เพราะคำว่า “อุบัติเหตุ” เกิดขึ้นได้เพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น และล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดทั้งสิ้น ซึ่งในเรื่องของการเดินทางให้ปลอดภัยแล้ว การคาดเข็มขัดนิรภัยเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกน้อยที่อยู่ตั้งแต่ในวัยทารก การนั่งคาร์ซีทนับเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด
สารบัญ
คาร์ซีท (Car Seat) คือ อะไร?
คาร์ซีท คือ เบาะนั่งที่ทำหน้าที่เหมือนเข็มขัดนิรภัย ซึ่งใช้วิธีการผูกรัดให้ติดกับเบาะที่นั่งของเด็ก (Child Restraint System : CRS) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ป้องกันไม่ให้ลูกกระเด็นออกจากเบาะหรือตัวรถ หากเกิดอุบัติเหตุ ที่ไม่ว่าจะเกิดจากการเบรกอย่างกะทันหัน หรือเกิดจากรถยนต์ชนกัน เรียกได้ว่าคาร์ซีทนี้จะช่วยลดความรุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุนั่นเอง ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีราชกิจจฯ ฉบับใหม่เกี่ยวกับการบังคับใช้คาร์ซีทออกมาแล้วเช่นกัน
ราชกิจจาฯ ประกาศเกี่ยวกับการใช้คาร์ซีท
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ว่าประกาศฉบับนี้จะมีผลให้บังคับใช้หลัง 120 วัน ไปแล้ว โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับคาร์ซีทที่เราคัดมาไว้ ดังนี้
- คนโดยสารที่เป็นเด็ก อายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือให้นั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก เพื่อป้องกันอันตราย หรือควรมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
- คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือควรมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
**หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีโทษระวางปรับ 2,000 บาท**
เทคนิคฝึกลูกนั่งคาร์ซีท
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คนอาจจะกังวลใจว่าจะฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีทเมื่อไหร่ และอย่างไรดี วันนี้เรามีเทคนิคในการฝึกลูกมาแนะนำค่ะ
ฝึกตั้งแต่แรกเกิด
การให้ลูกได้นั่งคาร์ซีทตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาบเป็นเรื่องที่ดีที่สุดค่ะ แต่หากวันนี้ลูกเริ่มโตแล้ว ก็ยังสามารถฝึกเขาได้ ด้วยวิธีที่เรานำมาแนะนำกันในข้อต่อ ๆ ไปค่ะ
ฝึกจากการเดินทางระยะสั้นก่อน
เริ่มแรกของการฝึก ให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกให้ลูกนั่งคาร์ซีทในระยะทางที่ใกล้ ๆ ก่อน เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกเบื่อ หรือรู้สึกอึดอัด เมื่อลูกเริ่มคุ้นแล้ว ให้เพิ่มระยะทางในการเดินทางที่นานมากขึ้นทีละน้อย ๆ
อดทน และใจแข็ง
ที่ว่าอดทนนั้น คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนต่อเสียง (เรียก) ร้องของลุก อดทนต่อสายตาที่อ้อนวอนให้อุ้มหนูที และที่สำคัญ ต้องใจแข็งไม่อุ้มลูกมาไว้กับตัว เพราะจะเท่ากับว่าการฝึกในครั้งนั้นเป็นศูนย์ทันที
อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงอันตรายหากไม่คาด
หากใครที่มีลูกที่โตขึ้นมาสักหน่อย ที่สามารถสื่อสารกันได้รู้เรื่อง และเข้าใจ ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายถึงความรุนแรงหากเดินทางแบบไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่ยอมนั่งคาร์ซีท เพื่อให้ลูกมีภาพจำและเกิดความตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ให้ลูกไปเลือกคาร์ซีทเอง
อีกหนึ่งวิธีที่เป็นวิธีคลาสสิก คือ ให้พาลูกไปเลือกคาร์ซีทเอง ให้เขาเลือกลาย, สี หรือรูปแบบที่ลูกชอบ เพราะลูกจะเกิดความตื่นเต้น และอยากนั่งในสิ่งที่เขาเลือกเอง
ฝึกลูกตอนลูกอารมณ์ดี
การฝึกหรือการจะปลูกฝังอะไรให้กับลูกสักอย่าง ไม่ใช่ว่าจะฝึกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาดูอารมณ์ของลูกก่อนด้วยนะคะ ว่าเขามีสภาพอารมณ์หรือสภาพจิตใจที่พร้อมจะฝึกหรือไม่ เพราะหากฝึกในช่วงที่เขาอารมณ์ไม่ดี จะพาลให้ลูกเกิดความรู้สึกไม่ดีกับคาร์ซีทไปด้วย คราวนี้ความยากในการฝึกลูกให้นั่งคาร์ซีทจะยากขึ้นอีกหลายเท่าตัวทีเดียว
เพราะการเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ “ความปลอดภัย” เป็นเรื่องจำเป็นไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล สำหรับผู้ใหญ่ควรคาดเข็มขัดนิรภัยให้เรียบร้อยทั้งผู้ขับขี่, ผู้โดยสารที่นั่งข้าง ๆ และผู้โดยสารที่นั่งข้างหลัง ส่วนเด็ก ๆ ที่อายุไม่เกิน 6 ปี หรือมีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตรควรนั่งคาร์ซีท เพื่อความปลอดภัยนะคะ