เรียกว่าเป็นอาการปกติของคุณแม่ท้องเลยก็ว่าได้ค่ะ กับอาการปวดเมื่อยต่างๆ ตามร่างกาย โดยเฉพาะยิ่งอายุครรภ์มากขึ้นก็จะยิ่งปวดเมื่อยมากขึ้น แต่ก่อนอื่นเราจะมาหาสาเหตุกันก่อนนะคะว่าอาการเมื่อยเกิดจากอะไร แล้วแก้ที่สาเหตุนั้น จะว่าไปผู้เขียนเองก็เคยไปนวดเหมือนกันนะคะ เพราะฉะนั้นวันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลดีๆ มาฝากค่ะ
Youtube : คนท้องนวดได้ไหม จะอันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า?
สารบัญ
สาเหตุของอาการปวดเมื่อยขณะอุ้มท้อง
ลองมาเช็คลิสต์กันค่ะคุณแม่ว่าอาการปวดเมื่อยต่างๆ เกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้หรือเปล่า
เดินหรือนั่งหลังค่อม
ซึ่งที่ถูกต้องแล้ว คุณแม่ควรเดินหรือนั่งให้หลังตรงเข้าไว้นะคะ หากคุณแม่ยังต้องทำงานอยู่และไม่ถนัดหากต้องเอนหลังพิงพนักโดยตรง ให้คุณแม่หาหมอนอิงใบใหญ่หน่อย มารองให้เต็มแผ่นหลัง คุณแม่จะได้นั่งทำงานได้สบายขึ้น
คุณแม่ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน พยายามลุกเดิน หรือเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 2 ชม.นะคะ จะช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ได้เคลื่อนไหวและออกกำลังบ้างค่ะ
ใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
วีธีที่ปลอดภัยที่สุด เมื่อคุณแม่รู้ว่าท้อง ควรเปลี่ยนรองเท้าแบบไม่มีส้นและพื้นรองเท้าเป็นยางกันลื่นจะปลอดภัยที่สุด ยิ่งถ้าตอนท้องอ่อนๆ ด้วยแล้วควรต้องยิ่งถนอมลูกน้อยในท้องมากเป็นพิเศษ เพราะหากลื่นล้มอาจเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้
เตียงนอนที่นุ่มหรือแข็งเกินไป
เพราะท้องคุณแม่จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และร่างกายต้องรับน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เตียงที่นุ่มหรือแข็งเกินไปอาจทำให้คุณแม่ปวดหลังได้ ควรเลือกแบบที่พอดีๆ เพื่อคุณแม่จะได้พักร่างกายและหลับสนิท ตื่นมารับเช้าวันใหม่อย่างสดชื่น
มีอาชีพที่ต้องยืนนานๆ
ข้อนี้หากเป็นไปได้ขอหัวหน้างานย้ายหน้าที่ชั่วคราว แต่หากไม่สามารถย้ายได้จริง ให้คุณแม่พยายามหาที่นั่งพักทุกๆ 1-2 ชม. จะได้เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถค่ะ
อีกหนึ่งสาเหตุที่นอกเหนือจากนี้ คือ เมื่อเราท้องมดลูกก็จะขยายใหญ่ขึ้น และเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น มดลูกก็จะดันกระดูกสันหลังช่วงเอวให้แอ่นมาข้างหน้ามากขึ้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน
คุณแม่ท้อง นวดได้มั้ย? เสี่ยงแท้งหรือเปล่า?
เป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิตและสุดคลาสสิกเลยค่ะ ต้องบอกกก่อนว่าปกติผู้เขียนเป็นคนติดนวดตั้งแต่ก่อนท้อง พอมาช่วงท้องยิ่งปวดเมื่อยเข้าไปใหญ่ คิดแต่จะหาที่นวด โดยศึกษาวิธีนวดและเลือกร้านนวดที่นวดของคนท้องโดยเฉพาะ แต่จะนวดอย่างไร? ตรงไหนบ้าง?
“การนวดขณะที่คุณแม่ท้อง สามารถนวดได้ที่แขนและขาเท่านั้น โดยจะต้องไม่รุนแรงเกินไป ห้ามนวดท้องเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นอาจมีความเสี่ยงถึงลูกน้อยได้”
แต่…หากคุณแม่บางท่านไม่อยากเสี่ยงนวดจริงๆ ก็ยังมีวิธีอื่นๆ ที่จะช่วยยืดกล้ามเนื้อแบบเบาๆ ให้คุณแม่ได้ผ่อนคลายขึ้นค่ะ ผู้เขียนหมายถึง “โยคะ” นั่นเอง
การทำโยคะสำหรับคุณแม่ท้อง
ปัจจุบันมีคุณแม่หลายๆ ท่านที่นิยมการทำโยคะ คุณแม่คงจะเล่นได้ตามใจหากไม่ได้ท้อง แต่หากคุณแม่ท้องควรลดดีกรีลงนิดนึงนะคะ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในท้องค่ะ
ไตรมาสแรก
ควรเริ่มด้วยท่าเบาๆ และง่ายก่อนค่ะ เช่น ท่านั่ง เพราะช่วงนี้ต้องรักษาเค้าไว้ในท้องให้ดี หากเล่นหนักเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้
ไตรมาสที่สอง
ท้องคุณแม่เริ่มใหญ่ขึ้น อาการปวดเมื่อยก็เริ่มมากขึ้นเช่นกัน ท่าโยค่ะที่เล่นควรหลีกเลี่ยงท่านอนคว่ำค่ะ
ไตรมาสสุดท้าย
ท้องใหญ่จริงจัง^^ ห้ามเล่นท่าที่นอนหงาย ส่วนนอนคว่ำไม่ต้องพูดถึงค่ะแค่พลิกตัวยังลำบาก ช่วงนี้คุณแม่ต้องระวังมากๆ เลย เพราะน้ำหนักท้องที่มากขึ้นเวลาจะลุกจากการเล่นโยคะควรค่อยๆ ลุก หรือไม่หาหมอนมารองช่วยพยุงเวลาลุกก็จะดีค่ะ
นอกจากการนวดและการทำโยคะแล้ว ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่ได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อค่ะ นั่นคือ “การแช่เท้าในน้ำอุ่น” ให้คุณพ่อช่วยเตรียมน้ำอุ่นในกะละมัง จากนั้นใส่เกลือเม็ดหยาบลงไป คนจนเกลือละลายดี คุณแม่มีหน้าที่แค่นั่งเก้าอี้ที่สบายพอดีตัว ถ้าปรับเอนได้ก็จะดีมากเลยค่ะ นำเท้าทั้งสองข้างแช่ในน้ำอุ่น ประมาณซัก 30 นาที เท่านี้ก็ทำให้คุณแม่ได้ผ่อนคลาย สบายตัวแล้วล่ะค่ะ แอบกระซิบนิดนึง…คุณแม่ท้องช่วงนี้นาทีทองนะคะ จะวานให้คุณพ่อทำอะไรให้ก็รีบๆ น้า^^
คุณแม่ท่านไหนที่ต้องการจะนวดจริงๆ แนะนำให้ศึกษาข้อมูลของร้านที่จะไปนวดก่อนนะคะว่ามีความปลิดภัยมากน้อยแค่ไหน แต่จำไว้ว่าห้ามนวดแรงไม่ว่าจะเฉพาะแขนหรือขา และห้ามนวดเด็ดขาดโดยเฉพาะท้อง