“ทำยังไงดี ลูกกินนมไม่เกลี้ยงเต้าเลย เค้าจะได้รับสารอาหารครบไหมนะ?”
“เฮ้อ…ค่อยยังชั่วหน่อย วันนี้ลูกดูดนมได้เกลียงเต้าเลย”
คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่จะได้ยินคำนี้บ่อย เพราะอาจได้รับคำแนะนำต่อๆ กันมาว่า “ต้องให้ลูกดูดให้เกลี้ยงเต้าหรือปั๊มนมก็ต้องให้เกลี้ยงเต้า” แต่ความจริงแล้วสำหรับคุณแม่บางท่านที่เมื่อลูกกินนมอิ่มแล้ว และรู้สึกว่ายังไม่เกลี้ยงเต้าก็ใช้เครื่องปั๊มช่วยปั๊มนมออกมา แถมพอปั๊มเสร็จก็ยังมีน้ำนมไหลออกมาอยู่
“อ้าว…ทำยังไงถึงจะเกลี้ยงเต้า?”
วันนี้โตจะมาเล่าให้ฟังค่ะว่า “นมเกลี้ยงเต้า” จะเป็นไปได้หรือไม่? อย่างไร?
สารบัญ
ความจริงเกี่ยวกับ “นมเกลี้ยงเต้า”
สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกตลอดเวลานั้น คำว่า “เกลี้ยงเต้า” จะไม่มีในพจนานุกรมของคุณแม่เลยค่ะ ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณแม่เลิกให้นมลูกเท่านั้น น้ำนมของคุณแม่ก็จะหยุดผลิตหรือที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า “น้ำนมแห้ง” นั่นเอง
แต่ถ้าหากคุณแม่ยังคงให้ลูกกินนมแม่อยู่ น้ำนมของคุณแม่ก็จะเปิดโรงงานผลิตอยู่ตลอดเวลา น้ำนมก็จะถูกเก็บไว้ที่เต้านม เมื่อพื้นที่จัดเก็บเต็ม คุณแม่ก็จะรู้สึกว่า “คัดเต้า” เพราะน้ำนมใหม่ที่ถูกผลิตออกมาไม่มีที่เก็บซึ่งคุณแม่ต้องหาทางระบายออกด้วยการให้ลูกดูดหรือไม่ก็ปั๊มออก เพื่อให้มีที่ว่างพอที่จะจัดเก็บน้ำนมใหม่ที่ยังคงผลิตต่อไปเรื่อยๆ
“ถ้าปล่อยให้เต็มบ่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้น?”
ถ้าปล่อยให้เต้าเต็มบ่อยๆ ร่างกายจะเรียนรู้ว่า “ความต้องการน้ำนม” ลดลง ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมน้อยลงเป็นลำดับค่ะ
แบบไหนดีกว่ากัน ลูกดูด vs เครื่องปั๊มนม
หัวข้อนี้ต้องบอกว่า ถ้าร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมมาได้พอดีๆ กับที่ลูกต้องการ ลูกก็จะดูดได้ดีกว่าเครื่องปั๊ม เพราะน้ำนมที่เหลือน้อยและลึกนั้น ลูกจะดูดได้ดีกว่า
แต่ถ้าร่างกายผลิตน้ำนมได้มากกว่าที่ลูกต้องการ ลูกจะเลิกดูดเมื่อเค้าอิ่ม ทำให้ยังมีปริมาณนมค้างอยู่ในเต้า แล้วเราใช้เครื่องปั๊มออกทำให้ได้นมออกมามากกว่าที่ลูกดูด ถึงแม้ว่าเค้ายังอมหัวนมแม่ แต่เค้าก็แค่ดูดเล่นไม่ได้กินนมจริงๆ
เพราะนมแม่ที่เหลือเยอะ ทำให้คุณแม่ต้องปั๊มนมออกหลังลูกกินอิ่ม ย้อนกลับไปเริ่มแรก เพราะคุณแม่ใช้เครื่องปั๊มนมหลอกร่างกายว่า “ฉันยังต้องการน้ำนมเพิ่มอีก”จึงทำให้น้ำนมผลิตออกมาเยอะตามไปด้วย แต่ถ้าให้ลูกดูดอย่างเดียว ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมออกมาได้น้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำนมจะไม่พอเลี้ยงลูกนะคะ เพียงแต่ต้องให้ลูกดูดตลอดเวลาโดยไม่ปั๊มออกเลย น้ำนมก็ยังพอค่ะ เพียงแต่ไม่ได้เหลือเก็บเท่านั้นเอง
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น…
ถ้าร่างกายตอบสนองได้ดีกับเครื่องปั๊มนม (ก็คือจะรู้สึกจี๊ดๆ ขณะปั๊ม มีน้ำนมพุ่งแรง อาจเกิดได้หลายครั้งในขณะที่ปั๊ม) ปั๊มเสร็จ (น้ำนมหยุดไหลหรือเต้านิ่ม)…
- เครื่องปั๊มสามารถระบายน้ำนมแม่ออกมาได้ถึง 80%
- หากบีบต่อด้วยมืออีกซักพัก ก็อาจได้น้ำนมออกมาอีกซัก 10%หลังจากนั้นอาจบีบไม่ค่อยออกแล้ว
- ซึ่งถ้าลูกดูดต่อ ก็จะสามารถดูดออกมาได้อีก 5%แต่ถ้าลูกหิวแล้วให้ลูกดูดช่วงนี้ ลูกร้องงอแงแน่นอน และเค้าจะหงุดหงิด เพราะน้ำนมเหลือน้อยแล้ว
- เหลือน้ำนมในเต้าอีก 5% ซึ่งถ้ารออีกซักประมาณ 2-3 นาที คุณแม่ก็จะบีบออกมาได้อีก ไม่มีทางเกลี้ยงเต้าจริงซักทีค่ะ
หาตัวช่วยในการเพิ่มน้ำนม
อยู่ใกล้ๆ เรานี่เอง “ลูก” เลยค่ะ ให้ลูกเป็นตัวช่วย ให้ลูกดูดข้างนึง แล้วปั๊มอีกข้างนึงไปพร้อมๆ กัน เพราะเวลาที่ลูกดูด กลไกของการหลั่งน้ำนมจะทำงานได้ดี ฝึกบ่อยๆ ก็จะรู้จังหวะเองค่ะ
เพราะฉะนั้นแล้ว คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ต้องกังวลว่านมจะไม่พอนะคะ ไม่ต้องกังวลเห็นแม่ๆ คนอื่นๆ มีนมสต้อคในตู้เหลือเฟือ ทำไมเราไม่มีเหมือนเค้ายิ่งเครียดน้ำนมจะยิ่งไหลน้อย เพียงแค่ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ นานเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ว่าจะลูกดูดหรือปั๊ม ขอให้ทำอย่างสม่ำเสมอและมีวินัยในตัวเองก็พอค่ะ
อ้างอิง brestfeedingthai.com