วันนี้โน้ตจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาพูดคุยกันเรื่องของ “การนอน” กันค่ะ จริงๆ แล้วโน้ตว่าเรื่องของการนอนเป็นสิ่งสำคัญของคนทุกเพศทุกวัยนะ แม้กระทั่งวัยรุ่นหรือวัยทำงานหากได้รับการพักผ่อนหรือการนอนไม่พอ นานๆ เข้าร่างกายเราทนไม่ไหวก็อาจเกิดโรคอื่นตามมาได้
ซึ่ง “การนอน” นี้จะยิ่งสำคัญมากๆ โดยเฉพาะกับทารก เพราะร่างกายของเค้ายังคงต้องการการนอนหรือการพักผ่อนให้ได้เต็มที่ เพื่อช่วยให้กระบวนการของพัฒนาการด้านต่างๆ เติบโตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ วันนี้เรามาดูกันค่ะที่โน้ตว่า 7 สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับการนอนของลูกนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
สารบัญ
7 เรื่องการนอนของลูกที่พ่อแม่ควรรู้
ท่านอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย
ทารกแรกเกิด – 4 เดือน
ทารกในวัยนี้ยังนอนและตื่นไม่เป็นเวลา ซึ่งเวลาที่ทารกต้องการในการพักผ่อนให้เพียงพอจะอยู่ที่ประมาณ 16 – 20 ชั่วโมง สามารถนอนได้นานในเวลากลางวันพอๆ กับการนอนในเวลากลางคืน โดยท่าที่เหมาะสำหรับทารกวัยนี้คือ ท่าที่นอนตะแคงหรือนอนหงาย เพราะเนื่องจากพัฒนาการกล้ามเนื้อที่คอยังไม่แข็งแรง จึงทำได้เพียงแค่หันซ้ายหรือหันขวาเท่านั้น
ทารก 5 – 6 เดือน
ทารกวัยนี้เริ่มคอแข็งมากขึ้น สามารถนอนคว่ำได้ แต่แนะนำนะคะถ้าจะให้ลูกนอนคว่ำควรทำในขณะที่ลูกตื่นอยู่ ไม่ควรให้ลูกหลับในท่าคว่ำ เพราะลูกอาจเกิดอาการ Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) หรือโรคไหลตายในเด็กได้ สำหรับช่วงเวลาในการนอน ทารกจะเริ่มนอนเป็นเวลามากขึ้น (คือเริ่มนอนได้ขึ้นในเวลากลางคืน การนอนกลางวันจะน้อยลง)
ทารก 7 – 12 เดือน
สำหรับทารกในวัยนี้ เค้าเริ่มพลิกตัวกลับไปกลับมาได้เองแล้ว เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวลูกก็พอค่ะ เช่น ไม่ให้หมอนหรือผ้าห่มไปหิดจมูกลูก เป็นต้น
ท่านอนที่เหมาะสม
“ท่านอนที่เหมาะสม คือ นอนหงาย ท่านอนที่เสี่ยงอันตราย คือ นอนคว่ำ”
จากผลงานการวิจัยในหลายๆ แห่ง พบว่าการที่เด็กนอนคว่ำนั้นมีความเสี่ยงต่อการกดทับจมูกและปาก จนทำให้ขาดอากาศหายใจมากกว่าการนอนหงายถึง 2 – 7 เท่าตัว การนอนคว่ำนับเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างมากต่อโรคไหลตายในทารก (SIDS)
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถให้ลูกนอนคว่ำได้นะคะ เพียงแต่ต้องคอยดูแลใกล้ๆ และควรให้ลูกนอนคว่ำได้ในเวลาที่ลูกตื่นอยู่จะดีที่สุดค่ะ
ท่านอนที่ทำให้หัวทุย
บางครอบครัวอยากให้ลูกหัวทุย เลยจับให้นอนตะแคงตลอดเวลาเลยแต่อาจสลับซ้ายบ้างขวาบ้าง ก็ถูกนะคะ แต่ถูกแค่ครึ่งเดียว จริงๆ แล้วเราสามารถให้ลูกนอนหงายก็ได้เพียงแต่ให้หันหน้าไปซ้ายกับขวา เพราะถ้าให้ลูกนอนตะแคงอย่างเดียวลูกอาจเจ็บที่ไหล่ได้ค่ะ เพราะเวลาที่เราตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง ไหล่อีกข้างต้องรับน้ำหนักไว้ ซึ่งนั่นจะหมายถึงลูกต้องห่อตัวตลอด อาจส่งผลต่อโครงสร้างร่างกายลูกได้
ลูกนอนไม่พอมีผลอย่างไร
เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดและง่ายมากทีเดียว เพราะลูกจะร้องงอแง เจ้าอารมณ์ หงุดหงิดง่าย เลี้ยงยากขึ้น และสำคัญจะส่งผลต่อพัฒนาการที่อาจไม่ดีเท่าที่ควรทั้งร่างกายและจิตใจ
ไม่นอนเตียงเดียวกับพ่อแม่
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกนอนเตียงเดียวกันนะคะ เพราะผู้ใหญ่อาจเผลอนอนทับลูกได้ หรือไม่ผ้าห่มอาจไปปิดกั้นทางเดินหายใจของลูกได้ ทางที่ดีให้ลูกนอนที่เตียงของลูกเองที่อยู่ใกล้กับเตียงพ่อแม่ในระยะที่เอื้อมถึง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดค่ะ
การเลือกที่นอนให้ลูก
ไม่ควรเลือกเบาะนอนของลูกที่แข็งหรือนิ่มหรือยวบจนเกินไป เพราะนิ่มเกินไปเวลาที่ลูกนอนอาจทำให้หน้าของลูกจมไปกับเบาะ ทำให้ปิดกั้นทางเดินหายใจได้ และที่สำคัญก็ไม่ควรมีเครื่องนอนเยอะเกินไป ผ้าห่มไม่ควรเป็นผ้านวมนะคะ นิ่มไปก็ทำให้ปิดจมูกและปากลูกได้เช่นกัน
จัดห้องนอนให้เหมาะกับการนอนของลูก
ห้องนอนของลูกควรเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โปร่ง ไม่อับ หรือหากจะใชเครื่องปรับอากาศควรให้อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 25 – 27 องศาเซลเซียส
หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ อารมณ์ดี พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ควรให้ลูกได้หลับพักผ่อนอย่างเต็มที่นะคะ แล้วความสุขที่คุณพ่อคุณแม่จะได้รับก็คือ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของลูกนั่นเองค่ะ