“การอยู่ไฟ” นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในสมัยก่อนที่เชื่อกันว่าร่างกายของคุณแม่หลังคลอดจะมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสรีระ หน้าท้อง ต้นขา (เพราะคุณแม่บางท่านมีเส้นเลือดขอดเป็นจำนวนมาก) หรือมีอาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อขา จึงได้คิดวิธีที่จะทำให้ร่างกายได้ฟื้นฟูเร็วแต่อาศัยสมุนไพรตามธรรมชาติ
ปัจจุบันอาจมีคุณแม่บางท่านที่ไม่ค่อยรู้จักแล้วว่าการอยู่ไฟมีกี่ประเภท? มีข้อห้ามอะไรบ้าง? หากมีโรคประจำตัวจะอยู่ไฟได้มั้ย? วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ
Youtube : 7 ข้อห้าม 7 ความเชื่อ ในช่วงอยู่ไฟ
สารบัญ
ประเภทของการอยู่ไฟ
การอยู่ไฟสมัยโบราณ
คุณแม่จะนอนบน “กระดานไฟ” แล้วเอากองไฟมาไว้ใต้กระดานเรียกว่า “อยู่ไฟญวน” หรือ “ไฟแคร่” แต่จะมีสังกะสีปิดบนกองไฟอีกทีนะคะ
แต่หากเอากองไฟมาไว้ข้างๆ เรียกว่า “อยู่ไฟไทย” หรือ “ไฟข้าง” โดยคุณแม่จะต้องอยู่ในเรือนไฟ 7-15 วัน ห้ามออกไปข้างนอก เพราะไม่เช่นนั้นร่างกายจะปรับอุณหภูมิไม่ทัน อาจทำให้จับไข้ได้
คุณแม่ต้องดื่มเฉพาะน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นเท่านั้น และงดอาหารแสลงหลายอย่าง จะทานได้ก็เฉพาะข้าวต้มกับเกลือหรือปลาเค็ม คนในสมัยก่อนเชื่อกันว่าจะเข้าไปทดแทนเกลือที่ร่างกายต้องเสียไปจากการอยู่ไฟ
การอยู่ไฟสมัยใหม่
เพราะยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไป ตึกรามบ้านช่องก็เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นการที่จะมาให้ก่อไฟ หรือจัดเป็นเรือนไฟอย่างสมัยก่อนคงจะลำบาก ยุคนี้จะปรับเปลี่ยนมาเป็นอยู่ไฟเฉพาะจุด ไม่ต้องอบทั้งตัว ที่นิยมใช้กันมี 2 วิธี คือ
กระเป๋าน้ำร้อน
ใช้กระเป๋าน้ำร้อนมาวางบนหน้าท้อง เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดลง แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำร้อนเกินไปหรือกระเป๋ารั่วนะคะ อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่ได้ค่ะ
ชุดคาดไฟ
เป็นชุดที่ประกอบไปด้วยกล่องอะลูมิเนียม สำหรับใส่เชื้อจุดไฟ ลักษณะสายคาดเอวจะมีความหนาประมาณเกือบคืบ ใช้ 3-4 กล่อง แล้วจุดไฟใส่กล่องเพื่อให้ความร้อน คุณแม่บางท่านใช้ผ้าพันที่สายคาดให้หนาประมาณนึงก่อน เพื่อกันไม่ให้หน้าท้องร้อนเกินไป เพราะหน้าท้องอาจร้อนจนไหม้ได้
การอยู่ไฟร่วมสมัย
ปัจจุบันมีการแพทย์แผนใหม่เข้ามาแทนที่ ผนวกกับมีการส่งเสริมให้คุณแม่อยู่ไฟด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์กันมาขึ้น การอบหรืออาบสมุนไพรจึงถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ไฟด้วย แต่หลักก็จะมีอยู่ 4 วิธี ดังนี้ค่ะ
นวดประคบ
ใช้ลูกประคบร้อนที่ใส่สมุนไพรนับ 10 ชนิด เช่น ขมิ้น ตะไคร้ การบูร ใบส้มป่อย เถาเอ็นอ่อน ฯลฯ มานวดคลึงตามร่างกายและเต้านม หรือนั่งทับบนลูกประคบ 1 ลูก เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยและรักษาแผลหลังคลอด
