หลายคนเคยได้ยินคำว่า “หน้า 7 หลัง 7” กันบ้างไหมคะ? สมัยก่อนเนี่ย เรื่องนี้มักไม่ค่อยได้สอนกัน ก็ตามสไตล์ไทยแลนด์อนลี่นั่นแหละค่ะ มองว่าเพศศึกษาเป็นเรื่องหน้าอาย ทำให้ความรู้ในเรื่องพวกนี้ถ้าเป็นคนรุ่นก่อนๆ ก็จะไม่รู้ว่าคืออะไร หรือบางคนที่รู้แต่ก็ยังนับไม่ถูก ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงก็มีค่ะ
เมื่อพูดถึงการคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติ การนับระยะปลอดภัยก็เป็นวิธีหนึ่ง คำว่า “หน้า 7 หลัง 7” ก็หมายถึง ช่วงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ภายใน 7 วันก่อนมีประจำเดือน และวันที่ประจำเดือนมาตั้งแต่วันที่ 1 จนกระทั่งถึง วันที่ 7 เพราะปกติแล้วในแต่ละรอบเดือนของผู้หญิงเรานั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในมดลูก โดยหลักสากล เราจะนับวันที่มีประจำเดือนวันแรก เป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน ซึ่งเลือดประจำเดือนก็คือเยื่อบุมดลูกที่มีไว้สำหรับรองรับตัวอ่อนที่มีการฝังตัวในมดลูก นั่นจึงเป็นสาเหตุให้หญิงตั้งครรภ์ไม่มีประจำเดือน ก็เพราะเยื่อบุมดลูกไม่หลุดออกมานี่เอง หลังจากนั้นรังไข่ก็จะใช้เวลาในการสร้างไข่ขึ้นมา (ขออนุญาตใช้คำศัพท์ง่ายๆ เพื่อให้คุณผู้อ่านนึกภาพออกนะคะ) โดยประมาณ 14 วัน ไข่ก็จะตกออกมารอพร้อมที่จะปฏิสนธิ ถ้าหากมีเพศสัมพันธ์หลังวันที่ 7 ของรอบเดือนไป ก็มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ค่ะ ดังนั้นจะว่าไปแล้ว ในแต่ละเดือนที่ผู้หญิงเราจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้นั้น มีแค่เพียงไม่กี่วันในรอบเดือนเองค่ะ เพราะถ้ามีเพศสัมพันธ์ก่อนที่ไข่จะตกออกมา หรือว่าเลยช่วงที่ไข่ตกไปแล้ว ก็ยากที่จะตรวจปัสสาวะขึ้นสองขีดเลยค่ะ
แต่ก็ใช่ว่าจะใช้วิธีนี้คุมกำเนิดได้เป๊ะทุกคนนะคะ ยิ่งถ้ากับคนที่ประจำเดือนมาไม่ตรง หรือรอบเดือนยาวกว่า 28 วันขึ้นไปเนี่ย ควบคุมได้ยากมากค่ะ จะเห็นได้ว่าถ้ารอบเดือนไม่ตรงแล้ว ไม่ว่าจะคุมกำเนิดเอง หรือจะพยายามอยากมีลูกให้ได้ดั่งใจนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เลยนะจ๊ะ และสิ่งที่ควบคุมรอบเดือนอีกทีก็คือ ฮอร์โมนในสมองของเรานั่นเอง โดยมีฮอร์โมนหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือน
ดังนี้
FSH (Follicle Stimulating Hormone)
เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมอง มีหน้าที่กระตุ้นการสร้าง Follicle ซึ่งเป็นเซลล์เริ่มต้นในการสร้างไข่จนกระทั่งไข่สุก หากใครมีฮอร์โมนชนิดนี้น้อยก็อาจมีผลทำให้มีลูกยากได้
LH (Luteinizing Hormone)
เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าเช่นกัน จริงๆ แล้วทั้งฮอร์โมนนี้และฮอร์โมน FSH มีทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ซึ่ง LH ในผู้ชายจะกระตุ้นที่บริเวณอัณฑะ ส่วนเพศหญิงจะพบฮอร์โมนนี้ได้สูงเมื่อใกล้ถึงระยะที่ไข่ใกล้ตก ที่เรียกว่า LHsurge ซึ่งปัจจุบันเราสามารถตรวจได้ทางปัสสาวะ ควบคู่ไปกับการวัดอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น โดยควรใช้เป็นเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิตอลที่มีหลักทศนิยม จะอ่านค่าความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า
Estrogen
คือฮอร์โมนหลักของเพศหญิงเรา เมื่อขณะมีประจำเดือน ฮอร์โมนตัวนี้จะต่ำลง รวมถึงวัยทองที่ขาดฮอร์โมนตัวนี้ไป จึงมีผลทำให้หงุดหงิด ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง เป็นต้น
Progesterone
เป็นฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งในเพศหญิง ที่ช่วยสร้างรังไข่ หลังจากที่มีการตกไข่ ก็คือเป็นฮอร์โมนที่ช่วยเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ เพราะช่วยให้มีการสร้างเยื่อบุมดลูกสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน แต่ถ้าไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ ฮอร์โมนตัวนี้ก็จะต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เยื่อบุมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน รวมถึงคนที่มีภาวะฮอร์โมนไม่ปกติ หากเป็นที่ตัวนี้ก็จะมีผลทำให้ประจำเดือนมาช้า ซึ่งหลักการนี้ทำให้นำมาสร้างยาเม็ดเลื่อนประจำเดือนนั่นเอง
ยกตัวอย่างการนับระยะปลอดภัยหน้า 7 หลัง 7 ก็คือ นางสาวเอ มีรอบเดือนปกติ 28 วัน และประจำเดือนจะมาทุกวันที่ 14 ของเดือน ดังนั้นวันที่มีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัยก็คือ 7-20 ของเดือนนั้นๆ แต่ถ้าต้องการบันทึกเพื่อจะดูวันที่ไข่ตก จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 14 ของเดือน เป็นวันแรกของการมีเมนส์นั่นเอง อย่าสบสนนะคะ