คุณแม่ที่คลอดลูกด้วยวิธีการผ่าคลอด ต้องดูแลแผลผ่ามากเป็นพิเศษ คุณแม่หลายคนจะระวังเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ผนวกกับอาจจะได้ยินต่อ ๆ กันมาว่าห้ามกินไข่ ห้ามกินข้าวเหนียว เพราะจะทำให้แผลอักเสบและเป็นหนองได้ ซึ่งด้วยความไม่รู้ของคุณแม่หลังคลอดนี้เองทำให้จะกินอะไรก็กังวลไปเสียหมด ระวังจนกลายเป็นระแวงทำให้การเลี้ยงลูกนั้นไม่สนุก และกลายเป็นความเครียดเข้ามาแทนที่
แต่การเลือกกินอาหารที่ถูกหลักและเหมาะสมกับสภาวะก็อาจจะยังไม่พอ คุณแม่จำเป็นที่จะต้องทราบถึงวิธีปฏิบัติตัวหลังคลอด รวมถึงท้ายบทความเราจะมาแนะนำกันเกี่ยวกับเมนูอาหารของคุณแม่หลังคลอด ที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังคลอด และช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมมาให้อีกด้วยค่ะ ไปติดตามกันเลย
สารบัญ
การปฏิบัติตัวหลังผ่าคลอด
สำหรับคุณแม่ผ่าคลอด ร่างกายจะอ่อนเพลียมากในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เนื่องจากมีการเสียเลือดไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่จะต้องรู้วิธีการปฏิบัติตัวหลังผ่าคลอด ซึ่งมีแนวทาง ดังนี้
ฝึกการหายใจ
เมื่อคุณแม่กลับมาพักฟื้นที่ห้อง และเริ่มมีอาการดีขึ้นแล้ว ควรเริ่มบริหารร่างกายเบา ๆ โดยเริ่มจากการฝึกการหายใจ, บริหารแขน คอ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย พร้อมกับหมั่นตะแคงตัวบ่อย ๆ เพื่อเตรียมพร้อมให้ร่างกายได้ลุกเดิน เป็นการป้องกันแผลกดทับจากการนอนหงายเป็นเวลานาน ๆ
ให้ลูกเข้าเต้าให้เร็วที่สุด
ทันทีที่คุณพยาบาลนำทารกมาให้คุณแม่ ให้คุณแม่เอาลูกน้อยเข้าเต้าให้เร็วที่สุด ให้ลูกดูดเพื่อเป็นการกระตุ้นต่อมน้ำนม และท่อน้ำนมให้ทำงายได้อย่างปกติโดยเร็ว ในช่วงนี้จะมี “น้ำนมเหลือง” ออกมา ซึ่งเป็นส่วนหัวนมที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยมากที่สุด ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับลูกน้อยอีกด้วย
เริ่มจิบน้ำ หากไม่มีอาการแทรกซ้อน
หลังผ่าตัดแล้ว 24 ชั่วโมง คุณแม่ไม่มีอาการแทรกซ้อนอะไร แพทย์จะเริ่มให้จิบน้ำ ทานอาหารเหลว ตามลำดับ หากคุณแม่เริ่มทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลวเร็วเกินไป จะส่งผลให้ท้องอืด และปวดบีบที่ลำไส้ได้
นำสายสวนปัสสาวะออก
หลังผ่าคลอดไปแล้ว 24 ชั่วโมง แพทย์จะหยุดให้อาหารทางหลอดเลือดดำ พร้อมกับนำสายสวนปัสสาวะออก คุณแม่จะรู้สึกสบายตัวขึ้น แต่ก็ไม่ควรนอนนิ่งอยู่บนเตียง ให้พยายามลุกเดินบ้าง ยืนบ้าง เพราะหากคุณแม่ไม่พยายามลุกเดินเลยจะส่งผลให้แผลผ่าตัดเป็นพังผืดได้
กลับบ้านได้
หลังผ่าตัดไปแล้วประมาณ 3-5 วัน หากคุณแม่และทารกแข็งแรงดี ไม่มีอาการแทรกซ้อนอะไร แพทย์ก็จะให้กลับบ้านได้ค่ะ
ผ่าคลอดห้ามกินอะไร
คุณแม่คนไหนที่คลอดลูกด้วยวิธีผ่าคลอด อาหารที่คุณแม่ควรเลี่ยงมีดังนี้ค่ะ
ผลไม้ที่มีแก๊สเยอะ
อาทิ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ทุเรียน แตงโม และฝรั่ง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะได้ทั้งสิ้น ซึ่งจะทำให้คุณแม่เกิดอาการแน่นท้อง อึดอัด ไม่สบายตัวได้ค่ะ
อาหารค้างคืน
อาหารหรือกับข้าวที่ค้างคืน ก่อนกินค่อยนำมาอุ่นร้อนใหม่ไม่ว่าจะด้วยไมโครเวฟหรือจะอุ่นกับเตาแก๊สก็ตาม อาหารลักษณะนี้คุณแม่และลูกน้อยจะไม่ได้สารอาหารอะไรเลย นอกจากอิ่มท้องอย่างเดียว เพราะฉะนั้นควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่จะดีที่สุด
