“ตัวแสบประจำบ้าน” คงไม่ใช่ใครทีไหนก็ลูกของคุณพ่อคุณแม่เองใช่ไหมคะ แต่เพราะความแสบจนบางครั้งก็กลายเป็นความดื้อ ที่ทำให้บางครั้งเวลาที่คุณแม่สอนอะไรก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยฟัง ทำให้คุณแม่ต้องตะโกนหรือตะคอกใส่ลูกด้วยความโมโห แต่รู้หรือไม่ค่ะว่าการที่คุณแม่ตะคอกใส่ลูกนั้นยิ่งจะทำให้ลูกไม่ฟังคุณแม่มากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นก่อนจะสอนลูกหรือจะพูดอะไรกับลูก คุณแม่ควรตั้งสติ แล้วทำดังนี้ค่ะ
สารบัญ
เทคนิคที่จะทำให้ลูกฟัง โดยที่แม่ไม่ต้องตะคอก
ย่อตัวให้อยู่ในระดับเดียวกับลูก
ข้อนี้เรียกได้ว่าเป็นเรื่องของ “จิตวิทยาท่าทาง” ก็คงจะไม่ผิดนัก โดยทุกครั้งเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะพูดหรือจะสอนอะไรกับลูก ให้ย่อตัวนั่งลง เพื่อให้อยู่ในระดับสายตาของลูก เพราะ “ดวงตา” เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลัง เป็นส่วนที่สามารถบอกความรู้สึกได้ดีที่สุด ใช้ดวงตาสื่อสารกับลูกขณะพูด ให้ลูกได้รู้ว่า “สิ่งที่คุณแม่พูดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ” และที่สำคัญการที่คุณแม่ย่อตัวลงให้อยู่ระดับเดียวกันกับลูกแทนการที่คุณแม่ยืนและก้มหัวลงเพื่อสื่อสารกับเค้า ก็เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่า “เค้ากำลังถูกสั่งมากกว่าการสอนด้วยความรัก ความห่วงใย”
เรียกชื่อลูกระหว่างพูดกับลูก
การเรียกชื่อลูกก็เพื่อทำให้ลูกรู้สึกว่า “นี่คือเรื่องส่วนตัว” และ “นี่ก็คือเรื่องของเค้า” เป็นเรื่องที่เค้าต้องตั้งใจฟัง ไม่มีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเลย
ใช้น้ำเสียงและท่าทีที่อ่อนโยน นุ่มนวล
“ตั้งสติ” คำนี้คุณพ่อคุณแม่คงได้ยินกันบ่อย เข้าใจค่ะว่ามันอาจทำได้บ้าง ไม่ได้บ้างในช่วงแรก แต่…ต้องทำค่ะ ที่บอกว่าต้องตั้งสติก็เพราะว่า การระเบิดอารมณ์ตะคอกใส่ลูก มันก็จะเข้าอีหรอบเดิม ลูกก็จะไม่ฟังสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอน
กลับกันหากคุณพ่อคุณแม่สามารถตั้งสติได้ สูดหายใจลึก ๆ แล้วเขาไปพูดกับลูกด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่อ่อนโยน ทว่ามั่นคง ให้ลูกรู้ว่าเราพูดตามไหน ตามนั้น พูดจริง ทำจริง ลูกก็จะเรียนรู้ได้เองค่ะว่าแม้คุณพ่อคุณแม่จะใช้น้ำเสียงอย่างนี้ก็ตาม แต่ก็จริงจังนะ
พูดให้กระชับ ใช้คำง่าย ๆ
เพราะสมาธิเด็กยังสั้น การที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนหรือจะอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ให้ลูกฟัง ควรพูดให้กระชับ ไม่ยืดยาว และพูดให้ตรงประเด็นไปเลย ไม่อย่างนั้นลูกจะสติหลุดและจะไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการสื่อสารได้
ตั้งใจ และเปิดใจฟังในสิ่งที่ลูกพูด
ในระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่ย่อตัวลงให้อยู่ในระดับเดียวกับลูกนั้น การสื่อสารจะไม่ได้เป็นไปแบบทางเดียวอีกต่อไป คุณพ่อคุณแม่ควรเว้นวรรคเพื่อให้ลูกได้อธิบาย พร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ก็ควรเปิดใจฟังในสิ่งที่ลูกพยายามอธิบายด้วยนะคะ ลองมองจากมุมของลูกดู ซึ่งที่สำคัญ ลูกเพิ่งโตมาไม่กี่ปีเอง ประสบการณ์ลูกยังน้อย อีกทั้งยังไม่รู้วิธีการจัดการในอะไรหลาย ๆ อย่าง บางครั้ง การที่คุณพ่อคุณแม่เปิดใจฟังลูกด้วยความเข้าใจ และไม่คาดหวัง เราอาจได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ จากลูกก็ได้นะคะ
พูดในแง่มุมที่แสดงความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่
อาทิ “แม่เสียใจที่หนูแกล้งเพื่อนนะคะ” ซึ่งเป็นการบอกให้ลูกรู้ว่าการกระทำแบบนั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนอื่น รวมถึงความรู้สึกของคุณแม่ด้วย การพูดแบบนี้จะทำให้ลูกรับรู้ความรู้สึกและเค้าจะเข้าใจได้มากกว่าการที่จะบอกว่า “ลูกทำผิด” ค่ะ
หรือ…จะพูดอย่างนี้ก็ได้ค่ะ เช่น “แม่ไม่อยากให้หนูทุบประตู เพราะแม่ไม่อยากให้มือหนูเจ็บ ถ้าหนูเจ็บ แม่ก็เจ็บ และเสียใจเหมือนกัน”
แสดงให้ลูกรู้ว่าคุณเข้าใจ ด้วยการทวนคำพูดของลูก
เวลาที่คุณพ่อคุณแม่สอนลูก ก่อนที่จะจบการสอน คุณพ่อคุณแม่ต้องทวนความเข้าใจลูก ด้วยการให้ลูกพูดทวนก่อนใช่ไหมค่ะ แบบนี้ก็เช่นกันค่ะ เมื่อลูกพูดจบให้คุณพ่อคุณแม่พูดทวนในสิ่งที่ลูกสื่อสารกับเรา ด้วยการพูดทวนเช่นกัน สิ่งนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจฟังเค้า และเข้าใจเค้าจริง ๆ
จะเห็นได้ว่าการที่อยากให้ลูกฟังคุณพ่อคุณแม่นั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องฟังลูกด้วยเหมือนกัน และที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ๆ ไม่หัวร้อน เผลอตะคอกใส่ลูก เพราะการตะคอกเท่ากับการตีเลยทีเดียวค่ะ