“ทำไมไม่เป็นของหนูคนเดียว”
บ่อยๆ เลยที่แม่ไก่สังเกตเห็นว่าลูกๆ มักจะมีความคิดและพฤติกรรมหวงของ ไม่ว่าจะเป็น ของเล่น ของใช้ ของกิน ทั้งๆ ที่เราก็จะบอกอยู่ตลอดเวลาว่า ให้แบ่งกันนะ อย่าแย่งกันนะ แม่ให้เท่าๆ กันนะลูก
ประสบการณ์จากแม่ไก่
แม่ไก่ลูก 2 เชื่อมการเลี้ยงดูแบบโบราณสมัยคุณย่ากับโลกยุค 4.0
ต้องยอมรับว่าสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเลี้ยงลูกก็จำเป็นต้องปรับตามไปเพื่อให้เท่าทันกับสังคมปัจจุบัน แต่จะทำอย่างไรเมื่อความจำเป็นที่แม่สมัยใหม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้านไม่สามารถดูแลลูกด้วยตัวเองตลอดเวลาได้อย่างที่ใจคิดจึงต้องฝากลูกให้คุณย่าช่วยดูแล
สารบัญ
เคสที่เกิดขึ้นจริง
“หนูไม่แบ่งให้พี่เซียนหรอก หนูจะกินคนเดียว!”
มีเช้าวันหนึ่งคุณย่าเตรียมอาหารเช้าให้เด็กๆ ก่อนไปโรงเรียน ทำข้าวผัดสำหรับน้องซีและก็มีสำหรับทำข้าวกล่องตอนมื้อกลางวันด้วย เพราะพี่เซียนเป็นคนไม่ค่อยชอบกินข้าวผัด คุณย่าก็เลยเตรียมข้าวกับไก่ทอดให้ แต่เช้านี้ไม่เป็นอย่างที่คิด พี่เซียนไม่ยอมทานข้าวเช้าบอกย่าว่าไม่หิว แต่เดินขึ้นมาหาแม่ด้วยน้ำเสียงสะอื้นๆ น้ำตาคลอๆ แล้วก็มาบอกแม่ว่า…
“หนูอยากกินข้าวผัด”
แม่ไก่ก็งงเล็กน้อยว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ยอมกินข้าวไก่ทอดของโปรด น้องซีก็ยืนยันเสียงแข็งว่า…
“หนูจะกินให้หมดคนเดียว หนูไม่อิ่มถ้าแบ่งให้พี่เซียน”
“เพราะอะไร?”
พี่เซียนเป็นอะไร ทำไมต้องร้องไห้ด้วยกับเรื่องแค่นี้เองในความคิดของเรา อาจเป็นเพราะความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเท่าเทียม รู้สึกตัวเองไม่ได้รับความสนใจ แล้วก็เลยมาน้อยใจ เพราะว่าตัวเองไม่ยอมบอกความต้องการของตัวเองตั้งแต่แรก แต่น้องกล้าพูดมากกว่า เปิดความคิดมากกว่าทำให้คนอื่นตอบสนองความต้องการได้ตรงตามที่ต้องการ
วิธีที่แม่ใช้จัดการในเคสนี้
“แม่จะทำอย่างไรดี?”
สิ่งแรกที่เลือกจัดการคือ การเจรจาต่อรอง…
“น้องซี พี่เซียนอยากกินข้าวผัดแบบหนู แบ่งให้พี่เขาครึ่งหนึ่งได้ไหม?”
“ไม่เอา หนูไม่อิ่ม”
“แต่หนูมีข้าวในกล่องอีกนะลูก”
“ไม่ได้”
“เอาอย่างนี้หนูแบ่งให้พี่เซียนก่อน แล้วคุณย่าจะผัดให้ใหม่นะจ้ะ (พูดด้วยน้ำเสียงอ่อนหวานสุดๆ)”
น้องซีจัดการตักแบ่งให้พี่เซียนแต่โดยดี
“เพราะอะไร?”
ถ้าลูกอยู่ในสภาวะไม่อยากแบ่งปันละก็ต้องใช้น้ำเย็นเข้าลูบ เริ่มจากน้ำเสียงอ่อนหวาน พูดบอกสถานะการณ์ให้เข้าใจ บอกเหตุผลและสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าลูกไม่ยอมแบ่งให้พี่เซียนกินพี่เซียนจะต้องปวดท้องหิวข้าว แล้วก็จะเสียในมากด้วย เมื่อเขาเข้าใจและเห็นผลที่จะตามและเขาก็ได้รับในสิ่งที่เขาต้องการ win-win กันทั้งสองฝ่าย การเจรจาก็จะจบลงได้ไม่ยากนัก
เทคนิคที่พ่อแม่ใช้ เพื่อไม่ให้พี่อิจฉาน้อง
“ถ้าลูกอิจฉากันจะทำอย่างไร?”
