หลังคลอดลูก สิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องดูแลให้มากๆ คือ ลูกน้อยและตัวคุณแม่เอง โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นมลูก มีอาหารหลายๆ อย่างที่คุณแม่ควรเลี่ยงไม่ทาน เพราะสารอาหารจากอาหารที่คุณแม่ทานไปนั้นจะส่งถึงลูกน้อยผ่านน้ำนมแม่ค่ะ
สารบัญ
8 อาหารที่แม่ให้นมห้ามทาน
อาหาร ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ของหมักดอง
อาทิ เลม่อน ส้ม สับปะรด หรืออาหารที่มีส่วนผสมของน้ำส้มสายชู เมื่อทารกทานนมแม่เข้าไป อาจทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร เพราะอวัยวะของเค้ายังไม่พร้อมที่จะรับรสชาติอาหารหรือผลไม้เหล่านี้ หากทารกได้รับเข้าไป จะส่งผลให้ทารกมีอาการปวดท้องหรือท้องเสียได้ค่ะ
อาหาร ยา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ต้องบอกว่าในอาหารบางชนิดใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม หรือแม้แต่ยาบางชนิดก็มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมเช่นกัน เพราะหากคุณแม่ทานแอลกอฮอล์เข้าไป แล้วต้องไปให้นมลูกต่อ จะส่งผลเสียต่อระบบประสาท ทำลายเซลล์สมอง รวมไปถึงพัฒนาการต่างๆ ที่อาจหยุดชะงักได้
ผักที่มีแก๊สมาก
ตามความเข้าใจเรา “ผัก” คือ อาหารที่มีประโยชน์ใช่ไหมคะ? แต่…ผักแต่ละชนิดก็จะดีและมีคุณสมบัติที่ต่างกันอยู่ สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นม ผักที่ควรเลี่ยงก็คือ ผักที่มีแก๊สมาก อาทิ บรอกโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ รวมไปถึงผักสดบางชนิด เพราะถ้าลูกได้รับนมแม่ที่ทานผักดังกล่าว ก็จะทำให้ลูกท้องอืด ร้องไห้งอแงได้ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ให้ทานแบบสุกดีกว่าค่ะ
อาหารที่มีกลิ่นแรง
อาหารที่มีกลิ่นแรงจะส่งผลให้น้ำนมมีกลิ่นที่เปลี่ยนไปด้วย ทำให้ลูกไม่ยอมทานนม แม่อาจงานเข้าได้ เพราะลูกจะร้องไห้หิวอีกนานเลย อาหารที่มีกลิ่นแรง อาทิ ผักชี กระเทียม ยี่หร่า ผักกระเฉด หรือจะเป็นผลไม้อย่างทุเรียนก็มีกลิ่นแรงเช่นกัน
ขนมและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ที่เรารู้จักกันดี อาทิ ชา กาแฟ ช้อคโกแลต และน้ำอัดลม หากคุณแม่ที่มีลูกน้อยอายุได้ซัก 1-2 เดือน ร่างกายและระบบการย่อยอาหารของเค้านั้นยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ และร่างกายยังไม่สามารถกำจัดสารคาเฟอีนออกมาได้ ก็จะทำให้สาราเฟอีนตกค้างในร่างกายลูกได้ แต่หากลูกอายุเกิน 3 เดือนไปแล้ว ก็พอทานได้ค่ะ แต่ก็ไม่ควรทานเยอะนะคะ
อาหารเสี่ยงแพ้
ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีสารอาหารประเภทโปรตีนเชิงซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในนมวัว ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ปลา ข้าวโพด ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ด้วยค่ะ เช่น ขนมเค้ก ขนมปังอบ คุกกี้ เป็นต้น เหล่านี้อาจทำให้ลูกแพ้โปรตีนได้ เช่น โปรตีนจากนมวัว เป็นต้นค่ะ
อาหารที่มีรสจัด
ข้อนี้รวมถึงอาหารที่มีรสเผ็ดด้วยนะคะ เพราะรสชาติอาหารที่เผ็ดจะทำให้ลูกปวดท้องหรือท้องอืดได้ เมื่อลูกน้อยทานนมแม่เข้าไป แต่อาหารที่มีรสเผ็ดแบบสมุนไพร คุณแม่ทานได้นะคะ เช่น กะเพราะ พริกไทย หรือขิง เป็นต้นค่ะ ที่สำคัญ สมุนไพรเหล่านี้ยังช่วยกระตุ้นในเรื่องการช่วยผลิตน้ำได้อีกต่างหากค่ะ
ปลาทะเลน้ำลึก
ปลา…ไม่ได้ทำให้ลูกปวดท้องอะไรทั้งสิ้นค่ะ แต่ “สารปรอท” ในปลานี่สิ น่าห่วงกว่า เพราะสารปรอทในปลาอาจซึมซับเข้าสู่น้ำนมแม่ได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ได้ออกมาให้คำแนะนำว่า
“คุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นมลูกควรทานปลาอย่างน้อย 2 มื้อต่ออาทิตย์โดยประมาณ แต่ควรเลือกทานปลาและอาหารทะเลชนิดอื่นๆ ที่มีสารปรอทเจือปนน้อย อาทิ กุ้ง ปลาดุก แซลม่อน เป็นต้น”
**ปลาที่คุณแม่ควรเลี่ยง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาฉลาม ปลากระโทง ปลาอินทรีย์ เป็นต้น
เพราะความที่คุณแม่ลูกอ่อนต้องดูแลตัวเองให้มากๆ ต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน เพราะทุกอย่างที่คุณแม่ทานเข้าไป สารอาหารดังกล่าวก็จะถูกส่งถึงทารกได้ผ่านน้ำนม แม่ทานอะไร ลูกก็ได้ทานอย่างนั้นเป็นเรื่องจริงค่ะ โน้ตเคยผ่านจุดนี้มาก่อน ที่ต้องงดอาหารที่ชอบ เพราะอยากให้ลูกได้รับสารอาหารที่ดี ที่เป็นประโยชน์ต่อเค้าให้ได้มากที่สุด คุณแม่ท่านไหนเป็นเหมือนกัน…หรือกำลังให้นมลูกอยู่อดทนอีกซักนิดนะคะ เมื่อเค้าโตขึ้น เค้าก็จะไม่ได้ทานนมเราค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