เข้ากระโจมและอบสมุนไพร
ถือเป็นขั้นตอนหลักของการอยู่ไฟเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะการอยู่ไฟจะช่วยให้ร่างกายขับของเสียออกทางรูขุมขน ทำให้ผิวพรรณสดใส ในกระโจมจะมีม้านั่ง และหม้อต้มน้ำให้เดือดและใส่สมุนไพรวางไว้ภายในกระโจม สมุนไพรที่ใช้จะเป็นสารระเหย อาทิ
- มะกรูด ตะไคร้ ช่วยให้ระบบหายใจคล่องขึ้น
- การบูร พิมเสน ช่วยให้หายสดชื่น
- ไพร ช่วยลดอาการปวดเมื่อย
- ขมิ้นชัน ลดอาการเคล็ดขัดยอก
- ผักบุ้งแดง บำรุงสายตา เป็นต้น
นาบหม้อเกลือ
“การนาบหม้อเกลือ , การทับหม้อเกลือ หรือการนึ่งหม้อเกลือ” 3 ชื่อนี้คืออันเดียวกันค่ะ จะใช้หม้อดินเผาเล็กๆ ใส่เกลือเม็ด เอาไปตั้งไฟให้ร้อน วางลงบนใบพลับพลึง ใช้ผ้าห่อรอบอีกชั้นหนึ่ง ใช้ประคบหรือนาบไปตามตัวค่ะ
7 ข้อห้ามตามความเชื่อหลังคลอด
- ห้ามสระผมเป็นเวลา 45 วัน เพราะขณะที่คุณแม่คลอดจะเสียเลือดมาก หากก้มๆ เงยๆ มากอาจทำให้คุณแม่หน้ามืดได้ค่ะ
- ห้ามอาบน้ำเย็น เพราะน้ำเย็นจะทำให้รูขุมขนปิด ร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกมาได้ หากต้องการอาบเย็นจริงๆ อดทนให้ผ่าน 45 วันไปก่อนนะคะ
- ห้ามใช้สายตามาก ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ หรือหากจำเป็นก็ใช้เวลาให้น้อยที่สุดนะคะ อดทน (เช่นกัน ^^) ให้พ้น 45 วันก่อน
- ห้ามโดนแดดแรงๆ หรือโดนฝน เพราะร่างกายคุณแม่ยังไม่แข็งแรงพอที่จะไปอยู่ในที่ร้อนนานๆ ค่ะ อาจทำให้เมื่อแก่ตัวไป ร่างกายจะเจ็บป่วยง่าย
- หากเพิ่งผ่าคลอดมาสดๆ ร้อนๆ ห้ามนั่งยองๆ นะคะ เพราะมดลูกขะเข้าอู่ช้า
- ไม่ควรกินของแสลงจำพวกของหมักดอง อาจทำให้แผลหายช้า
- ไม่ดื่มน้ำเย็น เพราะจะทำให้น้ำนมแห้ง
7 ข้อห้ามในการอยู่ไฟ
- ไม่ควรอยู่ไฟหรืออบสมุนไพร ขณะมีไข้สูง (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส) เพราะอาจติดเชื้อได้
- ผู้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงทุกชนิด
- มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหอบหืดระยะรุนแรง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดรุนแรง คนที่มีความดันโลหิตสูง 180 มิลลิเมตรปรอท จะอบได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในดุลยพินิจของคุณหมอ และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดนะคะ
- มีประจำเดือน และมีไข้ร่วมด้วย
- มีการอักเสบจากบาดแผลต่างๆ
- อ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร หรือหลังทานอาหารใหม่ๆ
- ปวดศีรษะชนิดรุนแรง คลื่นไส้
การอยู่ไฟ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ก่อนคุณแม่จะอยู่ไฟ ควรศึกษาให้ละเอียดก่อนนะคะแล้วค่อยเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองค่ะ