สำหรับเด็ก ๆ เรื่องไอ เรื่องไม่สบายถือว่าเป็นกันได้ค่อนข้างบ่อยตามที่คุณหมอบอกมานะคะ ซึ่งอาการป่วยบ่อยเหล่านี้จะดีขึ้นและค่อย ๆ หายไปเมื่อลูกเข้าวัย 5-7 ปี แต่สำหรับโน้ตเวลาที่น้องมินป่วยทีเขาจะมีอาการจามมาก่อน แล้วก็ไอ คือเรียกได้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่น้องมินไอ โน้ตจะหันขวับทันที น้องมินก็จะบอกว่า
หนูแค่สำลักน้ำลาย
โน้ตก็คิดในใจ
อ่อ แล้วไป
พร้อมกับถอนหายใจหนึ่งเฮือก แล้วเด็กที่ไม่สบายสามารถนอนเปิดแอร์ได้ไหมหรือมีวิธีการดูแลเบื้องต้นอย่างไรบ้าง วันนี้โน้ตจะมาแชร์ให้ฟังค่ะ
ประสบการณ์จากแม่โน้ต
คุณแม่ลูกหนึ่งที่เคยผ่านภาวะครรภ์เป็นพิษมาแล้ว ต้องคลอดลูกก่อนกำหนดด้วยอายุครรภ์เพียง 7 เดือน ต้องเลี้ยงลูกด้วยหลักคำสอนของผู้ใหญ่บ้าง ของตัวเองบ้างเพราะ…เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และยุคสมัยต่างกัน
ในขณะที่ยุคนี้คือ “ยุคดิจิทัล” โจทย์ในการเลี้ยงลูกเปลี่ยนแปลงทุกวัน เราเองก็ต้องตั้งรับให้ดีและเตรียมความพร้อมให้ลูกเช่นกัน
โน้ตเลิฟการอ่าน รักการเขียน ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ค่ะ
Facebook : คุณแม่บ้านบ้าน
Blog : คุณแม่บ้านบ้าน
สารบัญ
วิธีดูแลลูกเบื้องต้นเมื่อลูกมีอาการไอ
เวลาที่น้องมินไอ อาการเด่นของเขาเลยก็คือ มีน้ำมูกตามมาเยอะมาก (ขนาดคุณหมอประจำยังเอ่ยปาก) ดังนั้น การไอของเขาส่วนใหญ่เกิดจากการที่มีน้ำมูกลงไปกวนระบบทางเดินหายใจ ซึ่งถ้าเรื่องของน้ำมูก โน้ตจะดูก่อนว่า ใส เหลือง หรือเริ่มเขียว มีไข้ไหม ยังทานข้าวได้หรือเปล่า เพราะหากน้องมินทานข้าวไม่ได้นั่นแปลว่าเราต้องเตรียมไปหาคุณหมอและอาจจะต้องให้น้ำเกลือเพื่อป้องกันการอ่อนเพลีย (ข้อนี้จากประสบการณ์โน้ตนะคะ) ทีนี้เรามาดูกันค่ะว่า โน้ตมีวิธีรับมือเบื้องต้นกันอย่างไร
- หากลูกมีอาการไอ ไม่ควรเปิดแอร์ให้ลูกค่ะ ใช้พัดลมแทน แต่ไม่ควรเปิดจ่อใส่ลูกนะคะ และเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- เสื้อผ้าที่ลูกใส่ควรเป็นเนื้อผ้าที่เหมาะสมกับฤดูกาล ใส่บาย
- เตรียมน้ำอุ่นให้ลูกไว้ ให้เขาจิบบ่อย ๆ (แม้บางครั้งกลางดึกที่ลูกไอมากก็ต้องบอกให้เขาจิบน้ำค่ะ แล้วจะดีขึ้น)
- อย่างน้องมินจะมีน้ำมูกเยอะ เวลาไม่สบายที โน้ตจะล้างให้เขา 4 ช่วงเวลาเลยค่ะ คือ หลังตื่นนอนตอนเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน (คือล้างปุ๊บ นอนปั๊บ) เพราะตัวการคือ น้ำมูก ซึ่งพอน้ำมูกลด อาการไอก็ลดลงตาม
