ออทิสติกเป็นพฤติกรรมที่พบได้มากในวัยเตรียมอนุบาลและวัยอนุบาล ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มากจากการเลี้ยงดู แต่พฤติกรรมไหนที่เรียกว่า “ออทิสติกเทียม” อาการเป็นอย่างไร และที่สำคัญสามารถรักษาหายไหม อันนี้คือคำถามที่คุณพ่อคุณแม่อยากรู้ วันนี้เราไปดูกันค่ะ
ออทิสติกเทียม คืออะไร?
ออทิสติกเทียม หรือพฤติกรรมที่คล้ายออทิสติกเป็นภาวะที่เกิดจากเด็กขาดการถูกกระตุ้นใน “การสื่อสารแบบสองทาง หรือ Two-Way Communication” คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูลูกโดยปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว หรือ One-Way Communication ปราศจากการปฏิสัมพันธ์กันภายในครอบครัว เช่น ไม่ได้มีการเล่นกัน ไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้น จึงส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็กที่มีความผิดปกติไป
ออทิสติก vs ออทิสติกเทียม
เด็กที่เป็นโรคออทิสติกนั้นเกิดจากความผิดปกติของสมองของเด็กเองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่ออทิสติกเทียมหลัก ๆ แล้วจะเกิดจากการ “ขาดการกระตุ้น” ทั้งสองอย่างแล้วดูเผิน ๆ อาจจะคล้ายกัน แต่เด็กที่เป็นออทิสเทียมหากได้รับการกระตุ้นหรือการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมและถูกต้องแล้วในระยะเวลาสั้น ๆ เด็กก็สามารถกลับมามีพฤติกรรมที่เป็นปกติได้
ส่วนเด็กที่เป็นออทิสติกจะยังมีพฤติกรรมที่ต่างจากเด็กปกติอย่างเห็นได้ชัด แต่เด็กที่เป็นออทิสติกก็ยังสามารถได้รับการกระตุ้นและพัฒนาพฤติกรรมได้เช่นกัน หากทำอย่างเหมาะสมและถูกทาง เด็กก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ค่ะ
อาการออทิสติก
หากคุณพ่อคุณแม่กังวลหรือไม่แน่ใจว่าลูกน้อยมีอาการออทิสติกหรือไม่ สามารถเช็คได้ ดังนี้
- ไม่มีการสบตากับคนที่มาพูดคุยด้วย
- ชอบทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ
- พัฒนาการด้านการพูดช้า แม้อายุ 2 ขวบแล้วก็ยังพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง จับใจความไม่ได้ รวมถึงพูดไม่เป็นภาษา
- ไม่มีการส่งเสียงอ้อแอ้ แม้ว่าถึงวัยที่จะต้องพูด
- ไม่มีการแสดงท่าทางหรือแสดงความพยายามที่จะส่งเสียงร้อง
- ไม่ตอบสนองต่อแสง สี เสียงที่คุณพ่อคุณแม่พยายามเอามาเป็นสิ่งเร้า
- เรียกแล้วไม่หัน ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจต่อเสียงกระตุ้น แม้จะเป็นเสียงของคุณพ่อคุณแม่
- ไม่มีพฤติกรรมที่จะพยายามเลียนเสียงหรือท่าทางอื่น ๆ ของคนรอบข้างที่มาพูดคุยด้วย
- ไม่รู้จักบทบาทสมมติ เล่นตามบทบาทสมมติไม่เป็น เช่น เล่นเป็นแม่ค้า หรือเล่นเป็นคุณหมอ
- ชอบเล่นคนเดียว ปลีกตัว ไม่ชอบเข้าสังคมกับเด็กคนอื่น
- ไม่สามารถบอกหรืออธิบายความต้องการของตัวเองได้ ดังนั้นจึงมักใช้วิธีการโวยวาย และอาละวาดแทน
- มีวิธีการในการแสดงออกที่ต่างจากเด็กคนในวัยเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน
- ร้องไห้งอแงแบบไม่มีเหตุผล มีพฤติกรรมเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจแรงกว่าเด็กคนอื่น ๆ
ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่เช็คดูแล้วมีอาการที่มากกว่า 2-3 ข้อ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยที่ถูกต้องอีกครั้งนะคะ เพราะหากลูกได้รับการกระตุ้นอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง อาการก็จะดีขึ้นได้ภายใน 6 เดือน และกลับมาเป็นปกติได้
วิธีป้องกันออทิสติกเทียม
อาการออทิสเทียมสามารถป้องกันได้ค่ะ
- ไม่ควรให้ลูกหรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ รู้จักหน้าจอไม่ว่าจะเป็นทีวี สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต แต่หากลูกมีอายุมากกว่า 2 ขวบ สามารถให้เล่นได้ แต่ควรกำหนดเวลาโดยที่ไม่ควรเกิน 1 ชม. ต่อวัน
ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่ควรกำชับกับลูก พูดให้ลูกเข้าใจก่อนเล่น และเมื่อใกล้ถึงเวลาเลิก ควรเตือนเขาก่อนว่า “อีก 10 นาที เลิกเล่นนะลูก” เพื่อให้เขาได้รู้ตัวก่อน จะได้ไม่งอแงเมื่อต้องเลิกเล่น
- ชวนลูก ๆ ทำกิจกรรมอื่น เช่น หากิจกรรมทำ หรือหาของเล่นที่เสริมพัฒนาการมาเล่นกับลูกแทน เช่น วาดรูป ระบายสี เล่นเกมกระดาน ต่อบล็อก ฯลฯ
- คุณพ่อคุณแม่ควรชักชวนลูก ๆ พูดคุยบ่อย ๆ อย่างน้อย ๆ วันละ 30 นาที ถึง 1 ชม. เพื่อฝึกลูกในเรื่องการตอบโต้ และรู้จักการสื่อสารกับผู้อื่น
- หาโอกาสพาลูก ๆ ได้ไปเข้าสังคมกับเด็ก ๆ ในวัยเดียวกันด้วยนะคะ เพื่อให้ลูกได้ฝึกการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
- หมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกอยู่เสมอ เพราะถ้าหากพบอาการที่คล้ายว่าจะเป็นออทิสติก จะได้พาลูกไปปรึกษาแพทย์ได้ทันท่วงที เพราะถ้ารู้แล้ว หายเร็วค่ะ
อาการออทิสติกเทียมเป็นอาการที่สามารถรักษาให้หายได้ หากลูกรับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมและถูกต้อง
ข้อมูลอ้างอิง bangkokhospital.com, Motherhood.co.th