ช่วงนี้บ้านเราเข้าฤดูร้อนเต็มตัว อย่าว่าแต่จะเที่ยวนอกบ้านเลยค่ะ แต่เดินในบ้านเหงื่อยังท่วมตัวเลย ทำให้ใครหลาย ๆ คนไม่สบายเนื้อสบายเอาซะเลย รวมถึงลูกน้อยด้วย ผู้ใหญ่ยังพออดทนได้ แต่ทารกสิคะ…เค้าจะร้องไห้โยเยทั้งวัน อาจเพราะมีผดผื่นขึ้นตามตัวก็เป็นได้ เพราะผิวของทารกบอบบางมาก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ
สารบัญ
ผด กับ ผื่น แยกได้อย่างไร?
- ผื่น = มีลักษณะเป็นปื้น นูนแดง
- ผด = มีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ
ประเภทของผดและผื่น
- ผดเหงื่อ เป็นตุ่มเล็กใส ไม่คัน ส่วนมากมักเกิดใต้ร่มผ้า
- ผดร้อน เป็นตุ่มเล็ก มีสีแดงรอบ ๆ มีอาการคันร่วมด้วย
- ผดหนอง เป็นตุ่มสีขาวขุ่น มีการอักเสบติดเชื้อ จึงทำให้มีหนองอยู่ภายใน
- ผื่นแดง เป็นตุ่มใสหรือบางรายก็เป็นตุ่มหนอง
- ผื่น Milia เป็นตุ่มสีขาวออกเหลือง
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวหนังจะแห้งสาก มีตุ่มน้ำเม็ดเล็ก ๆ
- ผื่นผ้าอ้อม เป็นตุ่มหรือปื้นแดง อาจคันระคายเคือง
สาเหตุของผดผื่นในทารก
ผดผื่นที่เกิดจากต่อมไขมัน
เพราะรูขุมขนที่ใช้ระบายต่อมไขมันของทารก ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ บวกกับช่วงที่คุณแม่ท้องฮอร์โมนจะขึ้นสูงมาก ถึงแม้คลอดแล้วยังคงมีฮอร์โมนบางส่วนหลงเหลืออยู่ สิ่งนี้ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ผิวหนังอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ ข้อพับต่างๆ รักแร้ หลังหู ซอกคอ ซึ่งมีต่อมไขมันที่มากกว่าส่วนอื่นๆ บางครั้งอาจพบเป็นสะเก็ดสีเหลืองแข็งๆ ผื่นชนิดนี้ป้องกันไม่ได้ แต่จะค่อยๆ ทุเลา และหายไปเองจนกว่าฮอร์โมนจะปรับตัวลดลงมาถึงระดับปกติ
ผดผื่นที่เกิดจากต่อมเหงื่อ
ข้อนี้จะคล้ายกับเรื่องของต่อมไขมัน เพราะเนื่องจากต่อมเหงื่อในทารกยังทำงานได้ไม่ดีนัก จึงง่ายต่อการอุดตัน ซึ่งเราจะเห็นได้ในลักษณะของผดใส ผดแดง และผดลึก ซึ่งข้อนี้เกิดขึ้นในทารกบ่อยมาก
ผดร้อน
ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกมาทางเหงื่อได้ เพราะเกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ โดยจะพบเป็นลักษณะของผดที่เป็นตุ่มสีแดง เม็ดเล็กๆ บางครั้งก็พบเป็นน้ำใส พบมากบริเวณไรผม หน้าผาก คอ และหลัง บางรายอาจพบที่บริเวณข้อพับ แขน หรือขาร่วมด้วย จะไม่ค่อยพบบริเวณหน้าท้องหรืออก ผดนี้จะหายเองได้
แต่ถ้าหากคันและเกาบ่อยๆ อาจเกิดการติดเชื้อตามมา คุณแม่ควรสังเกตุและระวังอย่าให้ลูกเกาบ่อยๆ หากติดเชื้อแล้ว อาจทำให้มีหนอง ซึ่งแสดงว่าผิวหนังอาจติดเชื้อแบคทีเรียที่มีมากในหน้าร้อน ทั้งนี้ หากคุณแม่ไม่แน่ใจ ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีนะคะ
การป้องกันผดผื่นให้ลูกได้อย่างไร?
