด ทางที่ดี ปล่อยให้ลูกมาเลยค่ะ ถูกบ้าง ผิดบ้าง แก้ไขบ้าง ปล่อยไปบ้าง ไม่เป็นไรหรอก เขาจะค่อย ๆ เรียนรู้เองค่ะเมื่อโตขึ้น
การสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็ก ๆ จะได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ในชีวิตมากมาย แต่การกดดันลูกมากเกินก็จะกลายเป็นผลเสีย และอาจจะเสียในระยะยาวอีกด้วยนะคะ คุณพ่อคุณแม่ลองใจเย็น ๆ ค่อยกลับทบทวนกันดูว่าเรามีอะไรที่ตึงไปกับลูกหรือเปล่า แล้วค่อย ๆ ปรับนะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