อีกหนึ่งปัญหาโลกแตกที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะเจอคือ การที่เด็กอมข้าวไม่ยอมเคี้ยว บางทีอมจนน้ำลายไหลออกมาเลยก็มี บางคนก็แอบไปบ้วนทิ้งก็มี ปัญหาเหล่านี้ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ปวดหัวไปตามๆ กัน แต่วันนี้เราจะมาสรุปสาเหตุให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลองไปคิดทบทวนว่าลูกอมข้าวเพราะอะไร พร้อมกับแนวทางแก้ไขปัญหาแต่ละข้อ ไปดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง
สาเหตุที่ลูกอมข้าว
ลูกไม่ได้รับการฝึกให้เคี้ยวข้าวอย่างถูกต้อง
เด็กเล็ก ๆ เมื่ออายุได้ 6 เดือน ควรได้รับอาหารที่เสริมที่นอกเหนือจากนมอย่างเดียว เพราะร่างกายต้องการสารอาหารที่มีประโยชน์มาช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและเซลล์ประสาทต่าง ๆ แต่กว่าคุณพ่อคุณแม่จะมาพบว่าลูกเอาแต่อมข้าวก็เมื่ออายุได้ 2-3 ขวบแล้ว
นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อลูกถึงวัยที่เค้าควรได้ฝึกเคี้ยว แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ฝึกเรื่องการเคี้ยวให้กับเค้า เลือกแต่อาหารบดเหลวที่ป้อนปุ๊บ กลืนปั๊บ จึงทำให้เด็กไม่รู้จักการเคี้ยว ลูกจึงได้แต่อมข้าวไว้ คุณแม่อาจเคยได้ยินมาว่าห้ามลูกอมข้าวเด็ดขาด ได้ยินมาหนาหู จนอาจเกิดความสงสัยว่า “ทำไมห้ามลูกอมข้าว ส่งผลให้ฟันผุจริงหรือ?”
ลูกอิ่มแล้ว แต่ต้องการต่อต้านจากการขู่เข็ญให้ทานข้าว
เพราะความรัก ความห่วงของคุณพ่อคุณแม่แท้ๆ กลัวว่าลูกจะทานข้าวไม่อิ่ม เพราะห่วงแต่จะเล่น จะกินขนม เลยใช้วิธีบังคับให้กินข้าว ดุว่าลูกอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีให้กับลูกในเวลากินข้าว ทำให้ลูกเกิดการฝังใจ ไม่อยากทานข้าว จึงบอกคุณพ่อคุณแม่ไปว่า “อิ่มแล้ว”
ซึ่งถ้าอิ่มจริง คุณพ่อคุณแม่คงไม่ต้องกลุ้มใจ แต่ถ้าไม่ได้อิ่มจริง อันนี้สิต้องมีวิธีรับมือ
เห็นลูกเล่นเพลิน ไม่อยากขัดจังหวะ
คุณพ่อคุณแม่บางคนเห็นว่าลูกกำลังนั่งเล่นของเล่นเพลินๆ ไม่อยากขัดจังหวะ เพราะต้องเรียกให้ลูกไปนั่งกินข้าวที่โต๊ะกินข้าว เลยต้องเอาข้าวมานั่งป้อนแทน เพราะคิดว่าความเพลินของลูกที่นั่งเล่นอยู่นั้นจะช่วยให้ลูกกินข้าวได้มากขึ้น
แต่ความจริงแล้ว ถูกครึ่ง ไม่ถูกครึ่ง ที่ถูกคือ ลูกเพลินกับของเล่น แต่ไม่ถูกคือ ลูกไม่ได้เพลินกับการกินข้าว เพราะเค้าสนุกกับการเล่นเสียจนลืมเคี้ยว ได้แต่อมไว้ในปาก
มีสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจของเด็กระหว่างกินข้าว