อากาศถ่ายเทได้สะดวก
ให้ลูกน้อยอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อบอ้าว เปิดพัดลมช่วย หรือไม่ก็เปิดเครื่องปรับอากาศ แต่อย่าให้อุณหภูมิต่ำเกินไปนะคะ เดี๋ยวจะไม่สบายแทน
ไม่ห่อตัวลูกแน่นเกินไป
ไม่ควรใช้ผ้าอ้อมห่อตัวลูกน้อยแน่นจนเกินไป ต่อมเหงื่อจะต้องทำงานหนักขึ้นในการช่วยระบายความร้อน และเสี่ยงที่จะเกิดผดผื่นมากกว่า นอกจากนี้ ด้วยความที่อากาศร้อนเป็นทุน การห่อตัวลูกน้อยยิ่งทำให้เค้าร้อน และหงุดหงิดมากขึ้น
ระบายความร้อนให้ลูกน้อย
หมั่นอาบน้ำหรือเช็ดตัวให้ลูกน้อย เพื่อช่วยให้ร่างกายได้ระบายความร้อน และยังทำให้ลูกได้อารมณ์ดีอีกด้วยค่ะ
ทาคาราไมน์บาง ๆ
หากลูกเริ่มมีอาการคัน ให้ใช้คาราไมน์ทาบางๆ ที่ผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการคันได้ค่ะ
อาบน้าลูกด้วยน้ำเปล่า
การอาบน้ำทารก คุณแม่อย่าเพิ่งรีบใช้สบู่หรือแชมพูอาบน้ำนะคะ (ถึงแม้จะของเด็กก็ตาม) เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ความชุ่มชื้นที่ผิวหนังของลูกน้อยหายไป ใช้เพียงน้ำเปล่าก็พอค่ะ แต่ถ้าลูกน้อยอายุได้ 6 สัปดาห์แล้ว ถึงใช้ได้ค่ะ แต่ก็ในปริมาณที่น้อยก่อนนะคะ
เช็ดตัวลูกให้แห้ง
ล้างตัวลูกน้อยให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณข้อพับต่างๆ ซอกคอ หรือขาหนีบ แล้วเช็ดตัวลูกน้อยให้แห้งที่สุดเท่าที่จะแห้งได้ ไม่ให้ลงเหลือความอับชื้นตามข้อพับ ไม่อย่างนั้นจะก่อให้เกิดความอับชื้นที่ผิวหนังของลูกน้อยได้
ใส่เสื้อผ้าให้เหมาะกับสภาพอากาศ
การเลือกเสื้อผ้าให้ลูกน้อย ข้อนี้ก็สำคัญค่ะ หากเป็นเสื้อผ้าที่ใส่ตอนกลางวัน ควรเป็นผ้ายืด ถอดง่าย ระบายความร้อนได้ดี (บางครอบครอบครัวให้ใส่เสื้อกล้ามเลยก็มี) และควรทำจากวัสดุที่บางเบาอ่อนนุ่ม เช่น ผ้าฝ้าย และผ้าสำลี เพราะจะช่วยดูดซับความเหงื่อและความชื้นได้ดีกว่าผ้าใยสังเคราะห์ ก่อนซื้อคุณแม่ควรตรวจดูตะเข็บหรือรอยเย็บต่าง ๆ ว่าจะมีส่วนไหนที่จะทำให้ผิวลูกน้อยระคายเคืองหรือไม่ เพราะหากใส่ไปแล้วอาจทำให้เค้าไม่สบายตัว และร้องโยเยได้
หากลูกน้อยยังมีอายุต่ำกว่า 6 เดือน
คุณแม่ยังไม่ควรทาครีมกันแดดให้ลูกนะคะ เพราะผิวลูกยังบอบบางมาก แต่ถ้าครบ 6 เดือนแล้ว สามารถทาได้ค่ะ แต่บางๆ นะคะ
ข้อควรระวัง
- ควรดูระดับ SPF ที่มากกว่า 15 ขึ้นไปต้องไม่มี PABA
- ก่อนพาลูกลงเล่นน้ำ ควรทาครีมกันแดดให้ทั่วบริเวณที่อยู่นอกร่มผ้าและใบหู
