คุณแม่เคยเดินตามลูกทุกฝีก้าวที่สนามหญ้าไหม? เคยจูงมือเดินขึ้นและลงบันไดหรือไม่? นี่เป็นเพียงตัวอย่างพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่ห่วงลูก กลัวว่าลูกจะไม่ได้รับความปลอดภัย กลัวว่าลูกจะเจ็บตัว แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ประสบการณ์ในการตัดสินใจของลูกว่าจะทำอะไร และไม่ทำอะไร? ยังมีอีกหลายอย่างค่ะที่เป็นสัญญาณว่าคุณปกป้องลูกมากเกินไป
สารบัญ
เพราะอะไรการปกป้องลูกมากเกินไปจึงไม่ใช่เรื่องที่ดี
ด้วยธรรมชาติของเด็ก เด็กควรที่จะต้องได้เรียนรู้จากธรรมชาติ ซึ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ปกป้องลูกน้อยจากอันตรายหรือความผิดหวังต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา นั่นก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้และพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็ก
ตัวอย่างเช่น ทางโรงเรียนจะมีการเข้าค่ายที่ต่างจังหวัด 2 คืน 3 วัน แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่อนุญาตให้ลูกไป แบบนี้จะยิ่งทำให้ลูกไม่มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต ซึ่งมาถึงตรงนี้แล้ว แม่โน้ตเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงนึกภาพออกแล้วใช่มั้ยคะว่าจากเหตุการณ์ตัวอย่างนี้จะผลในแง่ใดกับลูกบ้าง
สัญญาณที่บอกว่าคุณปกป้องลูกมากเกินไป
- สกรีนเพื่อน เลือกเพื่อนให้ลูก เช่น เมื่อไปรับลูกที่โรงเรียนคุณจะมองเพื่อน ๆ ของลูก และสกรีนอย่างไว และในทุก ๆ วันคุณจะมองหาว่าเพื่อนคนไหนน่าคบโดยคุณเป็นคนตัดสินใจให้ลูกเองว่าลูกควรคบคนไหน
- ไม่ให้ลูกทำกิจกรรมด้วยตัวเอง เช่น ลูกต้องการจะไปเล่นสนามเด็กเล่นของหมู่บ้านซึ่งอยู่แค่หน้าบ้านคุณแม่ แต่คุณแม่ไม่อนุญาตให้ลูกไป เพราะกลัวอันตรายจากการตกของเล่น และกลัวเจอเพื่อน ๆ หรือเด็กที่มีอายุมากกว่ามาแกล้ง
- ตัวติดกับลูกตลอดเวลา
ข้อนี้อาจเป็นเด็กที่โตขึ้นมาสักหน่อย แต่คุณแม่มีพฤติกรรมที่ตามติดลูกตลอดเวลา ไม่ว่าลูกจะไปซ้อมดนตรีที่โรงเรียน หรือลูกจะไปซ้อมกีฬา เพื่อที่จะตามดูแลลูก ดูว่าลูกจะปลอดภัยไหม - ไม่ให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเองแม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ เช่น การถือจานข้าวไปเก็บไว้ที่อ่างล้างจาน เพราะกลัวจานตกแตก บาดเท้าลูก กลัวว่าลูกจะร้องไห้และเจ็บตัว
- ไม่ให้ลูกไปค้างอ้างแรมนอกบ้าน โดยเฉพาะไปนอนที่บ้านเพื่อน เพราะกลัวอันตรายจากคนแปลกหน้า
- ไม่ให้ลูกไปเข้าค่ายที่โรงเรียน หรือไปทัศนศึกษากับทางโรงเรียน เพราะกลัวอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นกับลูก
- ถามลูกในทุกวันเกี่ยวกับชีวิตในรั้วโรงเรียนซึ่งลูกไม่ใช่นักเรียนประจำ ถามว่าแต่ละชั่วโมงลูกทำอะไรบ้าง อย่างละเอียด
- คุณพ่อคุณแม่แนะนำลูกเกี่ยวกับวิธีการว่าทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ เพราะคุณแม่ไม่อยากใหลูกต้องเผชิญกับความล้มเหลว และความเสียใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกตัวแทนต่าง ๆ
- คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจแทนลูกในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเสื้อผ้าที่จะใส่ในแต่ละวัน รวมไปถึงเมื่อเขาโตคุณก็ยังขับรถไปรับไปส่ง
- คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกอยู่ในสายตาตลอด เพราะไม่ต้องการและไม่อนุญาตให้ลูกมีเรื่องส่วนตัว หรือความลับกับคุณพ่อคุณแม่
- เมื่อลูกลองตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองแล้วมาบอกคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ก็อารมณ์เสีย เนื่องจากการตัดสินใจนั้นไม่ถูกใจ และไม่ได้ดั่งใจคุณพ่อคุณแม่
ผลเสียของการปกป้องลูกมากเกินไป
จากพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้น แม้ว่าหลาย ๆ ครอบครัวจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นไปเสียหมด อย่างไรก็ตาม ผลเสียของการเลี้ยงดูลูกในแบบที่กล่าวไปนั้นก็ส่งผลเสียได้อยู่ดีค่ะ ดังนี้
ไม่เห็นคุณค่า และขาดการนับถือในตัวเอง (Low Self Esteem)
เนื่องจากลูกไม่เคยได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง ลูกจึงไม่มีความมั่นใจ ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง และจะคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่มีใครต้องการ
ขาดทักษะในการตัดสินใจด้วยตัวเอง
เพราะลูกไม่เคยมีโอกาสได้ลองตัดสินใจด้วยตัวเอง จึงไม่ได้เรียนรู้ขั้นตอน การรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจ
เกิดความวิตกกังวล
หากวันหนึ่งลูกได้รับอนุญาตให้ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง ลูกจะเกิดความวิตกกังวลมาก เนื่องจากที่ผ่านมาคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจให้ตลอด
ไม่สามารถจัดการปัญหาชีวิตตัวเองได้
เหตุเพราะที่ผ่านมา มีคุณพ่อคุณแม่คอยตัดสินใจ คอยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ในทุกด้าน ไม่ต้องแบกรับปัญหาต่าง ๆ เอง จึงไม่รู้วิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ความรักที่มีต่อลูกของคุณพ่อคุณแม่เป็นเรื่องปกติค่ะ แต่การรักลูกมากเกินไป ปกป้องลูกในทุกเรื่อง จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะฉะนั้นคิดใหม่ ทำใหม่กันนะคะคุณพ่อคุณแม่ รักลูกควรให้ลูกได้เรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตัวเองนะคะ