เรื่อง “คุณค่าของสิ่งของ” นั้น คุณพ่อคุณแม่จะทราบดีว่าของแต่ละอย่าง แต่ละชิ้นกว่าจะได้มาต้องแลกกับเงิน กว่าจะได้เงินซื้อมาก็ต้องแลกด้วยการทำงาน ถึงแม้ของนั้นจะมีมูลค่ามากหรือน้อยก็ตาม สิ่งของนั้นย่อมมีคุณค่าในตัวเองเสมอ เพราะไม่ใช่ได้มาฟรีๆ
“ค่อยๆ วางสิลูก”
“ไม่โยนนะคะ”
“ไม่เขวี้ยงค่ะลูกขา”
แต่…จะทำอย่างไรให้ลูกได้รับรู้ถึงเรื่องเหล่านี้ อย่างน้อยก็ให้เป็นคนที่รู้จักรักษาของก็ยังดี ไม่ยากค่ะ…เรามาเริ่มปลูกฝังลูกๆ กันเลยดีกว่า
สารบัญ
ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
“เด็กๆ มักชอบเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่”
ประโยคนี้ยังคงคลาสสิกและเป็นจริงเสมอ ลูกๆ มักจะสังเกตพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่แล้วทำตาม ดังนั้น เราจะอาศัยความจริงนี้ในการสอนลูกด้วยการทำให้ลูกเห็น เช่น ก่อนทานข้าวและหลังทานข้าว คุณพ่อคุณแม่ต้องล้างมือและปิดก๊อกน้ำเมื่อใช้เสร็จทุกครั้ง แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้เค้าเห็นเป็นกิจวัตรนะคะ หรือ…
อีกหนึ่งเรื่องที่คลาสสิกไม่แพ้กัน “เรื่องการเก็บของเล่นเมื่อเล่นเสร็จ”
เด็กทุกคนมักชอบเล่น ไม่ชอบเก็บ และพอคุณพ่อคุณแม่บอกให้เก็บก็จะเก็บแบบเสียไม่ได้ แถมโยนหรือเขวี้ยงใส่ลังแทน สำหรับเรื่องนี้ คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ สอนเค้าได้ค่ะ ด้วยการบอกลูกว่าคุณพ่อคุณแม่จะช่วยเก็บ แต่หนูต้องมาเก็บด้วยกัน แล้วค่อยๆ ทำให้ลูกดูว่าการค่อยๆ วางของเล่นนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องทำไปด้วยและพูดสอนเค้าไปด้วยนะคะ
ซึ่งกว่าลูกๆ จะเข้าใจและเลียนแบบพฤติกรรมได้นั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างบ่อยๆ เพื่อให้เค้าได้ซึมซับพฤติกรรม
สอนให้รู้จักมีเหตุมีผลที่ถูกต้อง
การปลูกฝังให้ลูกเป็นคนที่เหตุผลที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้เขียนต้องย้ำว่า “เหตุผลที่ถูกต้อง” เพราะบางครั้งการที่เด็กๆ จะทำอะไรหรืออยากทำอะไร เค้าก็จะมีเหตุผลแต่เป็นเหตุผลที่เข้าข้างตัวเอง ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และหากปล่อยให้เด็กเป็นแบบนี้ไปจนโต จะทำให้เค้าแยกแยะไม่ได้ว่าอันไหนควรหรือไม่ควร รู้แต่จะทำเพราะตัวเองอยากทำ
การสอนให้ลูกเป็นคนมีเหตุผลที่ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนควบคู่กันไปกับการทำให้ดูเป็นตัวอย่างอย่างสม่ำเสมอ เช่น เมื่อล้างมือเสร็จแล้ว ทำไมต้องปิดก๊อกน้ำ ถ้าปิดแล้วจะมีผลกระทบกับอะไร หรือถ้าไม่ปิดแล้ว จะสิ้นเปลืองอะไรบ้าง เป็นต้น
ชมเชยลูกตามสมควร เมื่อทำได้
วันหนึ่งหากลูกสามารถทำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนได้หรือทำสำเร็จ ให้คุณพ่อคุณแม่ชมเชยลูก และให้กำลังใจลูกตามสมควร เช่น ถ้าหากเค้าสามารถปิดก๊อกน้ำหลังใช้งานได้เองโดยไม่ต้องรอให้คุณพ่อคุณแม่บอก เป็นต้น ลูกก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เค้าทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้องและมีค่า เค้าจะเรียนรู้ว่าเมื่อทำอย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่จะชมเค้า เค้าก็จะทำอีกในครั้งต่อๆ ไปค่ะ
ไม่ควรให้ของลูกง่ายเกินไป
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกได้เรียนรู้ว่า “ไม่มีสิ่งของใดได้มาง่ายๆ” เพราะการได้ของมาอย่างง่ายๆ นั้น จะทำให้เค้าไม่เห็นคุณค่าของของเหล่านั้น และลูกก็จะไม่รักษาของ
ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่ง่ายจนเกินไป เพื่อให้ลูกได้ใช้ความพยายามในการที่จะเอาของสิ่งนั้นมา เช่น หากลูกเล่นของเล่นแล้วเก็บเองโดยที่ไม่ต้องให้คุณพ่อคุณแม่ช่วย เป็นเวลา 1 อาทิตย์ ถ้าทำได้…คุณพ่อคุณแม่จะให้ของเล่นลูก 1 ชิ้น เพื่อเป็นรางวัล
สอนให้ลูกรู้จักการได้มา และเสียไป
“การได้มา และเสียไป” เช่น ในกรณีที่ลูกอยากได้ของเล่นที่แพงมากๆ และลูกก็เก็บเงินไม่พอ คุณพ่อคุณแม่สามารถบอกให้ลูกได้รับรู้เงื่อนไขได้เลยค่ะว่า ถ้าลูกอยากได้ของเล่นนี้ และเงินลูกไม่พอ คุณพ่อคุณแม่จะออกให้ในส่วนที่ลูกยังขาด และลูกต้องงดขนมกี่มื้อก็ว่าไป เพื่อให้เค้าได้เข้าใจว่าการที่เค้าอยากได้อะไรนั้นก็ง่าย มีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยตลอดแบบที่เค้าไม่ต้องเสียอะไร
สำหรับเรื่องการสอนให้เค้ารู้จักคุณค่าของสิ่งของนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เวลาและให้เวลากับเค้าซักหน่อยนะคะ แต่ซักวันนึงมันจะได้ผลค่ะ รับรอง…