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
เป็นอาหารที่คุณแม่ลูกอ่อนไม่ควรดื่มค่ะ ไม่ว่าจะกรณีใด ๆ เพราะคุณแม่อยู่ในระยะให้นมบุตรด้วย เพราะแอลกอฮอล์สามารถปนออกมากับน้ำนมได้ นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ 1 แก้ว จะส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้ถึง 23% และถ้าหากดื่มมากกว่า 2 แก้ว อาจส่งผลยับยั้งกระบวนการผลิตน้ำนมได้เลยทีเดียว
อาหารหมักดอง
ผลไม้หมักดอง หรือผักดองชนิดต่าง ๆ รวมถึงอาหารที่ใส่ผงชูรส อาจทำให้คุณแม่และลูกน้อยเกิดอาการท้องเสีย หรือท้องอืดได้ ที่สำคัญ เป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งคุณแม่และลูกน้อยอีกด้วยค่ะ
เครื่องดื่มคาเฟอีน
ได้แก่ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต และน้ำอัดลม เหล่านี้อาจเป็นเครื่องดื่มสุดโปรดของคุณแม่เมื่อก่อนตั้งครรภ์ แต่ตอนนี้อย่าลืมนะคะว่าคุณแม่ยังมีอีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆ ที่ต้องดูแล เพราะคาเฟอีนสามารถส่งผ่านออกมากับน้ำนมได้ ถ้าลูกน้อยกินนมแม่ที่มีคาเฟอีนบ่อย ๆ อาจส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยที่ช้าเกินเกณฑ์ปกติค่ะ
อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
อาทิ ซาชิมิ ส้มตำปูปลาร้า ลาบดิบ ก้อย และแหนมดิบ เป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงค่ะ เพราะหลังคลอด ร่างกายของคุณแม่ยังอ่อนแอ และอยู่ในระยะฟื้นตัว ดังนั้น อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และที่สำคัญ ลูกน้อยก็ยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อน พยาธิ และแบคทีเรียในร่างกายได้
อาหารเสริมที่ไม่ได้รับการรับรอง
อาหารเสริมอาจเป็นอาหารที่คุณแม่กินประจำในช่วงก่อนตั้งครรภ์ บางคนอาจคิดว่าถ้ากินอาหารเสริมช่วยจะได้ทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้โดยเร็ว แต่แท้ที่จริงแล้วอาหารเสริมถึงแม้ว่าจะมาจากการผลิตที่ได้คุณภาพ หรือบริษัทที่น่าเชื่อถือ ก็ยังไม่ควรกินในระยะนี้นะคะ เพราะอาจไม่ปลอดภัยต่อลูกน้อยค่ะ
หลังผ่าคลอด กินไข่ กินข้าวเหนียวได้ไหม
เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่มีมากันตั้งแต่โบราณว่าแผลผ่าคลอดห้ามกินไข ห้ามกินข้าวเหนียว แต่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของแผลผ่าคลอดเท่านั้น ยังมีในเรื่องของแผลผ่าตัดอื่น ๆ รวมถึงเรื่องการเจาะหูอีกด้วย เพราะเข้าใจกันว่าไข่ และข้าวเหนียวเป็นของแสลง หากกินเข้าไปแล้วจะทำให้แผลอักเสบ เน่า แผลปูดนูน แผลนูนแดง และหายช้า
ทั้งนี้ ในทางการแพทย์ได้มีการออกมาชี้แจงแล้วว่า…
ไข่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ รวมไปถึงถั่วชนิดต่าง ๆ
เหล่านี้ล้วนเป็นอาหารที่อยู่ในกลุ่มของโปรตีน ที่มีส่วนช่วยให้แผลแห้งและหายเร็ว มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไป
ข้าวเหนียว
จัดเป็นอาหารจำพวกแป้ง กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ให้พลังงานสูง ซึ่งไม่มีผลทำให้แผลอักเสบ หรือทำให้แผลหายช้าแต่อย่างใด อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจกัน
หลังผ่าคลอด กินอะไรได้บ้าง?
