เพราะการเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ผนวกกับการที่ทารกยังไม่สามารถสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้เป็นคำพูด ดังนั้น ความท้าทายในการเลี้ยงลูกของคุณพ่อคุณแม่ใหม่ก็คือ การที่ต้องคอยสังเกตอาการของลูกน้อยแทบจะตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการให้นมลูก ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คุณพ่อคุณแม่จะมารู้อีกทีก็คือ ลูกแหวะนมแล้ว ดังนั้นวันนี้ โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจกันสักนิดเกี่ยวกับ Overfeeding กันค่ะ ว่า Overfeeding คืออะไร? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรา Overfeeding แล้ว อาการของลูกน้อยจะเป็นอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบค่ะ
สารบัญ
Overfeeding คืออะไร?
คือ การที่ทารกดื่มนมมากเกินไป จนส่งผลให้กระเพาะอาหารไม่สามารถย่อยน้ำนมนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลูกน้อยแหวะนมออกมา ซึ่งการแหวะนมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในทารกที่ดื่มน้ำนมแม่จากเต้าและดื่มน้ำนมจากขวด
วิธีสังเกตอาการ Overfeeding
หลังจากที่ลูกน้อยดื่มนมแล้ว ให้คุณแม่คอยสังเกตอาการดังต่อไปนี้ด้วยนะคะ ซึ่งถ้าลูกน้อยมีอาการตามด้านล่างนี้ แสดงว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมมากเกินไปค่ะ
- ลูกบิดตัวซ้ายบ้าง ขวาบ้าง มีการเอี้ยวตัว เหยียดแขนเหยียดขา พร้อมส่งเสียงอึ๊อ๊ะ
- มีเสียงครืดคราดในลำคอ ขณะหายใจ ฟังดูคล้ายมีเสมหะในลำคอ ซึ่งเสียงที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากน้ำนมที่ลูกน้อยดื่มเข้าไปแล้วล้นขึ้นมาที่คอหอย ลูกจะมีอาการที่คล้ายจะอาเจียน แต่ยังไม่อาเจียน
- ท้องโป่ง แข็ง ตึง ตลอดเวลา
- ลักษณะพุงจะกางตลอดเวลา คล้ายทรงของน้ำเต้า
- ร้องกวน ร้องไห้งอแงบ่อย เพราะรู้สึกไม่สบายตัว
- มีน้ำนมสำรอกออกมาทางปาก และจมูก
การป้องกัน Overfeeding
Overfeeding สามารถป้องกันได้ ดังนี้ค่ะ
หยุดป้อนนมหากลูกน้อยอิ่ม
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกอิ่ม? คุณแม่สามารถสังเกตอาการลูกน้อยได้โดย เมื่อลูกน้อยอิ่มลูกมักจะแสดงอาการเบือนหน้าหนี หรือปัดขวดนม แม้ว่าคุณแม่จะพยายามให้ลูกกินลูกก็จะพยายามปัดออกเช่นกัน ลูกเริ่มแสดงอาการหงุดหงิด ดูดนมช้าลง รวมไปถึงจะเว้นช่วงของการดูดนมที่นานขึ้น
พยายามใช้วิธีการเข้าเต้า
เนื่องจากการให้ลูกดื่มนมด้วยวิธีการเข้าเต้า ลูกน้อยต้องออกแรงดูดมากกว่าการดูดขวด ซึ่งถ้าลูกไม่ดูดน้ำนมก็จะไม่ออกมา ส่วนการดื่มนมด้วยขวด แม้ว่าลูกน้อยจะไม่ได้ดูดแต่น้ำจะไหลตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อลูกอิ่มด้วยการเข้าเต้าก็จะเป็นการหยุดการไหลออกของน้ำนมได้ ซึ่งเป็นการป้องกัน Overfeeding ได้นั่นเองค่ะ
ปริมาณน้ำนมที่ลูกต้องการในแต่ละวัน
การป้องกัน Overfeeding ของลูกน้อย คุณแม่จำเป็นที่จะต้องรู้ค่ะว่า ในแต่ละวันนั้นลูกน้อยมีความต้องการน้ำนมในปริมาณเท่าไหร่ จริงอยู่ว่าในเด็กแต่ละคนจะมีความต้องการที่แตกต่างกันไปแต่ก็มีค่าเฉลี่ยที่พอจะใช้เป็นแนวทางได้ ดังนี้
น้ำนมแม่
โดยทั่วไปแล้ว ทารกที่ดื่มน้ำนมแม่จะมีความต้องการที่จะดื่มน้ำนมแม่ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งคุณแม่สามารถใช้วิธีสังเกตอาการลูกน้อยได้ว่าอิ่มหรือไม่ จากการที่ลูกเบือนหน้าหนีไม่อยากเข้าเต้าแล้ว
น้ำนมผสม
สำหรับทารกที่ดื่มน้ำนมจากขวดหรือดื่มน้ำนมผสม ทารกจะต้องการปริมาณน้ำนมที่ 60-90 มิลลิลิตร และจะต้องการน้ำนมทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง
Overfeeding จะมีอันตรายต่อลูกไหม?
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจมีความกังวลว่าถ้า Overfeeding มากไปจะมีอันตรายหรือไม่? อาจตอบได้ว่าไม่ได้อันตรายร้ายแรงค่ะ เพียงแต่ว่าเมื่อลูกน้อยแหวะนมออกมาทางปากและจมูกแล้ว ในน้ำนมที่ลูกแหวะออกมานั้นจะมีน้ำย่อย ซึ่งเป็นกรดอ่อน ๆ ขึ้นย้อนมาที่หลอดลม และทางเดินอาหาร ทำให้ลูกน้อยมีอาการแสบร้อนกลางหน้าอก ซึ่งถ้าแหวะนมบ่อย ๆ น้ำกรดจากน้ำย่อยในกระเพาะจะกัดหลอดลม และหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดแผลได้ ลูกจะร้องงอแง เพราะไม่สบายตัว ที่สำคัญการ Overfeeding จะทำให้ลูกติดพฤติกรรมการกินจุ จนเกิดเป็นโรคอ้วนได้เมื่อเติบโตขึ้น
เรื่องของ Overfeeding สามารถป้องกันได้ เพียงแต่คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยค่ะ ว่าลูกมีพฤติกรรมดังที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือไม่ และที่สำคัญ เมื่อลูกดื่มนมไปแล้วสักครึ่งทาง ให้คุณแม่อุ้มลูกเรอเพื่อเป็นการไล่ลม และอีกหนึ่งครั้งหลังจากที่ลูกดื่มนมเสร็จ ป้องกันลูกน้อยท้องอืดด้วยนะคะ