ภาวะตัวอ่อนไม่พัฒนา หยุดการเจริญเติบโต หรือแท้งค้างนั้น มีอาการอย่างไร? คุณแม่จะรู้ได้อย่างไร? สังเกตตัวเองเบื้องต้นได้หรือไม่? คุณแม่ท้องแบบไหนที่จะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้? วันนี้เรามาไขข้อข้องใจกันค่ะ
Youtube : ความเสี่ยงแม่ท้องที่จะทำให้ตัวอ่อนหยุดการเจริญเติบโต แท้งค้าง
สารบัญ
แท้งค้าง คือ อะไร?
การแท้งค้างเป็นการแท้งชนิดหนึ่ง เป็นการที่ตัวอ่อนหยุดการเจริญเติบโต หรือหมายถึง ตัวอ่อนเสียชีวิตในครรภ์ ในสมัยก่อนเคยกำหนดว่าทารกต้องเสียชีวิตนานเกิน 8 สัปดาห์ถึงจะเรียกว่า “แท้งค้าง” แต่ปัญหาคือ จะเป็นไปได้ยากที่จะรู้ว่าทารกเสียชีวิตมานานเท่าไหร่แล้ว กว่าจะทราบก็ต่อเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น
แต่ปัจจุบันมีอัลตร้าซาวน์ เครื่องมือสำคัญที่ช่วยตรวจและติดตามการเจริญเติบโตของตัวอ่อนได้อย่างแม่นยำ สิ่งสำคัญที่นอกเหนือจากการเติบโตของตัวอ่อนแล้ว ยังมีเรื่องของการพบสัญญาณหัวใจเต้น หากพบว่ามีสัญญาณหัวใจเต้นจังหวะปกติ 90% มักจะสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้
คุณแม่ที่มีความเสี่ยงตัวอ่อนหยุดการเติบโต อาจแท้งค้าง
- เคยแท้งบุตรเท่ากับหรือมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป
- เคยท้องแบบที่ไม่มีตัวอ่อนมาก่อน หรือท้องลม
- เคยท้องนอกมดลูก
- มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ จนไปรบกวนการฝังตัวของตัวอ่อนในท้อง
- การท้องที่เกิดจากเด็กหลอดแก้ว
- มีโรคประจำตัวรุนแรง และยังควบคุมไม่ได้ เช่น โรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก หรือ โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง เป็นต้น
- มีอาการนำผิดปกติ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ตกขาวเป็นสีน้ำตาลไหม้ หรือปวดหน่วงท้องน้อย เป็นต้น
สาเหตุของการแท้งค้าง
- ทารกในครรภ์มีโครโมโซมที่ผิดปกติ นับว่าเป็นสาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุด
- คุณแม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และ/หรือ ใช้สารเสพติดหรือยาเสพติด
- ทารกในท้องติดเชื้อเอง หรือติดเชื้อที่คุณแม่มีอยู่แล้ว
- คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรือ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- คุณแม่ได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม
สังเกตตัวเองได้อย่างไรว่าแท้งค้าง?
- จากที่เคยคลื่นไส้ อาเจียน จู่ๆ อาการเหล่านี้หายไป
- จากที่เคยคัดตึงเต้านม อาการเหล่านี้ก็หายไป
- ขนาดของท้องไม่โตขึ้นตามอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น
- ทารกไม่ดิ้นตามอายุครรภ์ที่ควรจะดิ้น เช่น หากท้องแรก คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นก็ต่อเมื่ออายุครรภ์ได้ 18-20 สัปดาห์ (แต่ทั่วไปก็จะรู้สึกว่าลูกดิ้นตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 13-16 สัปดาห์)
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
หลังการแท้งค้างแล้ว ควรดูแลตัวเองอย่างไร?
กรณีที่ขูดมดลูก
หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อโพรงมดลูก ก็จะมีเลือดออกทางช่องคลอดใน 2-3 วัน จะไม่มีอาการปวดมดลูกหรือปวดท้องแต่อย่างใด มดลูกก็จะหดตัวเล็กลงเหมือนปกติ
กรณีแท้งแล้วมีเลือดออกมา
คุณหมอจะแนะนำให้ทานธาตุเหล็กเสริม เพื่อป้องกันโลหิตจาง ห้ามผู้ป่วยมีเพศสัมพันธ์ 2 สัปดาห์ งดการทำงานหนัก งดว่ายน้ำในสระ ลำคลองอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะไม่มีเลือดออกทางช่องคลอดแล้ว
กรณีพบความผิดปกติ
เช่น มีไข้ ปวดท้องน้อย หรือมีเลือดออกทางช่องน้อยนานเกิน 7 วันหลังการรักษา และ/หรือมีน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น ควรรีบไปหาคุณหมอทันทีค่ะ
วิธีป้องกันการแท้งค้าง
- ครอบครัวไหนที่แต่งงานมาได้ซักระยะแล้ว ควรรีบมีลูก อย่ารอจนอายุมาก เพราะความเสี่ยงยิ่งสูงตาม
- เมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์กับสูติแพทย์ทันที เพื่อให้คุณหมอดูแลอย่างใกล้ชิด
- คุณแม่ต้องดูแลเรื่องอาหารการกินให้มากเป็นพิเศษ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ระวังเรื่องความสะอาด ควรทานอาหารที่สุก และปรุงใหม่
- หากมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้คุณหมอได้ทราบ เพื่อช่วยในเรื่องการวางแผนการตั้งครรภ์ และหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ หากไม่แน่ใจเรื่องไหนให้ปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแม่ได้ทราบข้อมูลอย่างนี้แล้ว อย่าเพิ่งกังวลใจไปนะคะ เพราะหากคุณแม่ฝากครรภ์กับคุณหมอเรียบร้อยแล้ว คุณหมอก็จะดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ ไปจนวันคลอดกันเลยทีเดียว หรือหากคุณแม่มีอาการผิดปกติอะไรระหว่างการตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีนะคะ