ในช่วงที่แม่โน้ตตั้งครรภ์อยู่ความรู้สึกเราคือมีความสุขมากนะ เราไปไหนก็มีลูกไปด้วย ได้ชวนลูกพูดคุย เขาดิ้นตอบ คือสุขสุด ๆ ซึ่งในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่นั้นการที่คุณแม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ มีแต่ความสุข และรอยยิ้มเหล่านี้จะสามารถส่งต่อถึงลูกน้อยได้ เพราะฉะนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์คนไหนที่กำลังวิตกกังวล หรือเครียดอยู่ไม่ว่าจะจากเรื่องใดก็ตาม ลองนำเทคนิคคลายเครียดนี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ
สารบัญ
อาการวิตกกังวล
คุณแม่บางคนอาจจะรู้ตัวเองอยู่ว่ามีความวิตกกังวลเกิดขึ้น แต่ในขณะที่อีกหลายคนกังวลและเครียดโดยไม่รู้ตัว เราลองมาเช็คอาการกันสักหน่อยดีกว่าค่ะ
- คิดวนไปวนมากับเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ไม่สามารถปล่อยวางได้ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพของตัวเอง เรื่องการตั้งครรภ์ รวมไปถึงเรื่องของลูกน้อยในครรภ์
- ไม่สามารถควบคุมอาการวิตกกังวลของตัวเองได้ บางรายอาจแสดงออกด้วยการกัดเล็บ หรือแม้ไม่แต่การดึงผมของตัวเองทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ๆ
- มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ อาทิ หลับไม่สนิท นอนหลับยาก และนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นต้น
- มีความกระวนกระวายตลอดเวลา
- มีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ
- บางรายอาการตื่นตัวส่งผลให้เกิดอาการแพนิค บางรายมีความรู้สึกว่ากลัวบางสิ่งบางอย่างมากเสียจนไม่สามารถควบคุมตัวเอง หรือสงบสติอารมณ์ได้
- มีการหายใจติด ๆ ขัด ๆ ร่วมด้วยในบางราย
8 เทคนิคคลายเครียดให้แม่ท้อง
สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ
หากคุณแม่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีสมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า ให้หยุด แล้วตั้งสติ สูดลมหายใจเข้า-ออกลึก ๆ อย่างช้า ๆ จะทำเป็นท่านั่งสมาธิไปด้วยหรือจะเลือกนั่งท่าที่สบาย โดยการเอนตัวลงเบาะนิ่ม ๆ สบายก็ได้ค่ะ การสูดลมหายใจให้สูดเข้าทางจมูกลูก ๆ แล้วปล่อยออกมาทางปากยาว ๆ จะเรียกว่าเป็นการทำสมาธิเลยก็ได้ค่ะ จับที่ลมหายใจแบบอาณาปานสติ ทำจนกว่าคุณแม่จะรู้สึกสงบขึ้น
ดูหนัง หรืออ่านหนังสือขำขัน
การหัวเราะจนท้องแข็งไม่ได้แค่ดีต่อจิตใจเท่านั้น แต่ยังช่วยละระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ร่างกายจะหลั่งออกมาขณะเครียดได้อีกด้วยค่ะ นอกจากนี้การได้หัวเราะยังช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา
คิดในแง่บวก มองโลกในแง่ดี
ต้องบอกก่อนค่ะว่าการคิดบวกในวันที่แม่ปวดหลังจากการอุ้มท้อง (สมมตินะคะ) ไม่ได้เป็นการหลอกตัวเองนะคะ เพียงแต่การคิดบวกคือ การเลือกที่จะมองในแง่ดี ดังเช่นตัวอย่างการปวดหลังนี้ แง่ดีก็คือ ทำให้เราได้รู้ว่าลูกยังแข็งแรงดี มีน้ำหนักและพัฒนาการทางร่างกายที่สมบูรณ์เป็นไปตามวัย ทุกอย่างมี 2 ด้าน อยู่ที่เราเลือกมองนะคะ
จัดระเบียบทางความคิด
เพราะในบางครั้งบางวัน คุณแม่อาจต้องมีเรื่องให้ทำให้คิดมากมาย ดังนั้น เพื่อไม่ให้ความคิดในหัวสับสนวุ่นวายว่าจะทำอะไรก่อนหรือหลัง แนะนำว่าให้คุณแม่หากระดาษมาจดค่ะ ว่ามีในวันนั้น ๆ มีอะไรที่ต้องจัดการบ้าง แล้วเรียงลำดับความสำคัญ จากนั้นค่อย ๆ สะสางไปทีละข้อ
เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น
การเคลื่อนไหวร่างกายก็เพื่อช่วยในเรื่องระบบเผาผลาญในร่างกายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อทำให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรง รวมไปถึงยังช่วยเพิ่มระดับเอ็นโดรฟินที่ดีต่อร่างกายอีกด้วย
กินอาหารที่มีประโยชน์
กินอาหารที่มีประโยชน์ควรกินให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพียงแต่ในบางอย่างคุณแม่ควรควบคุม คือกินได้แต่กินให้น้อยลง ไม่ใช่ไม่กินเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นคาร์โบไฮเดรตหรือไขมัน รวมถึงเรื่องของอาหารที่หวานจัดค่ะ
พักผ่อนให้เพียงพอ
เพราะร่างกายของคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์นั้นต้องการการพักผ่อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากความเหนื่อยล้าจากอาการแพ้ท้อง หรือจากการอุ้มท้องที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
ตอนแม่โน้ตท้องก็มีงีบเหมือนกันค่ะ แต่สักแค่ 15-20 นาที ร่างกายก็จะรู้สึกสดชื่นแล้ว ที่สำคัญเมื่อร่างกายเราพักผ่อนได้เพียงพอ เราก็จะอารมณ์ดีขึ้นได้ค่ะ
ทั้งนี้ หากคุณแม่คนไหนที่มีงานอดิเรกที่ชื่นชอบ ทำแล้วมีความสุขแบบนี้ก็สามารถทำได้นะคะ เรียกได้ว่าขอให้คุณแม่มีกิจกรรมทำที่มีความสุข เท่านี้ลูกน้อยก็รู้สึกได้ และสามารถส่งต่อให้ลูกน้อยได้แล้วล่ะค่ะ