คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตไหมคะว่าปัจจุบันการแสดงออกทางด้านลบในเรื่องความแตกต่างนั้นมีมากขึ้น ความแตกต่างที่ว่านั้น ได้แก่ เชื้อชาติ สีผิว ฐานะทางครอบครัว วัฒนธรรม ศาสนา ตลอดจนเรื่องของความเชื่อ จริงอยู่เรื่องของความแตกต่างนี้มีมาอย่างช้านาน แต่ก็ไม่ได้มีการแสดงออกถึงความเกลียดชังจนนำไปสู่การบูลลี่ได้ชัดเจนเท่าในปัจจุบัน เราในฐานะคนเป็นพ่อเป็นแม่ควรสอนลูกให้ยอมรับกับความแตกต่างเพื่อที่จะได้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข
สารบัญ
สอนให้ลูกยอมรับความแตกต่าง
การสอนให้ลูกยอมรับความแตกต่างนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเด็กค่ะ ซึ่งสามารถเริ่มได้ ดังนี้
อ่านหนังสือนิทานให้ฟัง
หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าใจในความแตกต่างแล้วล่ะก็ สามารถเริ่มได้ง่าย ๆ ด้วยการเลือกหนังสือนิทาน หรือหนังสือภาพมาอ่านร่วมกับเด็ก ๆ ก็ได้ค่ะ อ่านให้ลูกฟังไปด้วย และชวนลูกพูดคุยไปด้วยว่าถ้าหนูเจอเหตุการณ์แบบนี้หนูจะทำอย่างไร ถ้าหากลูกคิดไม่ออก ไม่ต้องคะยั้นคะยอเค้านะคะ แต่เราควรอธิบายให้ลูกฟังว่าไม่ทำเพราะอะไร หรือทำ เพราะอะไร เป็นต้น
ยกตัวอย่างความแตกต่างด้านภาษา
เริ่มจากความแตกต่างในภาษาไทยก่อนก็ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เช่น คำว่า “อร่อย” ในแต่ละภาคพูดว่าอย่างไรเป็นต้น อย่างภาคใต้ คือ “หรอย” ภาคเหนือ คือ “ลำ” เป็นต้น ถึงแม้ว่าเราจะมีภาษาพูดท้องถิ่นที่ต่างกัน แต่เราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน หรือแม้ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ ภาษาที่ใช้สื่อสารอาจต่างจากเราโดยสิ้นเชิง แต่การคบกันเป็นเพื่อนเราคบที่จิตใจ ไม่ใช่หน้าตา และเชื้อชาติ เป็นต้น
พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดี
เมื่อเราเป็นพ่อคนแม่คน เราจะรู้สึกได้เลยว่าลูก ๆ มักจะเลียนแบบพฤติกรรม ตลอดจนความคิดของคุณพ่อคุณแม่แทบจะในทุกด้าน (ยกเว้นว่าเมื่อลูกโตไปมีประสบการณ์และมีมุมมองของตัวเอง) ดังนั้น เราควรฉวยช่วงเวลานี้ เวลาที่ชีวิตเขายังมีแต่เราเอาไว้ ด้วยการเสริมมุมมอง ทัศนคติ และความรู้ด้านความแตกต่างอย่างถูกเอาไว้ค่ะ โดยการที่เราควรเป็นต้นแบบที่ดีไม่วิจารณ์ใครในด้านลบโดย เฉพาะการวิจาร์ให้เกิดความแตกแยก
ข้อนี้จะยิ่งดีขึ้นไปมาก ๆ หากคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนหรืออธิบายให้ลูกเข้าใจได้ เกี่ยวกับทางออกอย่างละมุนละม่อมจากตัวอย่างเหตุการณ์ด้านความแตกต่างที่เราได้ประสบมาหรือจากข่าว เพราะจะเป็นการฝึกให้ลูกได้คิดวิเคราะห์ ประมวลผล และหาแก้ไขค่ะ
ให้ลูกได้เล่นกับเด็กคนอื่น ๆ
การให้ลูกได้เล่นกับเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ จะทำให้ลูกเรียนรู้ได้เร็ว ว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกันได้ และเหมือนกันได้ ซึ่งความแตกต่างที่ว่า ได้แก่ ด้านนิสัย บุคลิก และคำพูด ลูกจะค่อย ๆ ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญ ยังเป็นการฝึกให้ลูกได้มีการปรับตัวเข้ากับสังคม นับเป็นการพัฒนาลูกในด้านของ EQ (Emotional Quotient) อีกด้วย
อธิบายให้ลูกเข้าใจเรื่องเอกลักษณ์ของแต่ละชนชาติ
เนื่องจากในโลกเราประกอบไปด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ หลายภาษา หลายความคิด หลากมุมมอง เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของความแตกต่าง คุณพ่อคุณแม่สามารถหาหนังสือชนชาติต่าง ๆ มาอธิบายประกอบความเข้าใจให้ลูกได้นะคะ เพื่อให้เขาได้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น แล้วค่อย ๆ อธิบายไปทีละเล็กทีละน้อย ว่าถึงแม้ว่าชาตินี้ที่มีผิวขาว จมูกโด่ง จะมีภาษาการสื่อสารที่ต่างไปจากเราแต่เราก็รู้จักกันได้ด้วยจิตใจที่ดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เป็นต้น เราไม่ได้คบกัน คุบกันที่รูปลักษณ์ภายนอก หรือเพียงเพราะภาษาที่ต่างจากเรา
การสอนให้ลูกรู้จักและยอมรับความแตกต่างในสังคม หรือเชื้อชาติก็เพื่อเป็นการป้องกันลูกของเราไปบูลลี่คนอื่น ทั้งนี้ เราก็ไม่ได้ต้องการให้ลูกถูกบูลลี่เช่นกัน ซึ่งหากลูกของคุณพ่อคุณแม่ถูกบูลลี่มา ให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ข้าง ๆ ลูก เป็นกำลังใจให้ลูก และอธิบายให้ลูกฟังว่าแท้จริงแล้ว ความแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้หากเกิดขึ้นในโรงเรียน คุณแม่ควรแจ้งครูประจำชั้นให้ทราบ เพื่อหาทางออกต่อไปนะคะ