“โรคหูติดเชื้อ หรือ โรคหูอักเสบในเด็ก” ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นโรคไกลตัวนะคะ แต่จริงๆ แล้ว โรคนี้ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด เพราะลูกของผู้เขียนก็เคยเป็นมาแล้วครั้งนึง วันนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้มาฝาก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เฝ้าระวังกันค่ะ
สารบัญ
ทำไมลูกเป็นหวัดบ่อย
ไม่ใช่หวัด แต่เป็นภูมิแพ้
เพราะอาการหวัดกับอาการภูมิแพ้จะคล้ายกัน เช่น มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล ทำให้คุณแม่เข้าผิดว่าลูกเป็นหวัดบ่อย แต่ความจริงคือ ลูกเป็นภูมิแพ้ ซึ่งอาจเกิดได้จากสารก่อให้เกิดภูมิแพ้ สิ่งแวดล้อมรอบตัว ฝุ่นละออง เกสร ควัน หรือมลพิษต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ หรือโรคหูชั้นกลางอักเสบได้
กรรมพันธุ์
ระบบภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ หากร่างกายของคุณพ่อคุณแม่แข็งแรง ลูกก็จะแข็งแรงด้วย แต่หากคนใดคนหนึ่งเป็นภูมิแพ้ ลูกก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับการถ่ายทอดมาได้เช่นกัน
ผ่าคลอด ลูกจะไม่แข็งแรง
เพราะการผ่าคลอดจะทำให้ทารกไม่ได้รับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จากช่องคลอดของคุณแม่ในระหว่างการคลอด เนื่องจากระหว่างการคลอดทารกจะกลืนเอาเมือกบริเวณช่องคลอดซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีในช่องคลอด ทารกก็จะได้รับเชื้อดี ๆ เข้าสู่ร่างกาย
ปัจจุบันแม่ ๆ ไม่นิยมคลอดธรรมชาติ แต่ผ่าคลอดกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ลูกไม่ได้รับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์จากช่องคลอดของแม่ในระหว่างที่คลอดออกมา เพราะระหว่างคลอดทารกจะกลืนเมือกจากช่องคลอดซึ่งมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีในช่องคลอด ก็จะทำให้ลูกน้อยได้รับเชื้อดี ๆ เข้าไปในร่างกาย มีผลต่อภูมิคุ้มกันของลูก ทำให้ทารกมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย
ข้อมูลอ้างอิง gedgoodlife.com
ติดจากเด็กคนอื่น เมื่อถึงวัยเข้าเรียน
โดยเฉพาะในช่วงแรกของระดับชั้นอนุบาล จะป่วยบ่อยหน่อย เพราะภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงมีโอกาสรับเชื้อได้ง่าย
ต้องเป็นหวัดบ่อยแค่ไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ
เมื่อลูกเริ่มเข้าเรียนโดยเฉพาะในระดับชั้นอนุบาล การป่วยหรือการเป็นหวัดเฉลี่ยอยู่ที่ 8 – 10 ครั้งต่อปี และจะป่วยน้อยลงเมื่อโตขึ้น
จากผลการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า เด็กที่เริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาลมักจะเป็นหวัดเฉลี่ย 8-10 ครั้งต่อปี ซึ่งความถี่ของการเป็นหวัดนี้จะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเด็กโตขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง synphaet.co.th
จากการเก็บสถิติ
ก่อนหน้านี้ได้มีการเก็บสถิติในเด็กที่มีอาการป่วยเป็นโรคหูติดเชื้อ หรือ โรคหูอักเสบในเด็ก พบว่า
“3 ใน 4 ของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบหรือเทียบเท่า ต้องเคยมีอาการหูติดเชื้อมาอย่างน้อย 1 ครั้ง”
ด้วยเหตุผลที่ว่า…
- ท่อในหูของเด็กเล็กสั้นกว่าเด็กโตหรือของผู้ใหญ่
- ภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กจะลดน้อยลงเมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น ทำให้เชื้อโรคที่มีอยู่ตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย อาทิ ห้างสรรพสินค้า หรือ โรงเรียน เป็นต้น
- เกิดจากเด็กเล็กมีอาการภูมิแพ้
สาเหตุของโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก
- โรคนี้มักจะเกิดกับเด็กเล็กที่เป็นหวัด เจ็บคอ และมีอาการของไซนัสอักเสบ
- มีของเหลวขังอยู่รอบเยื่อแก้วหู ทำให้หูชั้นกลางเกิดการบวมหรืออักเสบ ซึ่งของเหลวที่ว่านี้คือ เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในหู
- แบคทีเรียนี้จะเดินทางจากมือเข้าสู่หูก็ด้วยการสัมผัส หรือทางปาก
- ต่อมอะดินอยด์ ซึ่งมีเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายทางปากก่อนจะมาถึงหูชั้นในอ่อนแอ จึงทำให้หูติดเชื้อได้ง่าย
อาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก
ในเด็กเล็กที่มีอาการรุนแรง จะแสดงออกทันทีเมื่อเค้าเจ็บหู ให้คุณแม่ลองสังเกตอาการของลูกดูนะคะ ว่าเข้าข่ายตามนี้หรือไม่ ทั้งนี้ อาการดังกล่าวจะไม่ได้เกิดเป็นลำดับนะคะ บางข้อลูกอาจมี หรือไม่มีก็ได้ค่ะ
- ทานข้าวได้น้อย เพราะเวลาเคี้ยวลูกจะเจ็บหู
- เอียงหัวไปข้างหนึ่ง
- เอามือป้องหูเพื่อบรรเทาความเจ็บ
- นอนไม่หลับ
- งอแง ร้องไห้บ่อย
- มีไข้
- มีของเหลวไหลออกมาจากหู
- ไม่ได้ยินเสียง หรือได้ยินไม่ค่อยชัดเจน
การรักษาโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก
สำหรับการรักษาแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ติดเชื้อขั้นเบา และ ติดเชื้อขั้นรุนแรง ไปดูกันทีละข้อเลยค่ะ
ติดเชื้อขั้นเบา
ขั้นนี้หมายถึง ยังไม่มีน้ำไหลออกมาจากหู ไม่มีไข้ ไม่ได้ร้องไห้งอแงตลอดเวลา หรือเพิ่งเป็นไม่กี่วัน แล้วคุณแม่พบเร็ว
หากเป็นขั้นนี้สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาแก้ปวด และโปะถุงน้ำร้อนหรือผ้าอุ่นๆ หรืออาจใช้ยาหยอดหูควบคู่กันไปได้ค่ะ
ติดเชื้อขั้นรุนแรง
หมายถึง กว่าจะพบอาการก็เป็นมากกว่า 2 วัน คุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ซึ่งคุณหมออาจสั่งยาฆ่าเชื้อให้ ซึ่งจำเป็นต้องทานให้หมดตามที่คุณหมอสั่ง ไม่อย่างนั้นลูกอาจกลับมาเป็นได้อีก ซึ่งอาจรุนแรงกว่าเดิม
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก
ในเด็กเล็กเวลาที่ไม่สบายบ่อย ๆ ก็มักมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้กันได้ แต่เรามีวิธีป้องกัน ดังนี้ค่ะ
- ให้ลูกอยู่ห่างไกลจากควันบุหรี่ ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาเป็นระยะว่า เด็กที่ได้รับควันบุหรี่เป็นประจำมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหูติดเชื้อมากกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงการสูบบุหรี่และการรมควันบุหรี่ระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์อีกด้วย
- ให้ลูกหลีกเลี่ยงเด็กที่เป็นหวัดหรือเป็นไซนัสอักเสบ ถึงแม้ว่าไซนัสอักเสบจะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่การเป็นหวัดในเด็กเล็กนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสน้ำมูก หรือละอองน้ำลายจากการไอ หรือจาม แล้วไปจับของเล่นที่เล่นร่วมกับเด็กอื่นๆ ต่อ
- พาลูกไปฉีดยาป้องกันโรคต่าง ๆ ตามที่คุณหมอนัด เพราะการป่วยน้อยเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อลูกมากเท่านั้นที่สำคัญโอกาสในการที่จะเป็นหูติดเชื้อก็น้อยลงด้วย
- สอนลูกให้หมั่นล้างมืออยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อโรคติดมือและเข้าสู่ร่างกายทางปาก ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่างด้วยนะคะ
- พยายามสอนลูกและเตือนลูกเสมอว่าไม่เอาของเล่นหรือของตกพื้นเข้าปาก แรกๆ เค้าอาจจะยังไม่ได้ทำตามเราทันที แต่อย่างน้อย เราก็ต้องสร้างความคุ้นเคยและบอกให้เค้ารู้ว่า การเอาของเล่นหรือเอาของตกพื้นเข้าปากนั้น จะทำให้เค้าไม่สบาย
แต่ด้วยความที่เป็นเด็กเล็กอายุยังไม่ถึง 3 ขวบ หรือต่ำกว่า3 ขวบ ยังไม่ค่อยมีความระมัดระวังในเรื่องการรักษาความสะอาดหรือการหลีกเลี่ยงละอองน้ำลายจากคนที่เป็นหวัดซักเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ก็คือ สอนให้เค้ารักษาความสะอาด ทำบ่อย ๆ ให้เค้าเห็น สอนเค้าให้ทำ และให้ความรู้กับเค้าเรื่องสาเหตุของการเป็นหวัด และโรคหูติดเชื้อ ที่สำคัญ คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการของลูกเวลาที่เค้าไม่สบาย จะได้รักษาได้อย่างรวดเร็วและถูกทางค่ะ