บ่อยครั้งที่พ่อแม่ต้องประสบกับปัญหาการอิจฉากัน จนถึงการแย่งของกันของลูก ทั้งๆ ที่พ่อแม่คิดว่า ก็ให้เท่าๆ กันแล้ว เช่น ไก่ซื้อเลโก้ให้คนละ 1 กล่อง ตอนพาไปซื้อก็ต้องให้ลูกแต่ละคนเป็นคนเลือกด้วยตัวเอง เอาตัวที่ลูกคิดว่าลูกชอบที่สุด แต่พอกลับมาบ้าน ก็มีความวุ่นวาย คนน้องอยากได้แบบของพี่บ้างละ พี่ก็ไม่ยอมให้เพราะว่าเขาเป็นคนเลือกของเขามาเอง ทำไมน้องไมเล่นของน้องล่ะ หรืออีกเหตุการณ์นึง เราไปซื้อกาแฟ แล้วน้องซีก็จะเข้ามาบอกว่าอยากกินน้ำด้วย เราก็เห็นว่าแก้วใหญ่ ซื้อสำหรับลูก 1 แก้วแล้วให้เขาแบ่งกันก็คงได้ ความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น น้องเซียนเกิดน้อยใจ อิจฉาน้องขึ้นมาอีกแน่ะ หาว่าแม่รักแต่น้อง น้องขออะไรก็ให้ แม่ลำเอียง เป็นอย่างนั้นไปอีก
ความอิจฉาเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางครั้งเรามองว่าไม่เป็นไรแต่ลูกอาจจะคิดก็ได้ วิธีรับมือที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ทั้งหลาย
ตั้งสติ ปรับมุมมองความคิด
ตัวเราเองต้องมีสติก่อนอย่าไปมีอารมณ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วมองหาทางที่จะปรับมุมมองของลูกให้มีความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
พาลูกออกจากสถานะการณ์เดิมๆ
อาจจะรอให้ลูกอารมณ์เย็นลงซะก่อน พาออกไปเดินเล่น ไปกินขนม ปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างนั้นก่อน ไหนๆก็ไหนๆแล้ว พักเรื่องเดิมไว้ แล้วไปเริ่มเรื่องสนุกๆ อันใหม่ซะ
ให้ความคิดบวก เพิ่มพลังงานบวก
เป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูก หลังจากเหตุการณ์คลี่คลาย ลองพูดคุย และรับฟังความคิดเห็นของเขา และเมื่อมีจังหวะก็เสริมความคิดที่ถูกต้องเหมาะสมให้เขา ไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก แค่เราอยากให้เขามีความสุข
ให้รางวัลเมื่อเขาคิดในมุมที่ถูกต้อง
เมื่อเขามีพฤติกรรมที่ไปในแนวทางที่ดีที่เหมาะสม อาจจะมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้สนุกไปด้วยกัน เช่น ไปกินไอติมกัน หรืออาจจะให้ของเล่นเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาอยากได้
“เพราะอะไร?”
ไก่เชื่อว่าลูกของเราพร้อมที่จะเป็นคนดี เขาเพียงแค่อยากให้พ่อแม่รักและเข้าใจ แต่ในความรักความเข้าใจนั้นเขาอยากให้รักเขาคนเดียว อยากครอบครองมันไว้คนเดียว นี่แหละการมีพี่น้องจึงทำให้เขาต้องเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน เพราะเขาไม่ได้อยู่พียงลำพังบนโลกใบนี้ เขาต้องเรียนรู้ที่จะแบ่งปันจากคนใกล้ตัวก่อน แล้วในอนาคตต่อไปเขาก็จะรู้ว่าโลกนี้มันจะน่าอยู่นะ “ถ้าทุกคนรู้จักการให้ และแบ่งปันความรักให้กัน”
การดูแลให้ลูกมีความแข็งแรงทั้งกายและใจ เราเชื่อว่าเราสร้างได้ด้วยความรักความเข้าใจ วันนี้อาจจะยังไม่เห็นผล แต่สักวันหนึ่งสิ่งที่เราปลูกฝังมันจะต้องผลิดอกออกผลแน่นอน เพราะต้นมะม่วงไม่ได้โตภายในวันเดียว