- ด้วยประสบการณ์ หากโน้ตรับมือเองมาประมาณ 1-2 วันแล้ว อาการดูไม่ดีขึ้นก็จะไปพบคุณหมอค่ะ
วิธีบรรเทาอาการไอลูกแบบธรรมชาติ
- ใช้วิคส์ทาบริเวณใต้ฝ่าเท้า และหน้าอกบาง ๆ พร้อมกับสวมถุงเท้าทับอีกชึ้นหนึ่ง โดยเฉพาะเวลากลางคืนค่ะ บรรเทาอาการไอได้ดีทีเดียว
- ให้น้องมินทานน้ำผึ้งจนตอนนี้อายุ 5 ขวบกว่าแล้วก็ยังทานอยู่ แต่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ห้ามทานนะคะ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ สัดส่วนในการทาน
อายุ 2-5 ปี : ½ ช้อนชา
6-11 ปี : 1 ช้อนชา
12 ปี ขึ้นไป : 2 ช้อนชา - อาหารที่ทาน เน้นอาหารอ่อนค่ะ โน้ตจะทำข้าวต้มอย่างเดียวเลย หรือไม่ก็ไข่ตุ๋น และก็มีน้ำซุปกระดูกหมูเก๋ากี้อุ่น ๆ ชุ่มคอค่ะ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรพบคุณหมอ
โน้ตจะสังเกตเอาจาก…
- สีของน้ำมูก เพราะตัวนี้บอกอาการของโรคได้เยอะ คือ ถ้าเริ่มแรกยังใสอยู่ แบบนี้โน้ตดูแลเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ “น้ำมูกเป็นสีเขียว” นั่นแสดงว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย
- อาการไข้ ถ้าทานยาแก้ไข้แล้วไข้ลดลง แต่กลับมามีไข้อีกหลังจาก 4 – 6 ชั่วโมง สำหรับอาการไข้สูง (ที่มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส) ข้อนี้ไม่ต้องคิดนานเลยค่ะ รีบไปหาคุณหมอด่วนๆ
- อาการไอยังไม่ดีขึ้น และไอเป็นชุด ลูกมีอาการหายใจแรง เหนื่อยหอบ อกบุ๋ม เพราะลูกอาจเป็นหืดได้
แล้วถ้าปล่อยไว้ไม่ไปหาคุณหมอลูกจะเป็นอย่างไร?
จากประสบการณ์ตรงนะคะ คือเวลาน้องมินไม่สบาย โน้ตจะพาเขาไปหาคุณหมอประมาณ 1-2 วันหลังจากที่รับมือไม่ไหวแล้ว แต่เคยเหมือนกันค่ะ ตอนนั้นเห็นเขาไม่ได้มีอาการรุนแรงอะไร อาการไอก็น้อย ไม่มีไข้ เคยตัดสินใจดูแลเองผลสุดท้ายคือ น้องมินมีอาการดังนี้
“มีอาการปวดข้างในหู จนกิหนข้าวไม่ได้ ลูกบ่นเจ็บหู”
พอพาไปพบคุณหมอซึ่งไปถึง 2 แผนก คือ แผนกุมารเวช และแผนกหู คอ จมูก คุณหมอระบุว่าน้องมินเป็น “โรคหูชั้นกลางอักเสบ และไซนัส” ซึ่งเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีการอักเสบแล้วไม่ได้รับการรักษา คราวนั้นเลยแอดมินยาวเลยค่ะ รักษาทั้งหู ทั้งจมูก
เพราะฉะนั้น เวลาที่ลูกไม่สบาย หากคุณแม่เห็นว่าผ่านมาแล้ว 1-2 วันอาการลูกยังไม่ดีขึ้น ให้ไปพบคุณหมอได้เลยนะคะ ไม่อย่างนั้นลูกน้อยอาจต้องได้รับการรักษาอีกหลายเรื่องตามมาก็ได้ค่ะ