เมื่อลูกอายุครบ 6 เดือนขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ก็จะเริ่มสรรหาอาหารให้ลกเริ่มรัปประทาน ซึ่งเรามักทราบกันดีว่า อาหารชนิดไหนมีประโยชน์กับเด็ก และเด็กควรทาน แต่สำหรับอาหารบางชนิดนั้น ก็เป็นอาหารที่คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ให้ลูกรับประทาน เพราะอาจมีผลเสียต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะเจ้าหนูวัยต่ำกว่า 2 ปี ที่ยังต้องดูแลเรื่องการกินอาหารกันเป็นพิเศษ
เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่า อาหารอะไรบ้าง ที่ลูกน้อยของเราควรหลีกเลี่ยง และเป็นเพราะอะไร
สารบัญ
1.น้ำผึ้ง
ผู้ใหญ่มักคิดกันเสมอว่าน้ำผึ้งนั้นมีประโยชน์ และเป็นตัวยาสมุนไพรในการรักษาหลายโรค แต่ว่าสำหรับเจ้าหนูน้อยวัย 6 เดือน ถึง 2 ปี ยังไม่ควรกินน้ำผึ้งเข้าไปนะคะ เพราะน้ำผึ้งอาจทำให้ท้องผูก หรือเกิดอาการเบื่ออาหาร เพราะน้ำผึ้งอาจมีเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับลำไส้ของเด้กวัยต่ำกว่า 2 ปี ได้ค่ะ
2.อาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้
ปัจจุบัน เด็กๆ มีอาการแพ้อาหารเกิดขึ้นกันมาก อย่างเช่น นมวัว ถั่วลิสง อัลมอนด์ ข้าวสาลี อาหารทะเลต่างๆ ดังนั้น เพื่อป้องกันการแพ้อาหารที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้ ควรระวังเรื่องการทานอาหารเหล่านี้เป็นอย่างมาก
3.ช็อกโกแลต
ช็อกโกแลตอาจจะเป็นของชอบของเด็กๆ แต่ในเด็กเล็ก ควรระงับความชอบอย่าให้เขาได้ลิ้มรสช็อกโกแลตเลยจะดีกว่าค่ะ เพราะในช็อกโกแลตนั้นมีส่วนผสมของคาเฟอีน เมื่อเจ้าหนูทานเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ อีทั้งส่วนผสมในช็อกโกแลต อย่าง นม ถั่วลิสง ก็อาจจะไปกระตุ้นอาการแพ้อาหารของลูกน้อยให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน
4.ป๊อบคอร์น องุ่น และเจลลี่ต่างๆ
อาหารที่มีลักษณะ เหนียว แข็ง ลื่น และมีรูปร่างกลม เป็นอาหารที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับเด็ก โดยที่พ่อแม่อาจไม่ทันได้ระวัง เพราะอาหารเหล่านี้มักจะลื่นไปติดหลอดลม เป็นอันตรายมาก และอาจทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตได้เลยนะคะ
5.อาหารที่ปรุงไม่สุกดี
มีอาหารหลายอย่างที่เราชอบกินกัน จนอาจลืมคิดไปว่า นั่นคืออาหารที่ยังปรุงไม่สุกดี เช่น ไข่ต้มยางมะตูม ซึ่งอาจเป็นเมนูแสนอร่อยสำหรับผู้ใหญ่ แต่อาหารที่ปรุงไม่สุกจนได้ที่นั้น อาจก่อให้เกิดอันตรายกับลูกน้อยนะคะ รวมไปถึงเนื้อสัตว์และผักต่างๆ ควรปรุงให้สุกจนแน่ใจว่าลูกกินได้ เพราะอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ มักมีเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นอันตรายกับเด็กๆ ค่ะ
6.เกลือ หรืออาหารที่มีรสเค็ม
สำหรับเด็กวัยต่ำกว่า 1 ปี แนะนำว่าไม่ควรใช้เกลือในการปรุงอาหาร เพราะเป็นวัยที่ไตกำลังพัฒนา และไตของเด็กน้อยนั้น ยังไม่พร้อมที่จะกรองอาหารที่มีรสเค็มจนเกินไป ในอาหารที่นำมาปรุงให้ลูก จะมีรสชาติอาหารที่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปรุงด้วยรสเค็มมากเกินไปค่ะ
7.น้ำตาล หรืออาหารที่มีรสหวาน
ของหวานกับเด็ก อาจจะดูเป็นของคู่กัน แต่จริงๆ แล้ว เด็กๆ ไม่ควรได้รับน้ำตาลมากจนเกินไป ยิ่งในเด็กต่ำกว่า 2 ปี ไม่จำเป็นต้องกินอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเลยก็ได้ การฝึกให้เด็กกินหวานบ่อยๆ จะทำให้เด็กติดรสนั้นไปเรื่อยๆ และอาจนำมาซึ่งโรคภัยต่างๆ ในอนาคตนะคะ
8.อาหารที่มีวัตถุเจือปนอาหาร
สำหรับเด็กเล็กนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารสะดวกซื้อ ที่อาจเต็มไปด้วยวัตถุเจือปนในอาหารต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อลูก เช่น อาหารที่มี สีผสมอาหาร วัตถุกันเสีย สารให้ความหวานแทนน้ำตาล น้ำตาลดัดแปลง ผงปรุงแต่งรสเกลือ ซึ่งวัตถุเจอปนอาหารบางชนิด อาจทำให้เกิดอาการไฮเปอร์ได้ ในขณะที่บางตัวอาจทำให้สมองผิดปกติ หรือเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง หากจะซื้อให้เด็กรับประทาน คุณพ่อคุณแม่ควรเคร่งเรื่องการดูฉลากสักนิด แต่ทางที่ดี ทานอาหารที่ปรุงเอง หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการดัดแปลงน้อย จะเกิดประโยชน์กับลูกน้อยมากกว่านะคะ
นอกจากอาหารเหล่านี้แล้ว ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่เด็กๆ ควรหลีกเลี่ยง เช่น อาหารที่ไม่มีคุณค่าทางสารอาหารต่างๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจในเรื่องการทานอาหารของลูกในวัยนี้เป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากลูกเริ่มต้นทานอาหารที่มีประโยชน์ และเสริมสร้างร่างกายใหแข็งแรง ไม่สะสมสารพิษ หรือติดรสชาติบางรสชาติมากเกินไป ก็จะทำให้เด็กๆ โตขึ้นมาด้วยสุขภาพที่แข็งแรง แล้วโตขึ้น หนูๆ กจะเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ด้วยตัวเองแล้วล่ะค่ะ