บางบ้านเวลากินข้าวไป ก็จะเปิดทีวีไปด้วย เด็ก…ยังไงก็คือเด็ก เพราะเพียงเค้าได้ยินเสียงอะไรที่มันฟังดูตื่นเต้นก็จะหันหน้าไปดูแล้ว เสียงเพลงที่โฆษณายังหันไปดูเลยค่ะ บางบ้านบอกว่าเปิดไว้แก้เหงาได้มั้ยเวลากินข้าวจะได้ไม่เงียบเกินไป แล้วจัดเก้าอี้ลูกให้หันหลังให้ทีวี อย่างที่บอกค่ะ เด็กก็คือเด็ก เค้าจะหันทันทีโดยไม่สนด้วยว่าในมือจะถือช้อนที่มีข้าวอยู่หรือเปล่า
ให้เวลากินข้าวนานเกินไป
เพราะความรัก ความห่วงอีกนั่นแหละ ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ใจดีปล่อยให้ลูกนั่งกินข้าวได้นานเท่าไหร่ก็ได้ แต่…นานเท่าไหร่ข้าวก็ยังไม่หมดเสียที
ให้ลูกกินขนมมากไปหรือกินใกล้เวลาทานข้าว
เด็ก…เดี๋ยวกิน เดี๋ยวเล่น ใช้พลังงานเยอะ คุณพ่อคุณแม่กลัวลูกหิว ลูกอยากกินอะไรตอนไหนก็ตามใจไปเสียหมด แต่ลืมดูเวลาว่าใกล้เวลากินข้าว ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นลูกก็จะอิ่มขนมแล้ว ไม่อยากกินข้าว
วิธีแก้ปัญหาลูกอมข้าว
ควรฝึกลูกให้เคี้ยวข้าวให้ถูกต้อง
คุณแม่ควรให้ลูกกินอาหารที่เคี้ยวง่าย ๆ เนื้อนุ่ม ๆ ก่อน อาทิ โจ๊ก เต้าหู้ ข้าวต้ม แล้วค่อย ๆ เพิ่มความหยาบของเนื้ออาหารให้มากขึ้นทีละน้อย จากการสับละเอียด เป็นสับหยาบ จากการหั่นชิ้นเล็ก ๆ เป็นค่อย ๆ หั่นหยาบมากขึ้น
ลูกอิ่มแล้ว
ลูกเพื่อลดพฤติกรรมการอมข้าว เนื่องมาจากการต่อต้าน หากลูกบอกว่าอิ่มแล้ว แต่ความจริงคุณพ่อคุณแม่จะดูออกว่าลูกอิ่มจริงหรือเปล่า ถ้าลูกไม่ได้อิ่มจริง ไม่ต้องดุเค้าค่ะ ปล่อยเค้าไป แต่…ต้องทำความตกลงกับลูกก่อนว่า “เพราะลูกกินข้าวไม่หมด ลูกอิ่มแล้ว แม่จะไม่ให้กินขนมนะคะ ถ้าหนูหิวข้าวต้องรอกินข้าวมื้อถัดไปเลยนะ”
ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็งนะคะ ไม่ให้ขนมระหว่างมื้อเด็ดขาด เพราะเมื่อถึงเวลากินข้าวมื้อถัดไป ลูกจะกินข้าวได้เยอะเอง
ฝึกให้ลูกกินข้าวให้เป็นเวลา
ไม่ต้องกลัวว่าจะขัดจังหวะลูก เพราะจริง ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกเค้าให้ทำอะไรเป็นเวลา เช่น เวลากินข้าวก็ต้องกินข้าว เวลาเล่นก็คือเวลาเล่น กินเสร็จค่อยไปเล่นต่อ เชื่อเถอะค่ะ เด็กกับของเล่น แป๊บเดียวก็ต่อกันติดแล้ว
ปิดสิ่งเร้าขณะที่ลูกกินข้าว
คุณพ่อคุณแม่ควรปิดทีวี ปิดเพลง ปิดสิ่งเร้าทุกย่างที่คิดว่าจะทำให้เด็กไม่โฟกัสเรื่องกินข้าว ไม่อย่างนั้น นอกจากลูกจะไม่กินข้าวแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องมานั่งปวดหัวบอกลูกให้หันมากินข้าวเพิ่มเข้าไปอีก กลายเป็นจะสร้างบรรยากาศไม่ดีกับช่วงเวลากินข้าวได้ค่ะ
ควรจำกัดเวลาในการข้าวแต่ละมื้อ
คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจ กำหนดข้อตกลงกับลูกก่อนกินข้าวว่า ถ้ายังกินไม่เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่จะเก็บโต๊ะ แต่ต้องใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล ไม่ขู่ ไม่ตะคอก และไม่ดุด่าเด็ดขาดนะคะ
จำกัดปริมาณในการกินขนม และไม่ให้ลูกกินขนมก่อนเวลาข้าว
ธรรมชาติของเด็ก คือ “ขนม กับ เด็ก เป็นของคู่กัน” แต่การให้ผิดเวลาก็ดูจะผิดวิธีไปสักหน่อย ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่จะให้ขนมลูก แนะนำว่าควรให้ก่อนเวลากินข้าว 1 ชม.ครึ่ง เพราะ 2 ชม. ดูจะนานไป ทำให้เด็กหิวเกินไป พอกินข้าวเข้าไปก็กินได้ไม่เยอะ เพราะมีลมในท้อง
สังเกตการณ์เคี้ยวของลูก
ขณะที่นั่งกินอาหารด้วยกันนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่สงเกตดูลูกน้อยด้วยนะคะว่าลูกเคี้ยวอาหารหรือเปล่า และเมื่อถึงวัยที่ลูกน้อยเริ่มมีฟันแล้ว ให้ฝึกลูกเคี้ยวด้วยการให้เคี้ยวอาหารที่เริ่มแข็งขึ้นอีกสักหน่อย ให้ลูกได้ลองอาหารหลาย ๆ แบบ
ช่วงนี้คุณแม่สามารถใช้ Finger Food (อาหารที่ลูกสามารถใช้มือจับกินได้) มาฝึกลูกค่ะ เช่น แครอทนึ่ง แคนตาลูป ฝรั่ง ข้าวโพด (เป็นเม็ด ๆ แล้ว) และแครกเกอร์ เป็นต้นค่ะ แบบนี้ลูกจะได้ทั้งเรื่องการฝึกเคี้ยว และพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กอีกด้วยค่ะ
ไม่ให้ลูกกินอาหารทันที หลังจากการเล่น
หลังจากเล่นเสร็จ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้นั่งพักสัก 10 นาที่ก่อน เพื่อให้ลูกได้นั่งพัก และให้ห่างจากอารมณ์สนุกหลังเล่น เพราะหากให้ลูกกินอาหารทันที ลูกกอาจกินได้ไม่มากเนื่องจากลูกยังรู้สึกเหนื่อยอยู่ ไม่พร้อมที่จะกินอาหาร
สร้างบรรยากาศในการกินที่ดี
การได้นั่งกินอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะลูกน้อยจะได้เรียนรู้วิธีการกินจากคุณพ่อคุณแม่ ลูกจะได้เห็นหน้าตาของอาหารบนโต๊ะในทุกมื้อ แล้วถ้าหากลูกต้องการตักอาหารเองก็ให้ลูกตักนะคะ อาจจะมีหกเลอะเทอะไปบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่ดุลูกนะคะ เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่อยากนั่งโต๊ะอาหารร่วมกันกับคุณพ่อคุณแม่
เข้าใจค่ะว่าขณะที่กินอาหารร่วมกัน ลูกอาจทำอาหารหกเลอะเทอะไปบ้าง ผนวกกับการที่คุณแม่เลี้ยงลูกมาเหนื่อยทั้งวัน อาจทำให้คุณแม่ปรี๊ดแตกได้ง่าย แต่อยากให้คุณแม่คิดในระยะยาวค่ะ ถ้าอยากให้ลูกกินข้าวได้ และมีความสุขในการกิน ซึมซับวินัยในการกินอาหารที่ดี “สติ” ต้องมาก่อนนะคะ
การที่ลูกไม่เคยได้รับการฝึกในเรื่องการเคี้ยวมาก่อน จนทำให้เกิดการอมข้าว เรื่องนี้น่าเป็นห่วงนะคะ เพราะเมื่อเด็กถึงวัยที่ต้องเข้าเรียน แม่โน้ตเคยเจอมาว่าเพื่อนลูก ไม่ชินกับการเคี้ยว เขาจะอาเจียนที่โรงเรียนค่อนข้างบ่อยทีเดียว เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรหมั่นสังเกตและฝึกลูกให้ถูกวิธีนะคะ