ที่ผ่านมาข้างต้น เราก็ได้รู้กันไปแล้วนะคะว่าคุณแม่หลังผ่าคลอดต้องดูแลตัวเองอย่างไร ห้ามกินอะไร มาในส่วนนี้จะเป็นในส่วนของอาหารที่แม่ผ่าคลอดควรทานค่ะ มีเมนูอะไรบ้าง? ไปดูกันเลย
แกงเลียงผักรวม
นับเป็นอาหารยอดฮิตสำหรับคุณแม่หลังคลอด เพราะในแกงเลียงมีผักหลากชนิดที่ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์สำหรับคุณแม่ ช่วยกระตุ้นน้ำนมได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นฟักทอง, เห็ด หรือแม้แต่ในส่วนผสมของแกงเลียงเองที่ทำจากสมุนไพรไทยอย่างข่า หรือพริกไท เป็นต้น
ต้มข่าไก่ใส่หัวปลี
เมนูหัวปลี เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อว่ากระตุ้นน้ำนมแม่ได้เป็นอย่างดี ในหัวปลีอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย โดยเฉพาะไฟเบอร์ ที่ช่วยลดอาการท้องผูกให้คุณแม่ได้เป็นอย่างดี ตามด้วยเนื้อไก่ โปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและช่วยสมานแผลผ่าตัดได้เป็นอย่างดี
ไก่ผัดขิง
ขิงเป็นสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ร้อน ช่วยให้ภายในร่างกายอบอุ่น ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม ทำง่าย ใช้เวลาไม่นานค่ะ ในขณะที่เนื้อไก่ก็เป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอดที่ช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อจากการผ่าตัดคลอดได้
แกงเห็ดรวม
เป็นอีกหนึ่งเมนูสุขภาพ เมนูแนะนำสำหรับคุณแม่หลังคลอด เนื่องจากเห็ดจะช่วยในเรื่องการฟื้นฟูร่างกาย ควบคุมน้ำหนักคุณแม่ได้ดี
ต้มจืดกระเพราะแดงหมูสับ
สำหรับเมนูนี้คุณแม่บางท่านอาจจะยังไม่ค่อยรู้ แต่ช่วงที่โน้ตอยู่ในระยะให้นม เราเองเบื่อกับเมนูอาหารเดิม ๆ ก็เลยเสาะหาเมนูใหม่ ๆ ก็ได้เมนูนี้มาค่ะ วิธีทำเหมือนต้มจืดทั่วไปเลยค่ะ ใช้เวลาทำน้อยมาก แถมกระตุ้นน้ำนมได้ดีอีกด้วย
ฟักทองผัดไข่
เป็นที่ทราบกันดีว่า ไข่เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก มีโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างและฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อที่เกิดจากการผ่าตัดคลอด ในขณะที่ฟักทองมีคุณสมบัติที่ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม อุดมไปด้วยวิตามิน, ไฟเบอร์ และสังกะสี นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน มีไฟเบอร์สูงช่วยลดอาการท้องผูกของคุณแม่หลังคลอดได้ค่ะ
ส่วนแผลผ่าที่เกิดการอักเสบนั้น เป็นไปได้สูงว่าเกิดจากแผลที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดมากเท่าที่ควร หรือไหมเย็บของแผล หรือตัวแผลเองไปเสียดสีกับเสื้อผ้า เมื่อนาน ๆ เข้า ก็สามารถทำให้เกิดแผลเป็นหนอง และอักเสบได้ ส่วนแผลผ่าตัดที่นูนแดง อาจเนื่องมาจากความไม่สมดุลกันของร่างกาย ที่สร้างคอลลาเจนออกมาในปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดกันมาทางพันธุกรรม ไม่ใช่เพราะไข่หรือข้าวเหนียวแต่อย่างใด