เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีข่าวว่าผู้ที่เลี้ยงดูทารกรายหนึ่งเป็นห่วงกลัวว่าเด็กจะขาโก่ง เจตนาดีจึงดัดขาน้องเป็นเหตุให้ขาน้องหัก เรื่อง “ขาโก่ง” นี้ ผู้เขียนก็ได้ยินมาบ่อยมากเรื่องต้องดัดขาตั้งแต่น้องยังเล็ก ๆ และรวมไปถึงเรื่องความเชื่อต่าง ๆ ที่ว่า “ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปมาก ๆ ขาจะโก่ง” หรือ “อุ้มเข้าเอวขาจะโก่ง” แต่เราจะรู้ได้อย่างไร? วันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลและวิธีทดสอบมากฝากค่ะ
สารบัญ
ลูกขาโก่ง
“ขาโก่ง” มี 2 แบบ คือ ขาโก่งแบบธรรมชาติ และ ขาโก่งแบบผิดปกติ เอ…แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเราปกติหรือผิดปกติ ไปดูวิธีสังเกตกันเลยค่ะ
ขาโก่งแบบปกติ
หากดูตามรูปด้านบนจะเป็นพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยที่นับเป็นเรื่องปกติ และจะหายเองได้ตามธรรมชาติ
- ภาพ A คือ ภาพขาของทารก (Infant) ที่มีลักษณะช่วงเข่าห่างกัน แต่ข้อเท้าชิด ซึ่งเป็นลักษณะของทารกทั่วไปที่เพิ่งคลอด เป็นไปได้ว่าทารกขดตัวอยู่ในท้องคุณแม่ซึ่งมีลักษณะกลมๆ มาเป็นระยะเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ขาโก่ง
- ภาพ B คือ ภาพขาปกติของเด็กที่มีอายุขวบครึ่ง ขาจะเริ่มยาวขึ้นและยืดตรงมากขึ้น
- ภาพ C คือ ภาพขาปกติของเด็กที่มีอายุ 3 ขวบครึ่ง
- ภาพ D คือ ภาพขาปกติของเด็กที่มีอายุ 7 ขวบ ซึ่งโครงสร้างจะเริ่มเป็นเหมือนผู้ใหญ่มากขึ้น
ขาโก่งแบบผิดธรรมชาติ
ลักษณะขาโก่งนับเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่วิธีสังเกตว่าลูกเราขาโก่งผิดปกติหรือไม่นั้น ให้ดูว่าถ้าอายุ 2 ขวบแล้ว ขายังคงเหมือนรูป A ด้านบนอยู่ หรือหากอายุได้ 3 ขวบแล้ว แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าขาตรงให้คุณแม่รีบไปปรึกษาคุณหมอทันทีค่ะ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ปัญหาด้านสุขภาพจะถามหา เช่น ปวดข้อเข่า และทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็ว
สาเหตุของโรคขาโก่งผิดปกติ
- เกิดจากเนื้อกระดูกที่ผิดปกติ หรือ
- เป็นอาการแสดงหนึ่งของกลุ่มโรคกระดูกอ่อน ข้อเข่าเสื่อม หรือ
- เกิดจากความผิดปกติของข้อสะโพก
วิธีทดสอบว่าลูกขาโก่งผิดปกติหรือไม่
หากคุณแม่พิจารณาจากอายุแล้ว ดูว่าลูกน่าจะขาตรงตามปกติ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยืดตรงตามอายุที่ควรจะเป็นซักที ให้คุณแม่ลองทดสอบตามนี้ดูนะคะ
- จับลูกนอนเหยียดกับพื้นราบ จับขาให้ตรง และจับข้อเท้าให้ชิดกัน
- จับเข้าโดยให้กระดูกสะบ้าทั้ง 2 ข้างหันตรงมาทางด้านหน้า
- วัดระยะระหว่างด้านในของหัวเข่าทั้ง 2 ข้าง ซึ่งไม่ควรห่างกันเกิน 8 ซม.
