ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนรวมไปถึงวิธีการสอนได้มีการปรับตัวไปตามยุคสมัย เพื่อรองรับการเติบโตของสังคมและเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด แล้วคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราจะไม่ปรับตัวตามก็คงไม่ได้ เพราะมิเช่นนั้น คุณ…จะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง (คุ้นๆ มั้ยคะ^^)
ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของ “โรงเรียนทางเลือก” ซึ่งมีการเรียนการสอนในหลายรูปแบบ เอาล่ะค่ะ ทีนี้มาถึงช่วงงงๆ กันแล้วว่าโรงเรียนทางเลือกคืออะไร? แล้วการสอนที่ว่าหลายรูปแบบนั้นเป็นอย่างไร? วันนี้โน้ตรวบรวมมาไว้ให้แล้วค่ะ ไปดูกัน
โรงเรียนทางเลือกคืออะไร?
ปัจจุบันเริ่มมีโรงเรียนทางเลือกเกิดขึ้นมากมายและเริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น เพราะมีหลักสูตรและวิธีการสอนที่ต่างจากโรงเรียนตามกระแสหลักทั่วไป แต่โรงเรียนเหล่านี้ยังอยู่ในกฎหมายรองรับและมีการจัดการศึกษาที่อิงกับระบบของกระทรวงศึกษาธิการอยู่ค่ะ
โรงเรียนทางเลือกเป็นโรงเรียนที่มีระบบการศึกษาแบบเปิดให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าทั้งในด้านของหลักสูตร การเรียน การสอน รวมไปถึงด้านของการประเมินผล โดยไม่ได้ยึดตามแนวทางเดิมคือ ท่องจำ ไม่ได้เน้นเรื่องการอ่าน การเขียนอย่างเดียว กลับกัน…จะเน้นการพัฒนาทักษะของเด็กในด้านต่างๆ ให้เติบโตและเหมาะสมตามวัย เน้นส่งเสริมความสามารถเฉพาะตัวของเด็ก เน้นการสอนเจาะจง ใกล้ชิดเป็นกลุ่ม เพื่อให้เด็กมีความกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้
คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบแล้วว่าโรงเรียนทางเลือกคืออะไร? ต่อไปโน้ตจะพูดถึงเรื่องแนวทางการสอนกันบ้างนะคะ ซึ่งมีหลายรูปแบบเลยทีเดียว จะมีอะไรบ้าง? แล้วแต่ละรูปแบบมีรายละเอียดเป็นอย่างไร? ไปไล่เรียงกันเลยค่ะ
รูปแบบการสอนของโรงเรียนทางเลือก
แนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ(Waldorf Method)
สำหรับแนวการสอนนี้ขะมีความเชื่อว่าการเรียนรู้ของคนต้องเกิดจากความสมดุลของความคิด ความรู้สึก ซึ่งถ้าเด็กได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย เด็กจะเกิดการถ่ายทอดความคิดและการเรียนรู้ไปกับกิจกรรมที่ทำอยู่ เน้นไปในแนวทางธรรมชาติ หัวใจของการสอนแนวนี้ คือ การสร้างสมดุลของจิตมนุษย์ 3 ประการ คือ ความคิด ความรู้สึก และการกระทำ โดยไม่มีเทคโนโลยีภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง
แนวการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori Method)
เน้นในเรื่องการใช้อุปกรณ์ในการสอน ให้เด็กได้เรียนรู้จากการสัมผัสด้วยมือ และเลือกเล่นอุปกรณ์ตามที่ครูได้จัดไว้ให้ตามความสนใจของตนเอง ครูจะเป็นผู้ที่คอยกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจและสามารถค้นพบได้ด้วยตัวเองผ่านการสังเกต และเด็กจะต้องได้เรียนรู้วิชาพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การอ่าน การเขียน เลขคณิต สุขอนามัย และการเคลื่อนไหว เป็นต้น
แนวการสอนแบบวิถีพุทธ (หรือ พุทธธรรมประยุกต์)
แนวการสอนนี้จะเน้น “สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” การประเมินผลจะเน้นด้านคุณลักษณะนิสัย ศรัทธา ค่านิยม ที่ส่งเสริมให้เกิดความเจริญงอกงามตามลักษณะแห่งปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการ คือ
- สัปปุริสสังเสวะ หมายถึง การอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้
- สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง เอาใจใส่ศึกษา โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดี
- โยนิโสมนสิการ หมายถึง มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ พิจารณาเหตุผลที่ดีและถูกวิธี
- ธัมมานุธัมปฏิปัตติ หมายถึง ความสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ถูก
แนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์(Neo-Humanist Education)
เป็นการนำศาสตร์ของตะวันออกและตะวันตกมาผสมกัน เช่น ให้เด็กฝึกสมาธิ และฝึกทำโยคะ พร้อมกับใช้เสียงเพลงเข้าร่วมในการสอนด้วย
แนวการสอนแบบเรกจิโอเอมิเลีย (Reggio Emilia)
แนวการสอนนี้เชื่อว่าเด็กสามารถสร้างทฤษฎี ความเชื่อ และความเข้าใจในสิ่งที่เด็กสนใจได้ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เพราะครูจะให้เด็กๆ ได้ค้นคว้าหาข้อมูล หาคำตอบเองจากความเชื่อของเด็กๆ
แนวการสอนแบบพหุปัญญา (Multiple Intelligence)
แนวคิดนี้ถูกคิดค้นและพัฒนาโดย ศาสตราจารย์ โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ที่เชื่อว่าปดกติแล้วมนุษย์ทุกคนมีปัญญา และมีในหลายด้านด้วยกัน แต่จะมีความโดดเด่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน มีด้วยกัน 9 ด้าน ดังนี้
- ปัญญาด้านภาษา
- ปัญญาด้านตรรกะ และคณิตศาสตร์
- ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์
- ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย
- ปัญญาด้านดนตรี
- ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ หรือการรู้ผู้อื่น
- ปัญญาด้านการรู้ตนเอง
- ปัญญาด้านการรู้ธรรมชาติ
- ปัญญาด้านการรู้ใคร่ครวญ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ การเรียนการสอนในปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปเยอะค่ะ การที่คุณพ่อคุณแม่ได้ศึกษาข้อมูลของแต่ละโรงเรียนก่อนพาลูกเข้ารับการศึกษานับว่าเป็นสิ่งที่ดีนะคะ เพราะจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจว่าโรงเรียนนั้นๆ มีหลักสูตร หรือมีแนวทางการสอนตรงกับความต้องการของเราหรือเปล่า?
อ้างอิง www.edtechbook.com