“เครียด กดดัน คิดอยากตาย”
วลีข้างต้นนี้โน้ตอยากให้คุณพ่อคุณแม่ลองเดากันดูค่ะว่าเป็นอาการของโรคอะไร?
คิดว่าคุณพ่อคุณแม่คงทายกันได้ ใช่แล้วค่ะ “โรคซึมเศร้าในเด็ก” แต่เอ๊ะ…เด็ก 8 ขวบนี่นะจะเป็นโรคซึมเศร้า? มันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วค่ะ วันนี้โน้ตจึงขอหยิบยกเรื่องนี้มาพูดกันซักนิดนะคะ เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวของคุณพ่อคุณแม่มากจริงๆ
สารบัญ
เรื่องราวความเป็นมา
หญิงสาวชาวใต้วัยกลางคนคนหนึ่งได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตนเองที่เรียกได้ว่า “ถ้าไม่เจอกับตัวเอง ไม่มีทางรู้” เมื่อลูกสาววัย 8 ขวบ เดิมเป็นเด็กที่ร่าเริง สดใส ต่อมากลายคนชอบเก็บตัว ไม่ค่อยพูดกับใคร จนกระทั่งมารูอีกทีว่าลูกสาวเป็น “โรคซึมเศร้า”
กับการพาลูกไปหาหมอครั้งแรก บันทึกของหมอระบุไว้ว่า
“พาลูกไปหาหมอครั้งแรกเมื่อ 31 พ.ค. หลังหมอคุยกับลูกก็บอกว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า ตอนแรกไม่เชื่อ เพราะเข้าใจว่าโรคนี้เป็นแต่กับผู้ใหญ่ หมอเห็นท่าทางไม่เชื่อเลยบอกอีกว่า ลูกบอกไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้ว คิดจะตายแล้ว แม่จึงเชื่อหมอสนิทใจ และรู้สึกช็อกเหมือนกัน หมอบอกตอนนี้ลูกเหมือนเดินอยู่บนเส้นด้าย มีโอกาสพลัดตก ร่วงหล่นได้ทุกเวลา”
ปฐมเหตุจากพ่อแม่
โดยปกติแล้วเกณฑ์การเข้าเรียนของเด็ก ป.1 มีอายุราวๆ 7 ขวบ แต่ลูกสาวเข้าเรียนชั้น ป.1 เมื่ออายุเพียง 5 ขวบปลายๆ เท่านั้น ทำให้ลูกสาวรู้สึกเครียด กดดัน เพราะต้องรับวิชาการมากไป และเข้ากับเพื่อนๆ ไม่ค่อยได้ เพราะมีอายุห่างกันถึง 2 ปี
คุณแม่กล่าวด้วยน้ำเสียงสลดว่า
“ตอนหมอบอกว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า แม่ได้ยินร้องไห้ไม่อายหมอเลย ไม่คิดว่าการที่น้องเก็บกดจากการเรียน การที่อายุต่างจากเพื่อนจะมีผลขนาดนี้ รู้ว่าพ่อแม่หวังดีกับลูก แต่สุดท้ายความหวังดีอาจทำร้ายลูกไม่รู้ตัว เด็กบางคนรับได้ แต่เด็กบางคนอาจจะรับไม่ได้ อยู่ที่หลายๆ อย่างด้วย บางคนจำใจรับ ไม่ต้องการแต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอก พ่อแม่บางคนคิดว่าไม่เกี่ยว แต่พอเจอกับตัวเองก็เพิ่งมาเข้าใจเหมือนกัน”
ตอนที่น้องเรียนชั้นอนุบาลนั้น การเรียนยังดีอยู่ไม่มีปัญหาอะไร เรียนได้เกรด 4 ทุกวิชา พอย้ายโรงเรียนมาชั้น ป.1 ยังดีอยู่ แต่พอขึ้นชั้น ป.2 น้องเริ่มเงียบไม่ค่อยพูดค่อยจา ชวนไปไหนก็ไม่ไป ไม่อยากเจอเพื่อน ไม่อยากเข้าสังคม เรียกได้ว่าเริ่มมีอาการ
พอขึ้นชั้น ป.3 ลูกสาวเริ่มมีอาการหนักขึ้น บอกว่า “ไม่อยากไปโรงเรียน” พอใกล้ถึงโรงเรียนเริ่มมีอาการจิกเข็มขัดนิรภัย ไม่ยอมลงจากรถ ครูถามอะไรก็ไม่ตอบ เหม่อลอย ซึ่งมาทราบจากคุณหมอว่านี่คือ เป็นช่วงที่กำลังใช้ความคิด
“ความหวังดี” ของคุณพ่อคุณแม่ครั้งนี้ นับว่าเป็นอาวุธที่ทำร้ายลูกโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่รู้ตัวจริงๆ ซึ่งสาเหตุของโรคซึมเศร้าในเด็กนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือ “การส่งลูกเข้าเรียนก่อนเกณฑ์”
ลูกเรียนก่อนเกณฑ์ จนเป็นเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้าในเด็กจะสังเกตอาการได้อย่างไร?
- เริ่มที่จะไม่พูดไม่จากับใคร
- เบื่อหน่ายสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น
- บางรายอาจมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย
- แม้ได้ทำกิจกรรมที่ชอบก็ไม่มีความสนุก
- ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดลง แต่บางรายก็ทานอาหารมากกว่าเดิม
- นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรืออาจตื่นเร็วกว่าปกติแต่ในขณะที่บางรายก็นอนทั้งวัน
- เฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง
- ไม่มีสมาธิในการเรียน ความจำแย่ลง
- รู้สึกว่าตัวเองผิดมักโทษตัวเอง
- รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
- อยากตาย
สาเหตุทั่วไปโรคซึมเศร้าในเด็ก
มีหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้
- กรรมพันธุ์
- ยาบางชนิด
- ปัญหาในครอบครัว
- ผลการเรียนตกต่ำ
- เข้าเรียนก่อนเกณฑ์
- การเลือกคบเพื่อน
- ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเสมอๆ
- กลัวกับบุคคลรอบข้าง
- เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง
- กลัวการแข่งขัน เป็นต้น
วิธีรับมือกับโรคซึมเศร้าในเด็ก
- พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์
- หมั่นสังเกตพฤติกรรม ถามสารทุกข์สุกดิบ หรือมีปัญหาอะไรที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยแก้ไขได้ในเบื้องต้น
- หากิจกรรมใหม่ๆ ทำกับลูก สร้างบรรยากาศใหม่ๆ
- เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าเรื่องต่างๆ คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้รับฟังที่ดีไปก่อน
- คอยสำรวจพฤติกรรมหรือขอความช่วยเหลือจากคุณครูในการสอดส่องพฤติกรรมลูก และแก้ไขปัญหาร่วมกัน
- หากอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำปรึกษาคุณหมอโดยด่วน
เพราะความรัก ความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม รักมากไป หวังดีมากไปก็เป็นอันตรายกับลูกโดยที่เราเองอาจไม่รู้ตัว ตั้งสติ รักแต่พอดีนะคะ เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวคะ
อ้างอิง thairath.co.th