- ทาครีมกันแดดก่อนลงน้ำซัก 30 นาที เพื่อให้ครีมซึมเข้าสู่ผิว
วิธีการดูแลลูกน้อยช่วงหน้าร้อน
ตรวจสอบอาหารก่อนให้ลูกน้อยทาน
ข้อนี้ต้องดอกจันกันตัวโต ๆ เพราะหน้าร้อนอาหารจะบูดเสียได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบก่อนปรุง หรือปรุงสุกแล้ว รวมถึงนมสำเร็จรูปที่ผ่านการชงมาแล้ว ดังนั้น ก่อนที่คุณแม่จะให้ลูกน้อยทานอะไรควรชิมก่อนในทุกครั้งนะคะ
ดื่มน้ำเปล่าสะอาดมาก ๆ
เพราะด้วยความที่อากาศร้อนนี่แหละค่ะ ทำให้ลูกน้อยเสียเหงื่อมาก คุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยดื่มน้ำเปล่าสะอาดบ่อย ๆ แต่ควรเป็นน้ำในระดับอุณหภูมิห้องนะคะ นอกจากจะเป็นการป้องกันภาวะขาดน้ำได้แล้ว ยังเป็นการช่วยลดอาการท้องผูก ช่วยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีอีกด้วยค่ะ
หมั่นเช็ดตัว อาบน้ำ หรือเล่นน้ำ
อากาศร้อนทำให้ลูกหงุดหงิด งอแง ไม่สบายตัว การเช็ดตัวคลายร้อน อาบน้ำ หรือจะชวนลูกเล่นน้ำก็จะเป็นเรื่องดีทีเดียวค่ะ เป็นการช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ช่วยให้ลูกนอนหลับง่ายขึ้น สบายตัวขึ้น
ถ้าให้ลูกเล่นน้ำ ระดับน้ำไม่ควรสูงเกินไป และต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วยตลอดนะคะ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจคาดไม่ถึงค่ะ
เลี่ยงการอยู่กลางแจ้งแดดจัด
เพราะผิวของทารกบอบบางมาก หากพาลูกมาตากแดดเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้ผิวของลูกไหม้ได้ค่ะ และที่สำคัญ อาจทำให้ลูกเป็นไข้ได้
ไม่พาลูกน้อยเข้า – ออกห้องแอร์บ่อย ๆ
เวลาอากาศร้อนทีไร คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะพากันไปเดินเล่นแช่แอร์ที่ห้าง แต่พอออกมาจากห้าง ต้องเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดของเมืองไทย ทำให้ร่างกายของลูกน้อยปรับตัวไม่ทัน ซึ่งจะส่งผลให้ลูกน้อยไม่สบายได้
ข้อนี้ควรระวังมาก ๆ สำหรับเด็กที่มีเป็นโรคภูมิแพ้อากาศอยู่ก่อน เพราะมีแนวโน้มที่จะไม่สบายง่ายกว่าเด็กคนอื่น ๆ ค่ะ
สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะกับสภาพอากาศ
เสื้อกล้ามหรือเสื้อแขนกุด เป็นคำตอบที่ดีค่ะ เนื้อผ้าควรเป็นผ้าฝ้าย (Cotton) หรือ Cotton Spandex ก็ได้ค่ะ
แล้วผดผื่นในทารกที่เกิดขึ้นสามารถรักษาได้หรือไม่ หรือมันจะหายได้เอง มาไขข้อข้องใจกันกับบทความนี้ค่ะ “วิธีรักษาผดผื่นบนใบหน้าของทารก คุณพ่อคุณแม่ควรรู้”