- ถ้ามากเกินกว่า 8 ซม. มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าลูกจะมีอาการขาโก่งแบบผิดปกติจริง หากลูกของคุณแม่มีอายุมากกว่า 2 ขวบแล้ว ยังคงมีอาการเหล่านี้อยู่ ควรพาไปปรึกษาคุณหมอค่ะ
- ในวัยเตาะแตะหรือวัยหัดเดิน ให้คุณแม่สังเกตการเดินของลูกน้อยด้วยนะคะ ว่าเค้าเดินสะดวกดีหรือเปล่า หรือเดินกระเผลก หรือมีอาการเท้าปุกร่วมด้วย หากพบอาการดังกล่าว ควรไปปรึกษาคุณหมอเช่นกันค่ะ
- สำหรับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 2 ขวบ แต่ก็ยังเดินได้สะดวก เท้าอาจจะโก่ง คุณแม่ดูแล้วไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ให้คิดว่าเป็นธรรมชาติของเด็กนะคะ อย่าวิตกกังวลมากเกินไป ค่อยๆ สังเกตอาการไปก่อนค่ะ
วิธีการรักษาเด็กที่มีอาการขาโก่งผิดปกติ
สำหรับเด็กที่มีลักษณะขาโก่งผิดปกติ ไม่สามารถหายได้เองตามธรรมชาติ คุณหมอจะใช้วิธีการรักษาด้วยการ “ผ่าตัด” โดยตัดแต่งกระดูกให้ตรง ใส่เฝือกขารอให้กระดูกติด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลมากที่สุด โดยเฉพาะหากเป็นเด็กที่อายุน้อย ๆ การผ่าตัดจะรักษาหายได้ดีกว่าเด็กโตๆ เพราะกระดูกจะติดเร็ว
หลังผ่าตัด คุณหมอจะใส่เฝือกให้ประมาณ 1-2 เดือน จากนั้นจะทำการฝึกกายภาพให้เด็กได้หัด ยืน เดิน และออกกำลังกายเบาๆ เพื่อฟื้นความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อเป็นลำดับ
ขาโก่งแค่ไหน ต้องไปพบแพทย์
ภาวะขาโก่งในเด็กส่วนใหญ่แล้วจะเป็นภาวะที่ลูกสามารถหายได้เองเมื่อโตขึ้น แต่ก็มีเด็ก ๆ บางรายที่แม้ว่าอายุเข้า 2 ขวบแล้ว อาการขาโก่งก็ดูจะมีทุเลาลง และไม่มีแนวโน้มว่าจะเป็นปกติ ซึ่งมีวิธีการสังเกตง่าย ๆ ดังนี้
- จับขาลูกให้เหยียดตรง ให้ตาตุ่มด้านในอยู่ชิดกันให้มากที่สุด
- แล้วสังเกตด้านในของข้อเข่าว่ามีความห่างกันเกิน 5 ซม. หรือไม่
นอกจากนี้ยังควรสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่าในขณะที่ลูกเดินนั้น ลักษณะของขาห่างกัน หรือโค้งออกจากกันจนผิดปกติหรือเปล่า โดยเวลาที่ลูกยืนหรือเดินจะหมุนขาเข้าด้านใน หรือเดินกระแผลกหรือไม่ ถ้ามีความผิดปกติดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ค่ะ
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับขาโก่ง
ขาโก่งเพราะใส่ผ้าอ้อม
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน อธิบายว่า
“ความเชื่อที่ว่า การใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะทำให้เด็กขาโก่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนะคะ เพราะลักษณะขาโก่งเล็กน้อยในเด็กเป็นไปตามธรรมชาติซึ่งจะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจ ก็สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดได้ค่ะ”
ขาโก่งเพราะอุ้มลูกเข้าเอว
เป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ การอุ้มลูกเข้าเอวไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกขาโก่ง ซึ่งความจริงแล้วเป็นการช่วยรักษาภาวะข้อสะโพกเคลื่อนได้อีกด้วย
การดัดขา ช่วยแก้ภาวะลูกขาโก่งได้
ข้อนี้ก็ไม่จริงอีกเช่นกันค่ะ คุณแม่ควรพิจารณาเรื่องของพัฒนาการขาแต่ละช่วงวัยเป็นสำคัญก่อน แล้วถ้าหากสงสัยว่าขาโก่ง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพราะการดัดขาลูกเองอาจทำให้ลูกน้อยเกิดการบาดเจ็บได้
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกอยู่ในภาวะขาโก่ง
- เริ่มจากการสังเกตก่อน ให้คุณแม่สังเกตว่าเมื่อลูกมีอายุใกล้ 3 ขวบแล้ว ยังมีลักษณะหรืออาการของขาโก่งอยู่หรือเปล่า หากมี แสดงว่ามีอาการผิดปกติแล้วค่ะ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- ทานวิตามินดี วิตามินดีจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ร่างกายสามารถดูซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสไปใช้ ซึ่งจำเป็นมากในการเสิรมสร้างกระดูกลูกให้แข็งแรง วิตามินดีนี้สามารถรับได้จากแสงแดดในช่วงเช้า (ก่อน 09:00 น.) และเน้นให้ลูกทานอาหารจากธรรมชาติที่อุดมไปด้วยวิตามินดี อาทิ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู เนื้อวัว ไข่แดง ชีส และเห็ด
- ควรพาลูกน้อยไปตรวจสุขภาพหลังคลอดทุกเดือน (หรือตามที่คุณหมอนัด) เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้คุณแม่ทราบได้ค่ะว่า ลูกจะมีสุขภาพที่ปกติ แข็งแรงดี หรือจะมีจุดไหนที่ควรดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ภาวะขาโก่งจะเกิดได้กับเด็กบางคนซึ่งเป็นส่วนน้อย แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังคงเป็นกังวล ให้ลองสังเกตลูกจากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านบนก่อนนะคะ หากสังเกตแล้วแต่คุณพ่อคุณแม่ยังคงไม่มั่นใจและเป็นกังวลอยู่ ไม่ควรดัดขาลูกเองเด็ดขาดนะคะ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต่อไปดีที่สุดค่ะ